ต้นชิงชี่
ต้นชิงชี่ เป็นพืชขนาดเล็กพบได้ตามป่าดิบสมุนไพรพื้นบ้าน มักใช้ในชุมชนเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณยาแก้ไข้ สามารถช่วยกระทุ้งพิษ ถอนพิษได้รวมถึงนำรากมาต้มดื่มบำรุงหลังคลอดบุตรของสตรี แก้ไข้ กระทุ้งพิษ ถอนพิษได้เป็น
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของชิงชี่ คือ Capparis micracantha DC. อยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE) ชื่อชิงชี่ของท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ค้อนกลอง แส้ม้าทลาย พุงแก ซิซอ หมากหมก หนวดแมวแดง น้ำนอง ค้อนฆ้อง ชายชู้ กระดาดป่า[1] กระดาษป่า[2] กระดาดขาว ราม แสมซอ เม็งซอ จิงโจ้ พวงมาระดอ พญาจอมปลวก กระโรกใหญ่ กิรขี้[2] กินขี้[3] น้ำนองหวะ ซาสู่ต้น ชิงชี แซ่ม้าลาย ชินซี่ ปู่เจ้าสมิงกุย ชิงวี่ แซ่สู่ต้น [1],[2],[3]
ลักษณะ
- ต้น เป็นไม้พุ่มหรือกึ่งเลื้อย ชิงชี่เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-6 เมตร กิ่งก้านอ่อนจะมีสีเขียว กิ่งคดไปมา ผิวจะเรียบเกลี้ยง มีหนามยาว 2-4 มิลลิเมตร มีลักษณะตรงหรือโค้งนิดหน่อย ลำต้นมีสีเทา ผิวของเปลือกต้นจะเป็นกระสีขาว แตกระแหง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด ขึ้นได้ที่ตามสภาพดินที่แห้ง เขาหินปูนแห้งแล้ง ภูเขา หินปูนที่ใกล้ทะเล ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าโปร่งทั่วไป พบเจอได้ทุกภาคของประเทศไทย ที่มีความสูงจากน้ำทะเลต่ำกว่า 500 เมตร พบเจอในต่างประเทศได้ที่ฟิลิปปินส์ อันดามัน อินโดจีน ไฮหนาน พม่า อินเดีย จีน มาเลเซีย [1],[3],[4],[7]
- ใบ เป็นใบเดี่ยวจะออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปรี ที่ปลายใบจะมน แหลม หรือเว้านิดหน่อยและเป็นติ่ง ขอบใบจะมนหรือค่อนข้างเว้า ส่วนที่ขอบใบจะเรียบ เป็นคลื่นเล็กน้อย ใบกว้าง 3-15 เซนติเมตร ยาว 9.5-24 เซนติเมตร ที่แผ่นใบจะค่อนข้างหนา มัน เกลี้ยง ที่หลังใบจะเรียบและเป็นมัน ท้องใบเรียบ ก้านใบยาว 0.7-1 เซนติเมตร[4]
- ดอก ออกดอกเดี่ยว ออกเรียงกันเป็นแถวประมาณ 1-7 ดอก ดอกออกที่ตามซอกใบบริเวณที่ปลายกิ่ง จะออกเรียงอยู่เหนือง่ามใบ กลีบดอกมีสีขาว ร่วงง่าย มีอยู่ 2 กลีบ ด้านนอกจะมีสีขาวแต้มเหลืองจะเปลี่ยนเป็นแต้มสีม่วงปนกับสีน้ำตาล เป็นรูปขอบขนาน รูปหอก กว้าง 3-7 มิลลิเมตร ยาว 10-25 มิลลิเมตร จะมีต่อมน้ำหวานที่บริเวณโคนก้านดอก ดอกจะมีเกสรเพศผู้ที่เป็นเส้นเล็กฝอย ๆ เป็นสีขาวคล้ายกับหนวดแมวยาวออกมา มี 20-35 อัน มีก้านยาว รังไข่มีลักษณะเป็นรูปไข่ เกลี้ยง กลีบรองกลีบดอกจะเว้าเป็นรูปเรือแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-5.5 มิลลิเมตร ยาว 5.5-13 มิลลิเมตร ที่ขอบมักจะมีขน ก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร ดอกออกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[4]
- ผล เป็นผลสด ผลจะค่อนข้างกลมหรือรี ผิวของผลจะเรียบแข็งและเป็นมัน มี 4 ร่องที่ตามแนวยาวของผล ผลกว้าง 3-6.5 เซนติเมตร ผลอ่อนจะมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง สีแดง สีดำ ในผลมีเมล็ดเป็นรูปไต มีสีแดงหรือสีดำเป็นมันอัดแก่นจำนวนมาก[1],[4]
สรรพคุณของชิงชี่
- สามารถใช้รากเป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตรของสตรีได้[4],[7]
- สามารถรักษาอาการชาที่ตามร่างกายได้ (ใบ)[7]
- สามารถตำต้นหรือทั้งต้น ใช้พอกแก้อาการช้ำบวมฟกบวม หรือตำรากกับใบ แล้วนำมาพอกแก้อาการฟกช้ำบวมได้[1],[2],[3],[4],[5],[7]
- นำใบมาต้มกับน้ำ ใช้อาบ หรือต้มน้ำ ใช้ดื่มเป็นยารักษาโรคผิวหนัง (ใบ)[2],[3],[4]
- เนื้อไม้สามารถใช้เป็นยากลางบ้าน รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี รักษาโรคกระเพาะ แก้อาการวิงเวียนศีรษะ[7]
- รากเป็นยาขับปัสสาวะได้[7]
