สร้อยอินทนิล
สร้อยอินทนิล เป็นเถาวัลย์ที่เขียวชอุ่มตลอดปี มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อสามัญ Clock vine, Blue Skyflower, Bengal clock vine, Heavenly Blue, Skyflower, Blue Trumpet [1],[5],[6] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Thunbergia grandiflora (Roxb. ex Rottl.) Roxb.[1],[2] อยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[5] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ปากกา, น้ำผึ้ง, ย่ำแย้, ช่องหูปากกา, คาย, ช่ออินทนิล [1]
ลักษณะสร้อยอินทนิล
- ต้น มีถิ่นกำเนิดที่ในพม่า ไทย อินเดียตอนเหนือ เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นได้ไกล 15-20 เมตร เถากลม เปลือกเถามีลักษณะเป็นสีน้ำตาล จะแตกเป็นร่องตื้น และลอกออกเป็นสะเก็ดบางเล็ก ต้นที่อายุยังน้อยเปลือกจะมีลักษณะเรียบและเป็นสีเขียวเข้ม ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง การปักชำเถาหรือหน่อ เพาะเมล็ด สามารถปลูกได้ในดินทั่วไป เติบโตเร็ว ชอบความชื้นปานกลาง แสงแดดแบบเต็มวัน[1],[3],[5],[6] สามารถพบขึ้นกระจายได้ตั้งแต่ที่ทางตอนเหนือของอินเดียไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปที่ตามที่โล่ง ชายป่า ป่าเบญจพรรณ ตามป่าดิบแล้ง ที่มีระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลไปถึง 1,200 เมตร ออกดอกและติดผลได้ตลอด[4]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามกัน ใบเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปไข่กว้าง ที่ปลายใบจะเรียวแหลม ส่วนที่โคนใบจะมนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเว้าเป็นแฉกตื้น 3-5 พู ใบกว้างประมาณ 10-13 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะค่อนข้างหนา ที่หลังใบด้านบนจะมีขนสากคายมือ ท้องใบด้านล่างจะเกลี้ยง มีก้านที่ใบยาว จะมีเส้นใบออกจากโคนใบประมาณ 3-5 เส้น แตกแขนงสานเป็นร่างแห ใบอ่อนมีลัษณะเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม ก้านใบมีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีขนปกคลุมที่สกระคายมือ[1],[2],[4]
- ดอก ลักษณะคล้ายกับดอกรางจืด ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอดหรือที่ปลายกิ่ง จะห้อยลง ดอกย่อยมีลักษณะเป็นสีม่วงแกมสีน้ำเงิน สีฟ้าอ่อนถึงเข้ม จะมีใบประดับหรือกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่อยู่ 2 ใบ มีลักษณะเป็นสีเขียว มีประจุดดำเล็ก เป็นรูปขอบขนานหรือรูปโล่ ที่ปลายจะมนแหลม กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และสามารถยาวได้ประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงจะร่วงเมื่อดอกบาน มีกลีบดอก 5 กลีบ จะมีขนาดไม่เท่า เป็นรูปขอบขนานหรือรูปโล่ ที่ปลายกลีบดอกจะมน ส่วนขอบกลีบดอกจะบิดย้วยและหยักนิดหน่อย กว้างประมาณ 2.7-3.2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดเป็นหลอดใหญ่ ที่ปลายบานออก มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 เซนติเมตร ที่โคนกลีบดอกด้านล่างมีลักษณะมีแต้มสีม่วงเข้ม ในหลอดเป็นสีเหลืองนวล มีเกสรเพศผู้ 4 อัน แบ่งเป็นขนาดสั้น 2 อัน ยาว 2 อัน มีเกสรเพศเมียอยู่ในหลอดดอก ดอกทยอยบานจากโคนช่อไปที่ปลายช่อ ออกดอกได้ตลอดปี[1],[3],[4]
- ผล เป็นผลแห้งสามารถแตกได้ ผลเป็นรูปทรงกลม ที่ปลายสอบแหลมเป็นจะงอยคล้ายกับปากของนก ผลมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนมีลักษณะเป็นสีเขียวอ่อน ผลแก่เป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ผลแก่แตกเป็น 2 ซีกจากปากจะงอย ทั่วไปต้นจะไม่ติดผลและเมล็ด[1],[4]
สรรพคุณของสร้อยอินทนิล
1. สามารถนำรากและเถามาใช้เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำบวม หรือนำมาใช้ตำพอกแผลแก้อักเสบได้ (รากและเถา)[4]
2. สามารถนำน้ำที่ได้จากการนำใบมาตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำมาใช้ทา พอก หรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูดได้ (ใบ)[1],[2]
3. ชาวเขาเผ่าอีก้อจะนำ ราก ใบ ทั้งต้นมาต้มกับน้ำ สามารถใช้ดื่มเป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ยาขับปัสสาวะได้ (ราก,ใบ,ทั้งต้น)[1],[2]
4. นำราก ใบ ทั้งต้น มาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาบำรุงร่างกายได้ (ราก,ใบ,ทั้งต้น)[1],[2]
5. สามารถใช้ใบเป็นยารักษากระดูกหัก อาการปวดกระดูกได้ (ใบ)[1],[2]
6. สามารถใช้ใบเป็นยารักษา แผลถลอก ช่วยห้ามเลือด แผลสดได้ (ใบ)[1],[2]
7. สามารถช่วยบรรเทาอาการบวมเป็นก้อน ติดเชื้อ อักเสบได้ (ใบ)[1],[2]
8. สามารถใช้ใบมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้องได้ (ใบ)[4]
ประโยชน์ของสร้อยอินทนิล
- นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกประดับซุ้มโปร่งเนื่องจากมองเห็นดอกห้อยลงมาดูสวยงาม หรือจะปลูกที่ริมทะเลก็ได้ ดอกมีความสวยงาม สามารถออกดอกได้ตลอด[4],[6]
สั่งซื้อ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ความเหมือนที่แตกต่างแห่งพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สร้อย อินทนิล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [08 มิ.ย. 2014].
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สร้อยอินทนิล”. หน้า 212.
3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สร้อย อินทนิล (Soi Intanin)”. หน้า 288.
4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “สร้อยอินทนิล” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [08 มิ.ย. 2014].
5. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. “สร้อย อินทนิล”.
6. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “สร้อย อินทนิล”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 176.
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flora-toskana.com/en/tropical-climbers/606-thunbergia-grandiflora-grossbluetige-himmelsblume.html
2.https://www.flickr.com/photos/42964440@N08/49500740448