ต้นสายหยุด ใช้ดอกสดเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ

0
1338
ต้นสายหยุด
สายหยุด ใช้ดอกสดเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ เป็นไม้เถาเลื้อยหรือเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ใบเดี่ยว ดอกเดี่ยวสีเหลืองถึงส้มอ่อนมีกลิ่นหอม ผลย่อยคล้ายกับลูกปัดคอด
สายหยุด
เป็นไม้เถาเลื้อยหรือเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ใบเดี่ยว ดอกเดี่ยวสีเหลืองถึงส้มอ่อนมีกลิ่นหอม ผลย่อยคล้ายกับลูกปัดคอด

ต้นสายหยุด

ต้นสายหยุด Desmos, Chinese Desmos เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยทรงพุ่ม กิ่งก้านและเนื้อกิ่งก้านแข็งแรงสามารถเจริญเติบโตได้สูงถึง 4 เมตร ใบสีเขียวชอุ่มตลอดทั้งปีดอกสีเหลืองอมเขียวลักษณะคล้ายกับดอกกระดังงา จะมีถิ่นกำเนิดที่ทางประเทศจีนตอนใต้ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นแผ่นดินใหญ่ และลงจนถึงแหลมมลายู รวมถึงในประเทศไทยสามารถพบเจอขึ้นกระจายทั่วประเทศ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Desmos chinensis Lour. อยู่วงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เสลาเพชร (จังหวัดสุราษฎร์ธานี), เครือเขาแกลบ (จังหวัดเลย), สาวหยุด (ภาคกลาง, ภาคใต้), กล้วยเครือ (จังหวัดสระบุรี)

