โรคซิฟิลิส ( Syphilis )
โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีขนาดเล็กมาก และสามารถอาศัยอยู่ได้เกือบทุกส่วนในร่างกาย

โรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิส ( Syphilis ) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ กามโรค ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม ( Treponema Pallidum) มีขนาดเล็กและสามารถอาศัยอยู่ได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย เชื้อแบคทีเรียโรคซิฟิลิสนี้ หากส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเชื้อตัวนี้มีลักษณะเหมือนเกลียวสว่าน ( Spirochete Bacteria ) 

สถิติการพบเชื้อโรคซิฟิลิสเมื่อต้นปี 2562 จากพบว่าในปัจจุบันประเทศไทยติดโรคซิฟิลิสเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มชายรักชาย โรคซิฟิลิส มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มจาก 2.29 ต่อประชากรแสนคนในปี 2552 เป็น 11.91 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 ซึ่งถือว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับโรคอื่น

โรคซิฟิลิสติดต่อกันได้อย่างไร

คนเราสามารถรับเชื้อซิฟิลิสได้ 3 ทาง คือ

1. ซิฟิลิสติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันตัวเอง ไม่ใช้ถุงยางอนามัย โดยเชื้อโรคซิฟิลิสจะฝังตัวและติดต่อผ่านทางเยื่อบุช่องคลอด หรือ ท่อปัสสาวะ

2. ซิฟิลิสติดต่อผ่านการสัมผัสแผลที่มีเชื้อ โดยผ่านทางผิวหนัง เยื่อบุตา ปาก

3. ซิฟิลิสติดต่อจากแม่สู่ลูก โดยหากมารดาเป็นซิฟิลิส จะถ่ายทอดโรคนี้สู่ทารกในครรภ์ได้ โดยเรียกเด็กที่เป็นซิฟิลิสจากสาเหตุนี้ว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด ( Congenital Syphilis ) จะแสดงอาการหลังคลอดได้ 3-8 สัปดาห์ และเป็นอาการเล็กน้อยมาก จนแทบไม่ทันได้สังเกต เช่น มีตุ่มผื่นขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มาออกอาการมาก ๆ เข้าเมื่อตอนโต ซึ่งก็เข้าสู่ระยะที่สี่แล้ว หรือบางคนอาจแสดงอาการพิการออกมาให้เห็นได้ชัด

อาการของผู้ติดเชื้อโรคซิฟิลิส

อาการของโรคซิฟิลิสระยะที่ 1

ในระยะติดเชื้อระยะที่ 1 ที่มักเรียกว่า ” แผลริมแข็ง ” ( Chancre ) บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก องคชาต บริเวณรอบองคชาต หรือ ปาก อาจมีแผลเดียวหรือหลาย ๆ แผลก็ได้ ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตในระยะนี้ด้วย แผลริมแข็ง จะหายไปภายใน 3-6 สัปดาห์ แม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษาก็ตาม แต่เชื้อจะยังคงแฝงตัวอยู่ในร่างกาย อาการของโรคก็จะกำเริบรุนแรงกว่าเดิมเมื่อเข้าสู่ระยะถัดไปเชื้อซิฟิลิสสามารถแพร่กระจายได้ง่ายมากในระยะแรก อีกทั้งผู้ติดเชื้อในระยะนี้มักจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน ไม่มีอาการเจ็บปวด หรือแผลที่เกิดขึ้นอยู่ในบริเวณที่มองไม่เห็น เช่น ในปาก ใต้หนังหุ้มปลายองคชาต ปากมดลูก หรือที่ทวารหนัก ทำให้ผู้ติดเชื้ออาจไม่รู้ตัวและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

อาการของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2

ผู้ป่วยซิฟิลิสจะเริ่มแสดงอาการมากขึ้น โดยมีผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่ไม่มีอาการคัน นอกจากนี้อาจมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว รู้สึกอ่อนเพลีย ผมร่วง มีผื่นในระยะนี้ จะยังเป็นผื่นจาง ๆ มีลักษณะคล้ายผดผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อทั่วไป บางรายอาจมีแผลบริเวณริมฝีปาก ในปาก ในลำคอ ช่องคลอด และ ทวารหนักร่วมด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ติดเชื้อในระยะนี้จะไม่มีแผลเกิดขึ้นเลย อาการในระยะที่ 2 นี้จะหายไปเองได้ แม้ไม่ได้รับการรักษา แต่อาการของโรคก็จะรุนแรงมากขึ้นอีก และเชื้อซิฟิลิสยังคงแพร่กระจายได้ง่ายในระยะที่ 2 นี้ระยะแฝงเชื้อ ระยะนี้เริ่มขึ้นหลังจากอาการของระยะที่หนึ่งและระยะที่สองผ่านไปแล้ว หากผู้ติดเชื้อยังไม่ได้รับการรักษา อาการต่าง ๆ ของโรคจะหายไป แต่เชื้อจะยังคงแฝงตัวอยู่ภายในร่างกาย และอยู่ต่อไปได้นานหลายปีหรือตลอดชีวิตโดยไม่แสดงอาการใด ๆ

