เต็งหนาม
ไม้หนามแห่งป่าดิบ แก้อาการปวดหัวเข่า ลำต้นมีหนามยาวรอบต้น เนื้อไม้สีแดง ผลรูปไข่อ่อนสีเขียว สุแล้วเป็นสีดำอมม่วง

เต็งหนาม

เต็งหนาม หรือต้นฮัง เป็นพรรณไม้ที่พบได้ในป่าทั่วไปลักษณะลำต้นจะมีหนามยาวรอบต้น เนื้อไม้สีแดงสวยงามสรรพคุณเป็นสมุนไพรที่หายากชนิดหนึ่ง และไม้ฮังหนามเหมาะทำเครื่องมือทางการเกษตร เช่น ด้ามจอบ ด้ามเสียม ด้ามมีด ทำเสาบ้านเรือน คอกสัตว์เลี้ยง หรือทำถ่านฟืน ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bridelia retusa (L.) A.Juss. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bridelia spinosa (Roxb.) Willd., Clutia retusa L., Clutia spinosa Roxb.ในปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE) ชื่อเรียกอื่นว่า ต้นฮัง, เปาหนาม (ลำปาง), ฮังหนาม (นครพนม), รังโทน (นครราชสีมา), ว้อโบ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), จาลีลึกป๊วก (เขมร-สุรินทร์) เป็นต้น

ลักษณะของเต็งหนาม

  • ต้น เป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงถึง 20 เมตร เรือนยอดไม่แน่นอน เปลือกต้นอ่อน ผิวเรียบ มีสีเทาอ่อนหรือสีน้ำตาลเทา เมื่อต้นแก่เปลือกต้นจะเป็นสีน้ำตาลแก่ แตกเป็นร่องยาว และมีหนามแข็งขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณลำต้น พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และที่โล่งแจ้ง ทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ระดับความสูง 600-1,100 เมตร[1],[2]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมบางใบปลายจะมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบมีลักษณะเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ขนาดของใบที่ปลายกิ่งจะเล็กกว่าใบที่อยู่ถัดใบ ส่วนการเรียงตัวของใบจะเป็นในแนวระนาบ ยอดอ่อนมีขนสีเทา เมื่อใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นบนเส้นใบ ใบด้านล่างมีขนหรือเรียบเกลี้ยง มีเส้นใบข้างขนานกัน 16-24 คู่ เส้นใบข้างจรดเส้นใบที่ขอบใบ เนื้อใบมีลักษณะหนา ท้องใบมีขนนุ่มสีขาว ก่อนที่จะมีการทิ้งใบนั้น ใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลออกชมพู ก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร ไม่มีต่อม มีหูใบแหลมขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร ค่อนข้างร่วงได้ง่าย[1]
  • ดอก เป็นช่อเชิงลดแยกแขนงตามซอกใบ และมักออกดอกที่ปลายยอดกิ่งที่ใบหลุดร่วงเป็นส่วนใหญ่ ช่อดอกยาวเรียว ช่อแน่น มีดอกย่อยที่มีจำนวนมากประมาณ 8-15 ดอก ดอกมีขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศ กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายแตกออกเป็นซี่ ๆ กลีบดอกเป็นสีเขียวหรือสีเขียวแกมเหลือง อาจเจอที่มีผสมสีส้มหรือสีแดงบ้าง ก้านดอกมีลักษณะอ้วน ขนาดสั้นเพียง 2 มิลลิเมตร ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ แต่เกสรเพศเมียเป็นหมันเชื่อมเป็นแท่งตรงกลางดอก ขนาดประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ปลายแท่งแผ่ออกเป็น 5 อับเรณู ในส่วนดอกเพศเมียมีก้านชูเกสรเพียง 2 อัน ที่ตรงปลายแยก รังไข่มีขนาดเล็กกว่า 1.5 มิลลิเมตร มีส่วนของหมอนรองดอกเป็นรูปคนโทปิดไว้ กลีบเลี้ยงหนา มีลักษณะรูปสามเหลี่ยม มีขนาดประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1]
  • ผล สดฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ แข็งไม่แตกกระด้าง มีขนาดประมาณ 0.5-0.9 เซนติเมตร ผลตอนอ่อนจะเป็นสีเขียว ตอนเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีฟ้าอมม่วง เนื้อข้างในบาง เป็นผลเมล็ดเดียว รูปร่างค่อนข้างกลม มีสีน้ำตาลแดง ขนาดประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร จะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]

