ฝ้ายแดง
เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีแดงเข้ม ตรงกลางดอกจะมีสีเป็นสีม่วงแดงหรือสีม่วงดำ และมีสีเหลืองแต้มเป็นจุด ผลสีเขียวอมแดง และผลผิวลื่น

ฝ้ายแดง

ต้นฝ้ายแดง มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปเอเชียเขตร้อนและกึ่งร้อน และในแถบทวีปแอฟริกา โดยขึ้นตามบริเวณที่รกร้างและโล่งแจ้ง จัดเป็นหนึ่งในพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดมาก สามารถเติบโตได้ในดินร่วนทั่วไป ต้องการน้ำและความชื้นในปริมาณปานกลาง ชื่อสามัญ Ceylon cotton, Chinese cotton, Tree cotton[2],[3] ชื่อวิทยาศาสตร์ Gossypium arboreum L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ชบา (MALVACEAE)[1]

ลักษณะของฝ้ายแดง

  • ต้น เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 2-4 เมตร มีเปลือกเรียบเป็นสีม่วงแดงหรือสีน้ำตาลแดง โดยลำต้นนั้นจะแตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปโดยรอบ ต้นเป็นทรงพุ่มลักษณะโปร่ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงเวียนสลับกัน เป็นรูปฝ่ามือ ปลายใบแหลมหรือมน ตรงโคนใบมนเว้า ส่วนขอบใบจะเว้าลึกลงไปเป็นแฉก 3-7 แฉกคล้ายกับฝ่ามือ บริเวณหลังใบผิวเรียบ มีเส้นใบเป็นสีแดง และก้านใบก็มีสีเป็นสีแดง[1],[2],[3] ใบกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร
  • ดอก เป็นดอกเดี่ยว ออกบริเวณตามซอกใบใกล้กับบริเวณปลายกิ่ง มีสีแดงเข้ม ตรงกลางดอกจะมีสีเป็นสีม่วงแดงหรือสีม่วงดำ และมีสีเหลืองแต้มเป็นจุดประโดยรอบ มีใบประดับอยู่ 3 ใบ ใบประดับจะมีรูปร่างเป็นใบรูปสามเหลี่ยมซ้อนกัน กลีบเลี้ยง 5 กลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยเรียงซ้อนกันอย่างสวยงาม ตรงโคนกลีบดอกจะติดกัน มีเกสรเพศผู้เป็นจำนวนมาก โดยจะมีก้านเกสรที่เชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมียเอาไว้อยู่ ตรงปลายเกสรเพศเมียนั้นจะแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก[1],[2],[3]
  • ผล มีรูปร่างกลมเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม หัวและท้ายของผลจะมีลักษณะแหลมสีเป็นสีเขียวอมแดง และผลผิวลื่น มีกลีบรองดอกห่อหุ้มเอาไว้อยู่ซึ่งเมื่อผลแก่ตัวลง กลีบที่ห่อหุ้มก็จะคลายออกและผลก็จะแตกออกเป็นปุยฝ้าย
  • เมล็ด มีจำนวนมาก รูปทรงค่อนข้างกลมเป็นสีเขียว และผิวเมล็ดมีขนยาวสีขาวขึ้นปกคลุม[1],[3]

สรรพคุณ ประโยชน์ ของต้นฝ้ายแดง

1. ใบสดนำมาใช้ทำยาแก้พิษตานซางในเด็กได้ (ใบสด)[1],[2],[3]
2. ใบสด มีรสชาติเย็นซ่า ๆ นำมาใช้ปรุงเป็นยาทานแก้ไข้ และช่วยขับเหงื่อ (ใบสด)[1],[2],[3]
3. ในตำรายาแก้ไข้จะใช้ใบสด นำมาทำเป็นยาที่มีสรรพคุณในการแก้ไข้ และทำให้อุณหภูมิของร่างกายเย็นลง (ใบ)[4]
4. เปลือกราก นำมาบดให้เป็นผงละเอียดใช้ชงกับน้ำเดือดสำหรับดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกราก)[3]
5. เปลือกรากนำมาบดให้เป็นผงจากนั้นนำมาชงกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาช่วยบีบมดลูกทำให้แท้ง และช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรี (เปลือกราก)[3],[5]
6. เมล็ด นำมาใช้ทำเป็นยารักษาโรคหนองในได้ (เมล็ด)[4]
7. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ด นำมาใช้ในการเตรียมสบู่และอีกทั้งยังนำมาทำเป็นน้ำมันหล่อลื่นได้อีกด้วย[5]
8. ต้น สามารถนำมาใช้ปลูกไว้สำหรับดูเล่นได้ โดยมักจะปลูกกันตามบ้านเรือนและวัด หรือจะนำมาใช้ทำเป็นรั้วบ้านก็ได้

ข้อควรระวังของการทานสมุนไพรฝ้ายแดง

  • สตรีที่ตั้งครรภ์ห้ามรับประทานเด็ดขาด เพราะนั่นอาจจะทำให้แท้งบุตรได้[4]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. เอกสารอ้างอิง หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ฝ้าย แดง (Fai Daeng)”. หน้า 186.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ฝ้าย แดง”. หน้า 518-519.
3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ฝ้าย แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [13 พ.ย. 2014].
4. หนังสือไม้ดอกไม้ประดับ. “ฝ้าย แดง”.
5. ไทยเกษตรศาสตร์. “ข้อ มูล ของ ฝ้าย แดง”. อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [13 พ.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://efloraofindia.com/2011/12/02/gossypium-arboreum/