อาการของโรคซิฟิลิสระยะที่ 3

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยประมาณ 15% จะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรคซิฟิลิส และแสดงอาการแม้จะผ่านไปแล้ว 10-20 ปี หลังจากที่ได้รับเชื้อ เนื่องจากเชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย และค่อยๆ ทำลายอวัยวะภายในร่างกาย ได้แก่ ดวงตา หัวใจ ไขสันหลัง สมอง เส้นประสาท ปอด ตับ กระดูก เส้นเลือด ทำให้ผู้ติดเชื้อซิฟิลิสในระยะสุดท้ายมีอาการป่วยทางจิต สมองเสื่อม การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กัน อาจเป็นอัมพาต ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ ตัวชา ตาบอดลงทีละน้อย และเสียชีวิต

วิธีรักษาโรคซิฟิลิส

ข้อแนะนำวิธีรักษาสำหรับโรคซิฟิลิส คือ การใช้ยาเพนิซิลลิน ( Penicillin ) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง โดยสรรพคุณของเพนิซิลลินนั้นอยู่ที่ความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าทรีโพนีมา แพลลิดัม ( Treponema pallidum ) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคซิฟิลิสนั่นเอง
ในช่วงการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะจบการรักษา และผลตรวจเลือดของผู้ป่วยก็ต้องได้รับการยืนยันว่าหายขาดแน่นอนแล้ว
นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจแนะนำให้ผู้ป่วยแจ้งคู่นอนของตนเพื่อเข้ามารับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง รวมทั้งอาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ( HIV ) เนื่องจากการป่วยเป็นโรคซิฟิลิสนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีที่สูงขึ้น

ผลกระทบจากการติดเชื้อซิฟิลิส

  1. ผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำให้เป็นบุคคลน่ารังเกียจเพราะมีโรคติดต่อ หากไม่รีบเข้ารับการรักษา จะไม่สามารถรักษาได้อีกเลยจนกระทั่งเสียชีวิต
  2. การติดเชื้อซิฟิลิส ทำให้ความสามารถต่าง ๆ ลดลงทีละน้อย
  3. หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อและไม่ได้รับการรักษา มีความเสี่ยงสูงที่ทารกในครรภ์จะได้รับอันตราย เสียชีวิตในครรภ์ หรือเสียชีวิตหลังคลอด และยังอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ นอกจากนี้เชื้อซิฟิลิสยังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายเมื่อมีแผลเกิดขึ้น หรือเมื่อแผลซิฟิลิสมีเลือดออกและไปสัมผัสเข้ากับเชื้อเอชไอวี
  4. โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน หรือฉีกขาด ( Stroke )
  5. โรคเยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบ ( Meningitis )
  6. การได้ยินผิดปกติ
  7. การมองเห็นผิดปกติ
  8. โรคความจำเสื่อม 

วิธีการป้องกันโรคซิฟิลิส

  1. วิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคือ การงดมีเพศสัมพันธ์ แต่หากคุณเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์ คุณจำเป็นต้องป้องกันตัวเองด้วยการใช้ถุงยางอนามัย
  2. และพยายามไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ รวมทั้ง ทั้งนี้แม้การใช้ถุงยางอนามัยจะสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่หากพบว่ามีแผลหรือผื่นเกิดขึ้นบริเวณอื่นนอกเหนือจากบริเวณที่สวมถุงยางอนามัย ก็จะต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน จนกว่าคุณหรือคู่ของคุณจะได้รับการรักษาเสร็จสิ้นแล้ว
  3. เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ต้องสวมใส่ถุงยางอนามัย แม้ oral sex ก็ต้องใส่ถุงยางอนามัย
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยง
  5. อย่าเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หากจริงจังจริงใจ จับมือกันมาตรวจเพื่อความสบายใจ อย่ารอตอนท้อง จนบริจาคเลือดแล้วเพิ่งมาเจอผลเลือด
  6. เวลาเสี่ยงมา แนะนำให้ตรวจทุกโรค เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับบี ไวรัสตับซี
  7. หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง อย่าปล่อยทิ้งไว้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Krishna Wood White, Syphilis ( https://kidshealth.org )

Bangrak STIs Center (โรงพยาบาลบางรัก)

https://www.rsat.info