สะแกแสง
ต้นสะแกแสง จะขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ หรือป่าเบญจพรรณแล้งและชื้นโดยทั่วไป เติบโตที่ระดับความสูงตั้งแต่ 50-300 เมตร วัดจากระดับน้ำทะเล พบได้ในประเทศไทย พม่า และแถบอินโดจีน[1],[2],[4],[5] ชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga latifolia (Hook.f. & Thomson) Finet & Gagnep. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Canangium latifolium (Hook.f. & Thomson) Pierre ex Ridl. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[3] ชื่ออื่น ๆ เนา (ภาคเหนือ), สะแกแสง (ภาคกลาง), เก้าโป้ง งุ้นสะบันนา งุ้น สะบานงา (จังหวัดเชียงใหม่), แคแสง (จังหวัดจันทบุรี), ราบ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี), แกนแซง (จังหวัดอุตรดิตถ์), เฝิง (จังหวัดเพชรบูรณ์), แตงแซง (จังหวัดขอนแก่น, ชัยภูมิ), ส้มกลีบ หำฮอก หำอาว (จังหวัดนครราชสีมา) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของต้นสะแกแสง
- ต้น
– เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบดินร่วนซุยที่มีความชื้นปานกลาง และเติบโตอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งได้เช่นกัน
– ต้นมีความสูงลำต้นมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 15-20 เมตร
– ต้น มีเรือนยอดโปร่ง ลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น
– ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เปลือกลำต้นมีผิวเรียบหรืออาจจะมีรอยแตกแบบรอยไถ เปลือกมีสีเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลอมเทา ส่วนด้านในเปลือกนั้นจะมีสีเป็นสีน้ำตาลอ่อนและมีกลิ่นที่เหม็นเขียว
– กิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนสีเทาขึ้นปกคลุม และตามกิ่งก้านจะมีรอยแผลของก้านใบที่ร่วงหลุดไปแล้ว ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
– ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด - ใบ
– ใบ มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงสลับกันไปตามข้อของลำต้น
– ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปมนหรือค่อนข้างกลม ปลายใบมนและมีติ่งแหลมสั้น ๆ ส่วนโคนใบเป็นมนหรือมีรอยหยัก หรือเว้าเป็นรูปหัวใจที่ไม่ค่อยสมมาตรกัน ส่วนขอบใบเรียบ
– แผ่นใบมีสีเป็นสีเขียว ส่วนหลังใบมีสีที่เข้มกว่าท้องใบ และมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย แต่บริเวณท้องใบจะมีขนปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่นกว่าบริเวณอื่น
– ใบมีเส้นกลางใบหลังใบเป็นร่องและท้องใบเป็นสัน ใบมีเส้นแขนงใบอยู่ประมาณ 8-12 คู่ ปลายเส้นไม่จรดกัน และจะผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง[1],[2],[4]
– ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 7-12 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 10-18 เซนติเมตร
– ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1 เซนติเมตร - ดอก
– ออกดอกในลักษณะที่เป็นดอกเดี่ยวหรือออกดอกเป็นช่อกระจุกที่บริเวณใต้โคนก้านใบ จะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[4],[5]
– ดอกมีลักษณะที่ห้อยลงมา ในหนึ่งช่อมีดอกอยู่ประมาณ 2-3 ดอก
– ดอก มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ ดอกอ่อนมีสีเป็นสีเขียว เมื่อดอกบานจะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวอมเหลือง ก้านดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2 เซนติเมตร
– ใบประดับมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปรี มีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 7 มิลลิเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.5 เซนติเมตร โดยจะติดอยู่ที่โคนก้านดอก