- รากเป็นยารักษาโรคที่เกิดในท้องได้[2],[3],[4]
- ใบมาเผาสูดเอาควัน เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบได้[1],[4],[5],[7]
- เมล็ดมาคั่วใช้เป็นยาแก้ไอได้[7] สามารถใช้รากเป็นยาแก้ไอที่เกิดจากหลอดลมอักเสบได้[4],[7]
- เนื้อไม้เป็นยารักษาโรคหลอดลมอักเสบ รักษาอาการอักเสบที่เยื่อจมูกได้[7]
- รากเป็นยาหยอดตาได้ ช่วยแก้โรคและช่วยรักษาดวงตา[3],[4]
- ใบเข้ายาอาบ ช่วยรักษาโรคประดง (ใบ, ดอก[1],[2],[4],[5],[7])
- รากกับใบสามารถช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวได้ (อาการไข้ ผื่นหรือตุ่ม เช่น เหือด หัด อีสุกอีใส)[1],[4],[5]
- ต้นมีรสขื่นปร่า สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ได้[4],[7]
- รากของชิงชี่อยู่ในตำรับยา พิกัดเบญจโลกวิเชียร หรือตำรายาแก้วห้าดวงหรือยาห้าราก เป็นตำรับยาที่มีรากของสมุนไพร 5 ชนิด คือ รากชิงชี่ รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากเท้ายายม่อม รากย่านาง เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณยาแก้ไข้ สามารถช่วยกระทุ้งพิษ ถอนพิษได้[4]
- ใบเข้ายาอาบหรือต้มดื่ม ช่วยแก้ตะคริวได้[1],[2],[4],[5],[7]
- รากและดอกสามารถใช้เป็นยารักษามะเร็งได้ (แผลเรื้อรัง เน่าลุกลาม รักษายาก) [1],[2],[3],[4],[5],[7]
- ต้นสามารถช่วยขับน้ำเหลืองเสียได้[4],[7]
- รากสามารถทำให้มดลูกเข้าอู่ได้[4],[7]
- รักษาโรคกระเพาะได้ (ราก)[2],[4],[7]
- รากใช้เป็นยาขับลมภายในให้ซ่านออกมาได้[1],[3],[4],[5],[7]
- แก้อาการเจ็บในทรวงอกได้ (รากและใบ)[1],[4],[5]
- ผลสามารถรักษาโรคที่เกิดในลำคอ และช่วยแก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ[2],[3],[4],[7]
- รากกับใบเป็นยาแก้หืดได้ [1],[2],[4],[5]
- รากจะมีสรรพคุณที่ช่วยแก้ไข้ร้อนภายในได้ทุกชนิด และช่วยแก้ไข้เพื่อดีกับโลหิต[2],[3],[4],[6] รากกับใบสามารถใช้เป็นยาระงับความร้อนได้[4]
- สามารถรักษาไข้เพื่อดีกับเลือดได้ จะใช้ได้ดีในตอนต้นไข้ (ราก)[3]
- ใบต้ม ใช้ดื่มเป็นยาแก้ไข้สันนิบาต คือไข้ที่มีอาการวิงเวียน ตาลาย เลือดกำเดาไหล แน่นหน้าอก และไข้พิษ
- ฝีกาฬ คือฝีที่เกิดบริเวณนิ้วมือ สีดำ ทำให้ปวดศีรษะและแสบร้อน อาจจะทำให้แน่นิ่งไป[1],[2],[3],[4],[5],[7]
ประโยชน์ของชิงชี่
- ต้นชิงชี่เป็นไม้เล็กสามารถปลูกในพื้นที่แคบได้ สามารถตัดแต่งได้ง่าย ดอกจะออกดก มีกลิ่นหอม ดูแปลกตา ดูเหมือนเปลี่ยนสีจากกลีบสีเหลืองเป็นกลีบสีแดงเข้ม ที่จริงแล้วเป็นแหล่งน้ำหวานเปลี่ยนสีได้ มีก้านเกสรเป็นจำนวนมาก มีลักษณะโค้งได้รูปมองดูแปลกตา สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้[7]
- ผลสุกของชิงชี่จะมีรสหวาน สามารถทานได้[4],[7]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ชิงชี่ (Chingchi)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 107.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ชิงชี่”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 94.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ชิงชี่”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 270-271.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชิงชี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [6 มี.ค. 2014].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ชิงชี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [6 มี.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ชิงชี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [6 มี.ค. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “ชิงชี่”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [6 มี.ค. 2014].
รูปอ้างอิงจาก
1.https://www.flickr.com/photos/