สรรพคุณของเต็งหนาม

1. ตำรายาของไทยจะใช้เปลือกของต้นต้มกับน้ำเป็นยาฝาดสมานอย่างแรง และใช้รากเข้ายาสมานท้อง แก้บิด แก้ท้องร่วง และสามารถใช้เป็นยาห้ามเลือดได้อีกด้วย (เปลือกต้น, ราก)[1],[3]
2. เป็นยาพื้นบ้านภาคอีสาน เขาจะนำเอาเปลือกต้นปิ้งไฟ แล้วแช่ในน้ำเกลือ ใช้ดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง (เปลือกต้น)[1]
3. ตำรายาอายุรเวทของทางประเทศอินเดียจะเอาใบต้มดื่มเป็นยารักษาบิด และใช้ใบเป็นยาในการรักษาโรคติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ (ใบ)[1]
4. น้ำต้มจากเปลือกใช้กินเป็นยาสลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (เปลือกต้น)[3]
5. เปลือกต้นใช้ต้มกินเป็นยาคุมกำเนิด (เปลือกต้น)[1]
6. เปลือกต้นใช้ตำผสมกับผักเสี้ยนผีทั้งต้น และหัวแห้วหมู ทำเป็นลูกประคบแก้ปวดหัวเข่า (เปลือกต้น)[1]
7. ในประเทศศรีลังกาจะใช้เปลือกต้นและรากเป็นยารักษาโรคข้อรูมาติซึม และใช้เป็นยาฝาดสมานแผล (เปลือกต้น, ราก)[1]
8. ยางจากเปลือกต้นนั้นนำมาผสมกับน้ำมันงา ใช้เป็นยาทาไว้นวดแก้อาการปวดข้อ (ยางจากเปลือกต้น)[1],[3]
9. ใบ ใช้ร่วมกับพืชอื่น ๆ ผสมเข้ากับน้ำมันละหุ่ง น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันขิง ใช้เป็นยาทารักษาแผล (ใบ)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. เปลือกต้น พบสารในกลุ่ม bisabolane sesquiterpenes ได้แก่ (E)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-1-hexenyl) benzoic acid, (E)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-1,4-hexadienyl) benzoic acid, (R)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-4-hexenyl) benzoic acid, (-)-isochaminic acid, (R)-4-(1,5-dimethyl-3-oxohexyl) benzoic acid (ar-todomatuic acid) และสารอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ 5-allyl-1,2,3-trimethoxybenzene (elemicin), (+)-sesamin and 4-isopropylbenzoic acid (cumic acid)[1]
2. สารสกัดแอลกอฮอล์จากเปลือกต้น มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ต้านเนื้องอก ไม่เป็นพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง[1]
3. สารไอโซฟลาโวนจากใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งแกรมลบและบวกได้หลากหลายชนิด[1]
4. สารสกัดเมทานอลจากใบ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคทางเดินปัสสาวะได้ ดังนี้ Staphylococcus aureus, Enterococcus faecalis, Enterobacter aerogenes, Acinetobacter baumannii และ Pseudomonas aeruginosa โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ฆ่าเชื้อได้ (MBC) เท่ากับ 1.51, 3.41, 3.41, 4.27 และ 9.63 mg/ml ตามลำดับ[1]
5. สารสกัดแอลกอฮอล์จากใบและต้น มีพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และสามารถต้านเชื้อไวรัสเอดส์ได้โดยการยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ในหลอดทดลอง[1]
6. สารสกัดจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ก่อโรคพืช (Cladosporium cladosporioides)[1]

ประโยชน์ของเต็งหนาม

1. ผลมีรสฝาด รับประทานได้ และเป็นอาหารนก[2],[3]
2. ใบเป็นอาหารสำหรับสัตว์[2]
3. เนื้อไม้มีสีแดงขุ่น สามารถนำมาใช้ในงานการก่อสร้างได้ ตัวอย่างเช่น การใช้ทำเสา รวมไปถึงเครื่องมือทางอุตสาหกรรม[2]
4. เปลือกต้นมีสารแทนนินที่ใช้ในทางเภสัชกรรม เพราะมีคุณสมบัติที่เป็นสารต่อต้านไวรัสบางชนิด[2]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เต็งหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [18 ก.ย. 2015].
2. พันธุ์ไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เต็งหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [18 ก.ย. 2015].
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “เต็งหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [18 ก.ย. 2015].
4. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เต็งหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [18 ก.ย. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/photos/dinesh_valke/49263774987
2.https://v3.boldsystems.org/index.php/Taxbrowser_Taxonpage?taxid=210512