ตูมกาขาว
เปลือกต้นสีเทาอมสีเหลือง ดอกสีเหลืองแกมสีเขียว เปลือกผลสีเขียวสาก เมื่อสุกเป็นสีส้มแดง

ตูมกาขาว

ตูมกาขาว เป็นไม้ป่าดงดิบแล้งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนโดยเฉพาะลำต้นชาวบ้านจะตัดมาทำเป็นที่อยู่อาศัย ท่อนฟืน หรือทำถ่านสำหรับใช้ในหุงต้มในครัวเรือน เพราะเนื้อไม้ให้พลังงานสูงรวมถึงยังใช้ในตำรายาไทยอีกด้วย มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Strychnos nux-blanda A.W. Hill จัดอยู่ในวงศ์กันเกรา (LOGANIACEAE หรือ STRYCHNACEAE)[1] นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ขี้กา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), มะติ่ง มะติ่งต้น มะติ่งหมาก (ภาคเหนือ), ตูมกาขาว (ภาคกลาง), มะตึ่ง (คนเมือง), อีโท่เหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กล้อวูแซ กล้ออึ กล๊ะอึ้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), มะปินป่า (ปะหล่อง), ปลูเวียต (เขมร), แสงเบื่อ, แสลงใจ, ตากาต้น, ตึ่ง, ตึ่งต้น เป็นต้น[1],[2]
หมายเหตุ : ต้นตูมกาชนิดนี้เป็นคนละชนิดกันกับ “ต้นตูมกาแดง” หรือที่ภาคกลางเรียกว่า “ต้นแสลงใจ” (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strychnos nux-vomica L.)

ลักษณะของตูมกาขาว

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ และมีการผลัดใบ ต้นมีความสูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกลำต้นจะเป็นสีเทาอมสีเหลือง ไม่มีช่องอากาศ และไม่มีมือจีบ ตามง่ามใบบางครั้งจะมีหนามขึ้น มักจะพบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าหญ้าที่ค่อนข้างแห้ง ส่วนในต่างประเทศจะสามารถพบได้ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย[1],[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ รูปรี รูปกว้างหรือรูปกลม ปลายใบมนหรือเรียวแหลม ปลายสุกมักมีติ่งแหลม โคนใบแหลม หรือกลม หรือเว้าเป็นรูปหัวใจเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร ผิวใบมันเรียบเป็นสีเขียวเข้ม มีเส้นใบตามยาวคมชัดประมาณ 3-5 เส้น เส้นกลางใบด้านบนแบนหรือเป็นร่องตื้นๆ ส่วนด้านล่างนูนเกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามเส้น ส่วนก้านใบยาวประมาณ 5-17 มิลลิเมตร[1]
  • ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบแบบกระจุกแยกแขนง โดยจะออกบริเวณยอดหรือตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยอยู่จำนวนมาก กลีบดอกจะเป็นสีเหลืองแกมสีเขียวถึงขาว ก้านดอกยาวไม่เกิน 2.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีอยู่ 5 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปไข่แคบถึงรูปใบหอก มีความยาวอยู่ประมาณ 1.5-2.2 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนหรืออาจจะเกลี้ยง ไม่มีขน ส่วนกลีบดอกเป็นสีเขียวถึงขาว มีความยาวอยู่ประมาณ 9.4-13.6 มิลลิเมตร โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก หลอดจะมีความยาวกว่าแฉกอยู่ 3 เท่า มีตุ่มขึ้นอยู่เล็กๆ ด้านใน บริเวณด้านล่างของหลอดมีขนแบบขนแกะอยู่ แฉกมีตุ่มขึ้นอยู่หนาแน่น ปลายแฉกจะหนา ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ไม่มีก้าน ติดกันอยู่ภายในหลอดดอก ส่วนอับเรณูเป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร เกลี้ยง ปลายมนหรือมีติ่งแหลม ส่วนเกสรเพศเมีย มีความยาวประมาณ 8-13 มิลลิเมตร เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม[1]
  • ผล เป็นผลสด มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร เปลือกผลมีความหนาและสาก ผลจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มถึงแดง และจะมีเมล็ดประมาณ 4-15 เมล็ด[1]
  • เมล็ด มีลักษณะกลมแบนคล้ายกระดุม มีความยาวประมาณ 1.5-2.2 เซนติเมตร และมีความหนาประมาณ 5-15 มิลลิเมตร ผิวของเมล็ดมีขนสีอมเหลือง ตำรายาไทยจะเรียกเมล็ดแก่แห้งว่า “โกฐกะกลิ้ง”[1]