– กลีบดอกมีอยู่ 6 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปหอก และแบ่งแยกออกเป็นอีก 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ชั้นในกลีบดอกจะมีขนาดเล็กกว่ากลีบดอกด้านนอก โคนกลีบคอดเรียงกันเป็น 2 ชั้น แต่ละกลีบดอกจะมีขนาดเท่ากัน โดยมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.7 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 4-5 เซนติเมตร กลีบดอกมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่นทั้งสองด้าน
– กลีบเลี้ยงมีอยู่ด้วยกัน 3 กลีบ ลักษณะรูปร่างของกลีบเลี้ยงจะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดความกว้างและความยาวอยู่ที่ประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกจะมีลักษณะที่กระดกขึ้น
– ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเกสรเหล่านี้จะกระจุกตัวกันอยู่ที่กลางดอก - ผล
– ออกผลในลักษณะที่เป็นกลุ่ม ๆ ก้านช่อผลมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3 เซนติเมตร
– มีผลย่อยอยู่ที่ประมาณ 20-25 ผล ลักษณะรูปร่างของผลจะเป็นรูปกลมรี ผิวผลย่น
– ผลอ่อนมีสีเป็นสีเขียว แต่เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเป็นสีม่วงดำหรือสีดำ
– ผลจะเริ่มแก่ลงหลังจากที่ดอกบานได้เป็นเวลาประมาณ 4 เดือน[1],[2],[4],[5]
สัดส่วนของผล
– ผลมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 1-1.3 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 นิ้ว - เมล็ด
– มีเมล็ดเป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดมีรูปร่างเป็นทรงกลมแบนเรียงซ้อนกัน
สรรพคุณของต้นสะแกแสง
1. ทั้งต้นมาใช้ทำเป็นยาสำหรับแก้พิษไข้ (ทั้งต้น)[3]
2. ใบมีรสเบื่อเมา จะนำมาสุมกับไฟใช้รมฆ่าพยาธิผิวหนังเรื้อรัง (ใบ)[2]
3. ตำรายาของไทยจะนำใบมาสุมกับไฟจากนั้นเอาควันมาใช้รม มีฤทธิ์ในการรักษาบาดแผลเรื้อรัง (ใบ)[3]
4. เนื้อไม้และราก นำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับรับประทานแก้โรคผิวหนังผื่นคัน กลากเกลื้อน โรคเรื้อน หูด และโรคน้ำเหลืองเสีย (เนื้อไม้และราก, แก่น)[2],[3]
5. เนื้อไม้และราก นำมาขูดให้เป็นฝอย จากนั้นนำมามวนรวมกับใบยาสูบ ใช้สำหรับสูบแก้โรคริดสีดวงทางจมูกได้ (เนื้อไม้และราก, แก่นและราก)[2],[3]
6. เนื้อไม้และราก มีพิษเบื่อเมาอยู่ จึงมักจะนำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับแก้พิษทั้งปวง พิษกาฬต่าง ๆ และแก้พิษไข้เซื่องซึม (เนื้อไม้และราก)[1],[2]
ประโยชน์ของต้นสะแกแสง
1. ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปภายในบ้านเรือน หรือตามอาคารได้ โดยจุดเด่นของพรรณไม้ชนิดนี้ก็คือเป็นไม้ที่เติบโตได้เร็ว และดอกมีกลิ่นหอมเย็น[5]
2. เนื้อไม้ของต้นมีสีเป็นสีเทา มีเสี้ยนตรง เนื้อไม้มีความหยาบปานกลาง ไม้เลื่อยผ่าไสกบตกแต่งได้ง่าย โดยมักจะนิยมนำมาทำเป็นหีบ ของเล่นไว้สำหรับเด็ก ลังใส่ของ รองเท้าไม้ เสาเข็ม ใช้สำหรับประกอบการก่อสร้างชั่วคราว ที่อยู่อาศัย เป็นแม่แบบเทคอนกรีต ใช้ทำเป็นกระดานแม่แบบ เครื่องประดับ เครื่องจักสานและเครื่องใช้สอยต่าง ๆ เป็นต้น[4]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สะแกแสง”. หน้า 763-764.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “สะ แก แสง”. หน้า 179.
3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. “สะแกแสง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [17 ต.ค. 2014].
4. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สะ แก แสง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [17 ต.ค. 2014].
5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “สะ แก แสง”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [17 ต.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.http://www.epharmacognosy.com/