พุทธรักษากินหัว เหง้าสดรสขม ช่วยแก้อาการปวดมวนท้อง
พุทธรักษากินหัว มีหัวใต้ดินที่นิยมนำมารับประทาน หรือใช้ประกอบในอาหาร

พุทธรักษากินหัว

พุทธรักษากินหัว (Australian arrowroot) มีหัวใต้ดินที่นิยมนำมารับประทานกันทั้งชาวม้ง ชาวเมี่ยนและชาวกะเหรี่ยงซึ่งจะนำมารับประทานหรือใช้ประกอบในอาหาร นอกจากนั้นยังมีเหง้าสดเป็นรูปทรงกระบอกซึ่งเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยประโยชน์ และยังเป็นยาสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบในตำรายาพื้นบ้านล้านนาอีกด้วย แต่เหง้าสดของพุทธรักษากินหัวนั้นมีรสขมมาก อาจจะรับประทานยากแต่เพื่อการรักษาถือว่าคุ้มค่ามากกว่า

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของพุทธรักษากินหัว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canna indica L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Australian arrowroot”
ชื่อท้องถิ่น : ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “หน้วยละ” ชาวม้งเรียกว่า “ก่อบลังเจ้ะ” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “ฝรังโห” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “สาคู”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พุทธรักษา (CANNACEAE)
ชื่อพ้อง : Canna edulis Ker Gawl.

ลักษณะของพุทธรักษากินหัว

พุทธรักษากินหัว เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุได้หลายปี
ลำต้น : ลำต้นบนดินมีลักษณะตั้งตรง ส่วนลำต้นที่อยู่ใต้ดินมีลักษณะเป็นเหง้าทอดแผ่และแตกแขนง มีปล้องสั้นเป็นรูปทรงกระบอก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ขอบใบเป็นสีม่วงเข้ม กาบใบมีแถบสีม่วงเข้ม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อโดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีหลายดอก กลีบดอกเป็นสีส้มแดง มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีลักษณะคล้ายกลีบดอกสีแดงสด
ผล : เป็นผลแห้งและแตกได้เป็น 3 พู
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ผิวเมล็ดมีความมัน

สรรพคุณของพุทธรักษากินหัว

ประโยชน์ของพุทธรักษากินหัว

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวม้งนำหัวใต้ดินมาต้มหรือนึ่ง ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่นำหัวมาต้มกับน้ำตาลทำเป็นของหวาน ชาวเมี่ยนนำหัวใต้ดินมานึ่งแล้วใช้ผสมกับแป้งทำขนมและจะช่วยทำให้แป้งไม่ติดใบตอง

พุทธรักษากินหัว มีส่วนของต้นที่สำคัญอยู่ที่เหง้าสดหรือหัวใต้ดิน เป็นอาหารของชาวม้ง ชาวเมี่ยนและชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่ เป็นไม้ล้มลุกที่มีดอกสีแดงชวนให้โดดเด่นอยู่เหมือนกัน เป็นส่วนประกอบในตำรายาพื้นบ้านล้านนา พุทธรักษากินหัวเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาจากส่วนของเหง้าสดซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดมวนท้องได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พุทธรักษากินหัว”. หน้า 58.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “พุทธรักษากินหัว, สาคู”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [08 พ.ย. 2014].