สรรพคุณของตูมกาขาว

1. เมล็ด ใช้แก้หนองใน (เมล็ด)[1]
2. เมล็ด ช่วยแก้ไตพิการ (เมล็ด)[1]
3. เมล็ด ช่วยขับพยาธิ (เมล็ด)[1]
4. เมล็ด ช่วยขับปัสสาวะ (เมล็ด)[1]
5. เมล็ด ช่วยแก้โลหิตพิการ (เมล็ด)[1]
6. เมล็ด ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (เมล็ด)[1]
7. เมล็ด ช่วยแก้ลมคูถทวาร (เมล็ด)[1]
8. เมล็ด ช่วยบำรุงเพศของบุรุษ (เมล็ด)[1]
9. เมล็ด ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ (เมล็ด)[1]
10. เมล็ด เป็นยาแก้ไข้ ช่วยทำให้ตัวเย็น (เมล็ด)[1]
11. เมล็ด ใช้เป็นยาแก้โรคอันเกิดจากปากคอพิการ ช่วยกระตุ้นประสาทส่วนกลาง บำรุงประสาท หูตาจมูก (เมล็ด)[1]
12. เมล็ด ใช้เป็นยาแก้พิษงู พิษตะขาบ พิษแมงป่อง (เมล็ด)[1]
13. เมล็ด ช่วยแก้อัมพาต แก้เส้นตาย แก้เหน็บชา แก้เนื้อชา (เมล็ด)[1]
14. เมล็ด มีรสเมาเบื่อขมจัดมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (เมล็ด)[1]
15. เมล็ด ก็มีสรรพคุณแก้อาการปวดเมื่อย ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงหัวใจให้เต้นแรง (เมล็ด)[1]
16. เมล็ด ตำรายาไทยจะใช้เมล็ดแก่แห้ง (โกฐกะกลิ้ง) เป็นยาขมเจริญอาหาร แก้กระษัย ช่วยขับน้ำย่อย แก้อิดโรย (เมล็ด)[1]
17. เมล็ด ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารลำไส้ให้แข็งแรง ช่วยแก้ลมกระเพื่อมในท้อง แก้ลมพานไส้ ช่วยขับลมในลำไส้ (เมล็ด)[1]
18. ใบ ใช้ตำพอกแก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง (ใบ)[1]
19. ใบ มีรสเมาเบื่อ ใช้ตำพอกเป็นยาแก้ฟกบวม (ใบ)[1]
20. ใบ ใช้ตำพอกหรือคั้นเอาแต่น้ำทาแก้โรคผิวหนัง แก้ขี้กลาก (ใบ)[3],[4]
21. ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้พิษภายใน (ลำต้น)[1]
22. ต้น นำมาต้มกับน้ำหรือฝนทาแก้อาการปวดตามข้อ (ต้น)[1]
23. เปลือกต้น ก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจเช่นกัน (เปลือกต้น)[4]
24. ชาวกะเหรี่ยงแดงจะใช้เปลือกต้น นำมาเคี้ยวกินกับเกลือเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (เปลือกต้น)[2]
25. เปลือกต้น มีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาแก้พิษสัตว์กัดต่อย พิษงูกัด ฝนกับเหล้าปิดแผลและรับประทานแก้พิษงู (ใช้ได้กับทั้งคนและสัตว์) ส่วนในกรณีใช้แก้อาการอักเสบจากพิษงูกัด อาจจะใช้สมุนไพรก่อนแล้วจึงรีบนำส่งโรงพยาบาล (เปลือกต้น)[1],[3]
26. เนื้อไม้ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้พิษร้อน แก้ไข้เซื่องซึม (เนื้อไม้)[1],[2]
27. เนื้อไม้ มีสรรพคุณช่วยบำรุงประสาทเช่นเดียวกับเมล็ด (เนื้อไม้)[1],[2]
28. เนื้อไม้และเปลือกต้น ก็มีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหารเช่นเดียวกับเมล็ด (เปลือกต้น,เนื้อไม้)[1],[2],[4]
29. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย (แก่น)[1]
30. ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้แก่นของต้น เข้ายากับเครือกอฮอ ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เบาหวาน (แก่น)[1]
31. รากมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก)[1]
32. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ราก)[4]
33. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้รากผสมกับต้นกำแพงเจ็ดชั้น รากปอด่อน และรากชะมวง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย (ราก)[1]
34. ต้นหรือรากใช้ฝนกับน้ำทาแก้อักเสบจากงูกัด (ต้น,ราก)[1]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรตูมกาขาว

1. ห้ามประชาชนทั่วไปนำสมุนไพรชนิดนี้มาใช้เอง การนำมาใช้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ[1]
2. ทุกส่วนของต้นมีพิษ เป็นยาที่อันตรายมาก ก่อนนำมาใช้เป็นยาจะต้องทำการฆ่าพิษตามกรรมวิธีในหลักเภสัชกรรมไทยเสียก่อน[1]
3. เมล็ดมีพิษเมาเบื่อ อาจทำให้ตายได้ การนำมาใช้เป็นยาต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากรับประทานเข้าไปจะทำให้กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง ขาสั่น กลืนลำบาก ชักอย่างแรง ทำให้หัวใจเต้นแรง ขากรรไกรแข็งและตายได้ ส่วนในกรณีที่ไม่ตาย พบว่ามีไข้ ตัวชา หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมากติดต่อกันหลายวัน และกล้ามเนื้อเกร็ง ซึ่งในขนาด 60-90 มิลลิกรัม ก็ทำให้ตายได้[1]

ประโยชน์ของตูมกาขาว

1. เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ทำที่อยู่อาศัยได้
2. ต้น ใช้ผสมกับรำให้ม้ากินเป็นยาขับพยาธิตัวตืด[1]
3. ชาวบ้านจะใช้ไม้จากต้นเป็นฟืนและถ่าน เพราะเป็นไม้ที่ให้พลังงานสูงมาก[3]
4. ผลสุก ใช้รับประทานได้ (กินได้แต่เนื้อ ส่วนเมล็ดห้ามกินเพราะมีพิษมาก) (คนเมือง, ปะหล่อง, กะเหรี่ยงแดง)[2],[3]
5. เปลือกต้น ใช้ผสมกับผลปอพรานและเหง้าดองดึง นำมาคลุกให้สุนัขกินเป็นยาเบื่อ (การฆ่าสัตว์ถือเป็นบาป ไม่ควรทำครับ)[1]
6. ผล กาถูกนำมาใช้เป็นภาชนะใส่น้ำยางเพื่อจุดให้แสงสว่าง หรือที่เรียกว่าการจุด “ไฟตูมกา” โดยนำผลตูมกาขนาดเท่ากำปั้นหรือใหญ่กว่ามาขูดเอาผิวสีเขียวออกและคว้านเอาเนื้อและเมล็ดข้างในออกให้หมด จากนั้นใช้มีดแกะเป็นลายต่างๆ ตามความต้องการ หลังจากจุดเทียนที่สอดขึ้นไปจากรูที่เจาะไว้ส่วนล่าง แสงสว่างจากเปลวเทียนก็จะลอดออกเป็นลวดลายตามที่แกะเป็นลายไว้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

ทุกส่วนของต้นและเมล็ดตูมกาขาลมีสารอัลคาลอยด์ ส่วนเนื้อในผลสุกพบไกลโคไซด์ Laganin ที่ทำให้มีรสขม ส่วนเมล็ดมีสาร Strychnine และ Brucine โดยสาร Strychnine เป็นสารมีพิษ ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดความรู้สึกไวกว่าปกติ กลืนลำบาก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มีอาการชักกระตุก[1]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “แสลงใจ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [11 ก.ค. 2014].
2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ตูมกาขาว, มะติ่ง”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์), หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 13 : สมุนไพรแต่งสี กลิ่น รส (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [11 ก.ค. 2014].
3. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ตูมกา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [11 ก.ค. 2014].
4. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ตูมกาขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [11 ก.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://anthrome.wordpress.com/2011/10/15/loganiaceae-strychnos-spp-vietnam/
2.https://uk.inaturalist.org/taxa/498755-Strychnos-nux-vomica/browse_photos