โรคมะเร็งผิวหนัง (Skin Cancer)
มะเร็งที่ผิวหนัง เป็นโรคที่พบได้สูงในคนผิวขาวทั้งชายและหญิง พบบริเวณที่ถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน

มะเร็งผิวหนัง( Skin Cancer )

มะเร็งผิวหนัง ( Skin Cancer ) เป็นโรคมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นกับผิวหนังตรงส่วนไหนของร่างกายก็ได้ เช่น ใบหน้า หู จมูก ศีรษะและผิวบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น

ผิวหนัง ทำหน้าที่ในการปกคลุมภายนอกร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้อวัยวะภายในเป็นอันตรายและยังช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ได้อีกด้วย ซึ่งผิวหนังในที่นี้ก็หมายรวมถึงผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย เช่น หนังศีรษะ และผิวหนังที่ปกคลุมอวัยวะเพศ เป็นต้น

สาเหตุของมะเร็งผิวหนัง

1. การสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานานต่อเนื่อง โดยรังสี UVA และ UVB จะทำลายเซลล์ผิวก่อให้เกิดการกลายพันธุ์จนเป็นมะเร็งที่ผิวหนัง โดยเฉพาะการสัมผัสกับแสงแดดในช่วง 10.00 – 16.00 น. มีผิวบอบบางมาก ไวต่อแสงแดด จึงมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป
2. มีความผิดปกติของพันธุกรรมบางชนิด เช่น เซลล์ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดมากผิดปกติ จึงทำให้เกิดโรคมะเร็ง ผิวหนังได้ง่าย
3. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง
4. เชื้อชาติ โดยพบว่าคนเชื้อชาติตะวันตกจะมีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งที่ผิวหนังได้มากกว่าคนเชื้อชาติอื่นๆ เพราะมีเม็ดสีที่ผิวหนังน้อย ความสามารถในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากแสงอัลตราไวโอเลตจึงมีน้อยกว่าคนสีผิวคล้ำ
5. เป็นแผลและมีอาการคันที่ผิวหนังแบบเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่มักจะกลายพันธุ์เป็นมะเร็ง
6. การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิดอย่างต่อเนื่องที่ผิวหนัง จึงทำให้เซลล์ผิวเกิดการกลายพันธุ์เป็นมะเร็งในที่สุด
7. ผิวหนังได้รับรังสีเอกซเรย์ในปริมาณสูง ซึ่งรังสีชนิดนี้จะทำให้เซลล์เสียหายบาดเจ็บ และตาย
8. จุดบนผิวหนังดูคล้ายไฝที่มีลักษณะผิดปกติและมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกลายเป็นมะเร็งชนิดเมลาโนมา ( Melanoma ) ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่ามะเร็งผิว หนังชนิดอื่น

มะเร็งผิวหนัง เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งพบว่าในประเทศไทย มีสถิติตรวจพบโรคมะเร็งที่ผิวหนังใน 10 อันดับต้นๆ แต่ในเด็กจะไม่ค่อยพบมากนัก

อาการของมะเร็งผิวหนัง

มะเร็งที่ผิวหนัง ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่ไม่มีอาการบ่งชี้เฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายกับโรคผิวหนังทั่วไป โดยอาการที่มักจะพบกับผู้ป่วยมะเร็งที่ผิวหนังมากที่สุด ได้แก่ พบก้อนเนื้อผิดปกติบริเวณผิวหนัง ซึ่งอาจอยู่ใต้ผิวหนังหรืองอกออกมา แต่ยังไม่มีอาการเจ็บปวด มีแผลเรื้อรังบริเวณผิวหนัง และอาจลุกลามได้ง่าย โดยอาจมีอาการเจ็บแผลร่วมด้วยและไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีปกติ มีใฝหรือปานที่มีลักษณะผิดแปลกไปจากปกติ พบต่อมน้ำเหลืองโตจนคลำเจอได้ แต่ไม่มีอาการเจ็บ ซึ่งมักจะพบในระยะที่มะเร็งได้ลุกลามไปมากแล้ว

การวินิจฉัยและระยะของมะเร็งผิวหนัง

สำหรับการวินิจฉัยโรค มะเร็งที่ผิวหนัง แพทย์จะทำการตรวจร่างกายของผู้ป่วยพร้อมกับสอบถามประวัติอาการที่เกิดขึ้น รวมถึงการนำเอาชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อผลการตรวจที่ชัดเจนมากขึ้น

