เฉียงพร้านางแอ พรรณไม้พื้นบ้านใช้ทำเครื่องจักสาน

0
1465
เฉียงพร้านางแอ พรรณไม้พื้นบ้านใช้ทำเครื่องจักสาน เป็นพรรณไม้น้ำจืด ผลสีแดงขนาดเล็ก เมล็ดสีน้ำตาลหรือดำ เป็นยาแผนโบราณพื้นบ้านอีสาน
เฉียงพร้านางแอ
เฉียงพร้านางแอ พรรณไม้พื้นบ้านใช้ทำเครื่องจักสาน เป็นพรรณไม้น้ำจืด ผลสีแดงขนาดเล็ก เมล็ดสีน้ำตาลหรือดำ เป็นยาแผนโบราณพื้นบ้านอีสาน

เฉียงพร้านางแอ

เฉียงพร้านางแอ เป็นพรรณไม้น้ำจืดพบได้ทั่วไปขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณป่าชายเลนน้ำจืด ริมลำธาร และหนองน้ำ มีผลไม้สีแดงขนาดเล็กจำนวนมากที่กินได้ ใบและเปลือกของต้นเฉียงพร้านางแอใช้เป็นยาแผนโบราณ ยาพื้นบ้านอีสาน โดยเฉพาะรักษาโรคทางช่องปากและคอ ต้มน้ำดื่มบำรุงร่างกาย และใช้เป็นยาเจริญอาหารสำหรับสตรีหลังคลอดเป็นต้น ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Carallia brachiata (Lour.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์โกงกาง (RHIZOPHORACEAE)[1],[2],[3] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า แก็ก วงคต วงคด องคต (ลำปาง), บงคด (แพร่), นกข่อ ส้มป้อง (เชียงใหม่), ขิงพร้า เขียงพร้า (ตราด, ประจวบคีรีขันธ์), กวางล่าม้า (ภาษาชอง-ตราด), เฉียงพร้า ตะแบง (สุรินทร์), ร่มคมขวาน (กรุงเทพ), สีฟันนางแอง (ภาคเหนือ), ต่อไส้ สันพร้านางแอ (ภาคกลาง), คอแห้ง สีฟัน (ภาคใต้), สะโข่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), กูมุย (เขมร-สุรินทร์), ม่วงมัง หมักมัง (ปราจีนบุรี), โองนั่ง (อุตรดิตถ์), บงมัง (ปราจีนบุรี, อุดรธานี), เขียงพร้านางแอ (ชุมพร) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของเฉียงพร้านางแอ

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลางถึงขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 25-30 เมตร และอาจจะสูงได้ถึง 35 เมตร ลำต้นเปลา ตั้งตรง เป็นทรงเรือนยอดทรงพุ่มรูปกรวยกว้างและทึบ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมแดงถึงสีน้ำตาลอมเทา ผิวเปลือกเรียบ และมีรูอากาศมาก หรือเปลือกต้นหนาและแตกเป็นร่องลึกตามยาว อาจพบเห็นเป็นลักษณะคล้ายรากค้ำจุนแบบ Prop root เป็นเส้นยาว หรือออกเป็นกระจุกตามตัวลำต้นหรือส่วนโคนต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และมีการกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณ ป่าพรุน้ำจืด ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ตั้งแต่พื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงระดับความสูง 1,300 เมตร แต่ในภูมิภาคมาเลเซียนั้นจะพบที่ระดับความสูง 1,800 เมตร[1],[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามและสลับกับตั้งฉาก ใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือเป็นรูปใบหอกกลับ ตรงปลายใบเป็นมนมีติ่งเล็กแหลม ส่วนฐานของใบนั้นเป็นสอบแหลม ขอบใบเรียบ มีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 4-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร แผ่นใบผิวเกลี้ยงมีความหนาและเหนียว หลังใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันหนา แต่ท้องใบจะมีสีอ่อนกว่า และมีจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ และมีหูใบอ่อนเป็นรูปหอกแหลมที่ตรงปลายกิ่ง เมื่อใบร่วงจะเห็นเป็นรอยแผลของใบ ตรงบริเวณข้อพองเล็กน้อย [1],[4]
  • ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงแบบกระจุกสั้น ๆ มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก มีขนาดที่เล็กเรียงตัวกันอย่างแน่นหนาเป็นช่อกลม โดยจะออกไปตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง แตกแขนงเป็น 4 กิ่ง กลีบดอกแยกเป็นอิสระจากกัน กลีบดอกเป็นสีครีม กลีบเป็นรูปกลม ขอบกลีบหยักเว้าพับจีบ โคนกลีบเป็นสอบแหลมเป็นก้านติดเรียงสลับกันกับกลีบเลี้ยง ดอกนั้นมีเกสรเพศผู้เป็น 2 เท่าของกลีบดอกและมีความยาวไม่เท่ากัน ส่วนจานฐานของดอกนั้นเป็นรูปวง มีรังไข่เป็นพู 3-4 พู มีการออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[4]
  • ผล เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นทรงกลม มีขนาดเล็ก และออกผลกันเป็นกระจุก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ตรงปลายผล รูปลักษณ์คล้ายมงกุฎ ผิวผลดูเป็นมัน มีเนื้อบาง ๆ สีเขียวห่อหุ้มอยู่ ผลเมื่อตอนอ่อนจะเป็นสีเขียว แต่ผลเมื่อตอนสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเมื่อสุกจัด ผลมีเมล็ดสีน้ำตาลหรือดำ มีเนื้อเยื่อหนาสีส้ม ลักษณะเมล็ดเป็นรูปไต ตัวผลจะสุกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[4]

