เสม็ด น้ำมันเขียวเป็นยา รักษาโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคไขข้อ
เสม็ด หรือต้นเสม็ดขาว เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ใบอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหม ดอกย่อยเป็นสีขาวขนาดเล็ก

เสม็ด

เสม็ด (Cajuput tree) หรือต้นเสม็ดขาว เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ชมพู่ที่มีดอกเป็นสีขาวขนาดเล็ก มักจะพบริมชายทะเลจึงพบได้มากทางภาคใต้ของประเทศไทย ส่วนของใบสดเมื่อนำมากลั่นจะได้ “น้ำมันเขียว” ซึ่งเป็นยาสมุนไพรที่ยอดเยี่ยมชนิดหนึ่ง นอกจากนั้นยังนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายด้าน ส่วนของใบยังนำมาต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชาหรือนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย ซึ่งส่วนของใบต้นเสม็ดถือเป็นขุมทรัพย์ชั้นดีที่นำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าทึ่ง

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเสม็ด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melaleuca quinquenervia (Cav.) S.T.Blake หรือ Melaleuca cajuputi Powell
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cajuput tree” “Milk wood” “Paper bark tree” “Swamp tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคใต้เรียกว่า “เม็ด เหม็ด” ภาคตะวันออกเรียกว่า “เสม็ดขาว” ชาวมลายูปัตตานีเรียกว่า “กือแล”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)
ชื่อพ้อง : Melaleuca leucadendra var. minor (Sm.) Duthie

ลักษณะของต้นเสม็ด

เสม็ด เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัด ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคใต้ มักจะพบได้ทั่วไปตามชายทะเล ป่าชายหาดใกล้ทะเล ในที่ลุ่มมีน้ำขัง ตามขอบของป่าพรุที่ถูกไฟเผาผลาญทำลายจนโล่งเตียน
ลำต้น : มีเรือนยอดแคบเป็นพุ่มทรงสูง ลำต้นมักบิด เปลือกลำต้นเป็นสีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลเทา เปลือกเป็นแผ่นบางเรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่น ส่วนเปลือกชั้นในบางและเป็นสีน้ำตาลอ่อน ตามยอดอ่อน ใบอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหมขึ้นปกคลุมและกิ่งมักจะห้อยลง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือมนหรือเป็นรูปลิ้ม ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนาและกรอบ เป็นสีเขียวอมเทา มีเส้นใบหลักประมาณ 5 – 7 เส้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบหรือใกล้กับปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปช้อนแกมรูปไข่ เกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กสีขาวและมีจำนวนมาก ก้านเกสรเพศผู้ยาวพ้นกลีบดอกเป็นพู่ ก้านชูช่อดอกมีขนสีขาว มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : เป็นผลแห้งและแตกออกได้เป็นพู 3 พู ลักษณะของผลเป็นรูปถ้วย ปลายปิด ขนาดเล็กและแป้น ผลแก่เป็นสีน้ำตาลอมเทาถึงสีคล้ำ ผลแห้งแตกด้านบน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก

สรรพคุณของเสม็ด

  • สรรพคุณจากน้ำมันเขียวที่สกัดจากใบ ช่วยขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ เป็นยาดมเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด แก้ท้องอืด แก้ท้องขึ้น เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาหม่องแก้ปวดศีรษะ แก้ปวดหู อุดฟันเพื่อแก้ปวดฟัน ช่วยขับเหงื่อ ช่วยแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อในกระเพาะลำไส้ แก้ลมชัก เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ใช้ฆ่าเชื้อโรค ช่วยรักษาสิว เป็นยาทาแก้ปวดเมื่อย แก้บวม แก้เคล็ด รักษาโรคไขข้ออักเสบ รักษาโรคปวดข้อรูมาติสซั่ม
  • สรรพคุณจากใบและเปลือก
    – กลัดหนอง ช่วยดูดหนองให้แห้ง ฆ่าเหา ฆ่าหมัด ไล่ยุง ด้วยการนำใบและเปลือกตำรวมกันใช้เป็นยาพอกแผล
  • สรรพคุณจากใบสด
    – แก้เคล็ดขัดยอกฟกช้ำบวม ด้วยการนำใบสดตำแล้วพอก