โรคมะเร็งที่ผิวหนังนั้นก็มีหลายชนิดด้วยกัน แต่ที่พบบ่อยที่สุดมี 3 ชนิด คือ

  • ชนิดสความัส ( Squamous Cell Carcinoma )
  • ชนิดเบซาล ( Basal Cell Carcinoma )
  • ชนิดเมลาโนมา ( Malignant Melanoma )

ระยะของมะเร็งผิวหนังที่ไม่ใช่ชนิดเมลาโนมา

มะเร็งที่ผิวหนังมีทั้งหมด 4 ระยะ เหมือนกับมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่การแบ่งระยะอาการของโรคต้องขึ้นอยู่กับชนิดที่พบด้วย คือ

ระยะที่ 1 : เป็นระยะเริ่มแรกของมะเร็ง โดยเซลล์มะเร็งจะมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตรและมีความรุนแรงต่ำที่สุด

ระยะที่ 2 : เป็นระยะที่มะเร็งยังคงมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร แต่มีความรุนแรงสูงขึ้นมากกว่าระยะแรก

ระยะที่ 3 : เป็นระยะที่มะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 3 เซนติเมตร และได้มีการลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียง โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลือง

ระยะที่ 4 : เป็นระยะที่รุนแรงที่สุด โดยต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงมีขนาดโตมากกว่า 6 เซนติเมตร และได้มีการลุกลามเข้าสู่อวัยวะต่างๆ เป็นจำนวนมากทั้งใกล้เคียงและที่อยู่ไกลออกไป นอกจากนี้ยังได้ลุกลามเข้าสู่กระดูกและมีการแพร่กระจายไปสู่กระแสเลือดแล้วอีกด้วย

ระยะของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา

ระยะที่ 1 : เป็นระยะที่โรคมะเร็งยังมีขนาดโตไม่เกิน 2 มิลลิเมตร

ระยะที่ 2 : เป็นระยะที่โรคมะเร็งยังมีขนาดโตไม่เกิน 2 มิลลิเมตร แต่เริ่มมีการแตกเป็นแผลออกมา ซึ่งมีความรุนแรงกว่าระยะแรก

ระยะที่ 3 : เป็นระยะที่โรคมะเร็งได้ลุกลามไปสู่อวัยวะใกล้เคียง โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลือง

ระยะที่ 4 : เป็นระยะที่โรคมะเร็งได้มีการลุกลามและแพร่กระจายในวงกว้าง โดยเฉพาะการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลจากต้นกำเนิดมะเร็ง

การรักษามะเร็งผิวหนัง

การรักษา มะเร็งที่ผิวหนังทำได้หลากหลายวิธี แต่วิธีหลักที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การรักษาด้วยรังสีรักษา การผ่าตัดและการทำเคมีบำบัด ส่วนการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้ายังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าวิธีนี้จะskin-cancerได้ผลลัพธ์ดีหรือไม่ อย่างไรก็ตามการจะเลือกรักษาด้วยวิธีไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับอายุ ชนิด ระยะของโรคและสุขภาพของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้หากเป็นระยะเริ่มแรก ก็จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูงถึงร้อยละ 80-90 เลยทีเดียว

ทั้งนี้ยกเว้นในกรณีที่เป็น มะเร็ง ผิวหนัง ชนิดเมลาโนมา เพราะมะเร็งชนิดนี้เป็นชนิดที่มีความรุนแรงสูงมาก จึงมีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ต่ำ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่กำลังป่วยเช่นกัน

และสำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่ผิวหนังในระยะเริ่มแรกยังไม่มีวิธีการตรวจที่มีประสิทธิภาพ จึงแนะนำให้หมั่นสังเกตอาการของตนเอง หากพบว่ามีไฝ ปานที่แตกเป็นแผลหรือมีขนาดใหญ่กว่าปกติ รวมถึงมีแผลเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นอาการของโรคมะเร็งที่ผิวหนังนั่นเอง และที่สำคัญยังไม่มีวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งก็สามารถป้องกันได้ด้วยการพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งที่ผิวหนัง โดยเฉพาะการปกป้องผิวจากการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง ด้วยการใส่เสื้อแขนยาว กางร่ม ใส่หมวก หรือการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป เพราะแสงแดดถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด มะเร็งท่ผิวหนัง ( Skin Cancer ) เลยทีเดียว

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์. รู้ก่อนเข้าใจการตรวจรักษามะเร็ง. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2557.

WHO (October 2010). Cancer. World Health Organization. Retrieved 5 January 2011.