สรรพคุณของเฉียงพร้านางแอ

1. แก่นนั้นช่วยขับลมได้ (แก่น)[4]
2. เปลือกต้นช่วยแก้บิด (เปลือกต้น)[1],[4]
3. เปลือกต้นสามารถแก้พิษผิดสำแดง (หมายถึง การที่กินอาหารแสลงอาการไข้ ทำให้อาการของโรคกำเริบ และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย) ด้วยการใช้ลำต้นผสมกันกับลำต้นแคด เปลือกของต้นตับเต่า แล้วนำมาต้มกับน้ำเพื่อดื่ม (เปลือก)[1],[4]
4. เปลือกต้นนั้นยังช่วยในการสมานแผลได้ด้วย (เปลือกต้น)[1],[4]
5. ข้อมูลจากทางเภสัชวิทยาของเฉียงพร้านางแอ ระบุไว้ว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนเหนือดินมีฤทธิ์ในการแก้แพ้ ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ได้เล็กน้อยในสัตว์ที่ทำการทดลอง และไม่พบว่ามีพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง[4]
6. ลำต้นนำไปต้มน้ำดื่มช่วยบำรุงร่างกาย (ต้น)[1],[3],[4]
7. ลำต้นนำเอามาต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้เจริญอาหาร หรือจะใช้เป็นยาเจริญอาหารสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร (ต้น)[1],[3],[4]
8. ลำต้นนำมาฝนน้ำดื่มช่วยในการแก้ไข้ หรือจะนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำอาบช่วยรักษาอาการเป็นไข้ตัวร้อนก็ได้ (ต้น, เปลือกต้น)[1],[3],[4]
9. เปลือกต้นมีฤทธิ์ช่วยแก้อาการร้อนใน อาการกระหายน้ำ (เปลือกต้น)[1],[4] และยังสามารถช่วยระบายความร้อนได้อีกด้วย (เปลือกต้น)[4]
10. เปลือกต้นนั้นช่วยในการขับเสมหะและโลหิต ปิดธาตุ (เปลือกต้น)[1],[4]

ประโยชน์ของเฉียงพร้านางแอ

1. ผลสุกรับประทานได้ มีรสเปรี้ยวอมหวาน[2],[4]
2. ต้นเฉียงพร้านางแอ เป็นไม้ที่ไม่ผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง และดอกมีกลิ่นหอม จึงเหมาะจะปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาหรือเป็นไม้ประดับ[1]
3. ต้นเฉียงพร้านางแอ จัดอยู่ในพรรณไม้ที่โตเร็ว จึงเป็นพรรณไม้ที่นำมาปลูกป่าป้องกันอุทกภัยได้[1]
4. เนื้อไม้เฉียงพร้านางแอ เป็นไม้ที่คงทนแข็งแรงเป็นอย่างมากและมีลายไม้ที่สวยงาม จึงนำมาใช้ในการก่อสร้างทั่ว ๆ ไปได้เป็นอย่างดี ทำเป็นเครื่องมือทางการเกษตร ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือจะใช้ทำฟืนเผาถ่านให้ความร้อนสูงก็ได้อีกด้วย[1]
5. ผลสุกเป็นอาหารที่โปรดปรานของนก กระรอก และสัตว์ป่าขนาดเล็กหลายชนิด ผลของพรรณไม้ชนิดนี้จึงสามารถช่วยดึงดูดสัตว์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี[1]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1.พรรณไม้เพื่อปลูกป่าป้องกันอุทกภัย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เฉียงพร้านางแอ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [17 ธ.ค. 2013].
2.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เฉียงพร้านางแอ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [17 ธ.ค. 2013].
3.หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4: กกยาอีสาน (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).
4.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เฉียงพร้านางแอ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [17 ธ.ค. 2013]

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.inaturalist.org/guide_taxa/334540
2.https://www.natureloveyou.sg/Carallia%20brachiata/Main.html
3.https://www.territorynativeplants.com.au/carallia-brachiata-bush-current