ประโยชน์ของเสม็ด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชา ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบและยอดอ่อนนำมาทานเป็นผัก ดอกและยอดอ่อนมีรสเผ็ดใช้ทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกได้ ผลแห้งใช้ทำพริกไทยดำ
2. เป็นน้ำมันหอมระเหย ใบสดเฉพาะยอดอ่อนนำมาใช้กลั่นทำเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ ซึ่งจะมีกลิ่นคล้ายกับการบูร
3. เป็นส่วนประกอบของยา มีคุณสมบัติในทางยาคล้ายกับ Eucalyptus oil
4. ไล่แมลง น้ำมันเสม็ดใช้ไล่แมลงจำพวกยุง เห็บ หมัด เหา ปลวกและสัตว์ดูดเลือด ทำเป็นสเปรย์ไล่ยุง สเปรย์ฆ่าปลวก สเปรย์ป้องกันทาก ธูปกันยังแชมพูสุนัข
5. เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง น้ำมันเสม็ดสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดสิวได้ จึงเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ป้องกันสิวได้
6. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้มีความคงทนต่อสภาพที่เปียกชื้นและในน้ำเค็มได้ดี จึงนำมาใช้ทำเสาเข็ม สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำรั้ว ทำถ่าน ส่วนเปลือกต้นใช้มุงหลังคา ทำฝาบ้านชั่วคราว เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ชาวประมง ใช้ห่อก้อนไต้สำหรับใช้จุดไฟ
7. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า น้ำต้มจากใบเสม็ดที่ได้จากการกลั่นน้ำมันไปย้อมสีผ้าจะให้สีน้ำตาลอ่อนและช่วยทำให้ผ้าคงทนต่อการเข้าทำลายของแมลงที่กัดกินเนื้อผ้าได้ดี
8. ด้านการเกษตร ทุกปีในช่วงหน้าแล้งหากมีฝนตกจนป่าเสม็ดชุ่มชื้น และมีแสงแดดจัดประมาณ 4 – 5 วัน จะมี “เห็ดเสม็ด” งอกขึ้นมา เป็นเห็ดมีรสค่อนข้างขมแต่ถือเป็นเห็ดยอดนิยมของชาวใต้ ป่าเสม็ดยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งและนกน้ำ ในเวียดนามจะใช้ป่าเสม็ดเป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำที่เป็นกรดให้มีความเป็นกรดลดลงก่อนนำไปใช้ปลูกข้าว

ข้อควรระวังของเสม็ด

หากรับประทานมากเกินควรจะทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้

เสม็ด ถือเป็นไม้ต้นที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นไม้ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ มีน้ำมันหอมระเหยจากใบเป็นจุดเด่นซึ่งเรียกว่า “น้ำมันเขียว” หรือ “น้ำมันเสม็ด” เสม็ดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของน้ำมันเขียวที่สกัดจากใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ขับลม รักษาโรคผิวหนัง รักษาโรคไขข้ออักเสบและโรคปวดข้อรูมาติสซั่มได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เสม็ด (Samet)”. หน้า 307.
หนังสือพรรณไม้ป่าพรุ จังหวัดนาราธิวาสโครงการศูนย์การศึกษาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนาราธิวาส (งานป่าไม้). “เสม็ดขาว”.
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เสม็ดขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [14 มิ.ย. 2014].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เสม็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [14 มิ.ย. 2014].
มูลนิธิชัยพัฒนา. “โครงการจัดการป่าเสม็ดแบบครบวงจร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chaipat.or.th. [14 มิ.ย. 2014].
ส่วนพัฒนาวนศาสตร์ชุมชน สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้. “การใช้ประโยชน์จากเสม็ดขาว”. หน้า 4.
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). (อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว). “เสม็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [14 มิ.ย. 2014].
Thai Medicinal and Aromatic Plants. “เสม็ดขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: med-aromaticplant.blogspot.com. [14 มิ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/