ลักษณะของต้นสายหยุด

  • ลักษณะของต้น เป็นไม้เถาเลื้อยหรือเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สามารถสูงได้ถึงประมาณ 1-5 เมตร เปลือกเถามีลักษณะเรียบและเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ที่ตามกิ่งอ่อนจะมีขนเป็นสีน้ำตาลขึ้นหนา จะมีรูระบายอากาศอยู่ ถ้ากิ่งแก่เกลี้ยงจะเป็นสีดำ มีช่องอากาศเยอะ ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง สามารถใช้ดินทั่วไปปลูกได้ จะเติบโตได้ดีในดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ เก็บความชื้นดี และน้ำท่วมไม่ถึง ชอบความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน สามารถเจอได้ที่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 600 เมตร[1],[2],[3],[4]
  • ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับกัน ใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก รูปขอบขนาน ที่ปลายใบจะเรียวและแหลมหรืออาจเป็นติ่งแหลม ส่วนที่โคนใบจะมนหรือจะเว้านิดหน่อย ขอบใบจะเรียบหรือจะเป็นคลื่นนิดหน่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร หลังใบมีลักษณะเรียบเกลี้ยงและเป็นมัน ท้องใบมีลักษณะเรียบและเป็นสีเขียวนวล เนื้อใบบางเหนียว จะมีขนขึ้นกระจายอยู่ทั้งหลังใบและท้องใบ จะเจอเยอะที่ใบอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ใบอ่อนจะเป็นสีแดง มีเส้นแขนงใบอยู่ประมาณ 8-10 คู่ ก้านใบมีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[2]
  • ลักษณะของดอก เป็นดอกเดี่ยว ดอกจะออกที่ด้านล่างตรงข้ามใบ ตอนที่เริ่มเป็นสีเขียวต่อดอกจะเป็นสีเหลืองถึงส้มอ่อน มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร มีกลีบดอกอยู่ 6 กลีบ แบ่งเป็นชั้น 2 ชั้น กลีบดอกชั้นนอกจะแยกกันเป็น 3 กลีบ เป็นรูปขอบขนานแกมรูปรี รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1.3-1.8 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร กลีบจะบิดและงอ ที่โคนกลีบดอกจะมีรอยคอดใกล้ฐานดอก ที่ปลายจะแหลม ส่วนที่โคนจะตัด ที่ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น จะมีขนนุ่มขึ้นกระจายทั้งสองด้าน มีกลีบดอกด้านในอยู่ 3 กลีบ จะเรียงจรดและแยกกัน กลีบดอกด้านในเล็กและสั้นกว่าชั้นนอก เป็นรูปหอก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ที่ปลายจะแหลม ส่วนที่โคนจะตัด ที่เหนือโคนกลีบนิดนึงมักจะคอดเว้า ขอบเรียบ จะมีขนสั้นนุ่มขึ้นอยู่ทั้งสองด้าน มีเกสรเพศผู้ประมาณ 150-240 อัน เกสรเพศผู้เป็นรูปคล้ายกับทรงกระบอก มีความยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร อับเรณูมีลักษณะเกลี้ยงและเป็นสีเหลือง อาจจะมีขนขึ้นที่โคนนิดหน่อย เกสรเพศเมียจะแยกกันมีประมาณ 30-50 อัน แต่ละอันจะมี 5-7 ออวุล เป็นรูปทรงกระบอก กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร จะเป็นสีน้ำตาลหรือเหลือง มีขนขึ้นหนาที่ตามก้านเกสรเพศเมีย มีกลีบเลี้ยงเล็กเป็นสีเขียวมีลักษณะเรียงห่างกันนิดหน่อย มีอยู่ 3 กลีบ เป็นรูปค่อนข้างสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ที่ปลายกลีบกระดกขึ้น ที่ปลายจะแหลม ส่วนที่โคนจะตัด ขอบเรียบ มีขนขึ้นกระจายอยู่สองด้าน ดอกมีกลิ่นหอม บานนาน ก้านดอกมีความยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร จะมีขนกระจายขึ้นอยู่ทั่วไป ออกดอกเยอะช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]
  • ลักษณะของผล ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยอยู่ประมาณ 5-35 ผล ผลย่อยคล้ายกับลูกปัดคอด จะคอดเป็นข้อระหว่างช่วงเมล็ด ได้ 7 ข้อ ผลกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวผลมีลักษณะเรียบและเป็นมัน ผลสดจะเป็นสีเขียว ผลสุกแล้วเป็นสีดำและเป็นมัน จะห้อยลง ก้านผลย่อยมีความยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร ก้านช่อผลมีความยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร จะมีขนกระจายที่ตามก้านผล ก้านผลย่อย มีเมล็ดอยู่ในผลย่อย 1 ผล ประมาณ 2-5 เมล็ด จะมีรอยคอดที่ระหว่างเมล็ดชัด เมล็ดเป็นรูปรี รูปทรงกลม ผิวเมล็ดมีลักษณะเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาล กว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร ติดผลช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2]

สรรพคุณสายหยุด

1. ในตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานนำรากมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อยได้ (ราก)[2]
2. รากมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ท้องเดิน (ราก)[2]
3. มีการใช้ดอกสดเข้ายาหอม บำรุงหัวใจ (ดอก)[1],[2],[3]
4. ราก ดอก มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ไข้ (ราก,ดอก)[3]
5. มีการใช้ต้น ราก เข้ายาหอม หรือเข้ายาอาบอบ สามารถรักษาอาการติดยาเสพติดได้ (ต้นและราก)[1],[2]
6. รากสามารถใช้เป็นยาแก้บิดได้ (ราก)[3]
7. ในตำรายาไทยจะนำราก มาใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง (ราก)[2]
8. ดอก สามารถช่วยแก้ลมวิงเวียนได้ (ดอก)[3]

ประโยชน์สายหยุด

  • ปลูกเป็นไม้ประดับ เหมาะกับการมาปลูกไว้ในสวนดอกไม้ ปลูกเป็นต้นเดี่ยวแต่งทรงพุ่ม ปลูกที่ริมทางเดิน ปลูกเป็นซุ้มบริเวณบ้าน หรือจะทำนั่งร้านให้ต้นเลื้อยไปปกคลุมด้านบน ปลูกง่ายและยังบำรุงง่ายอีกด้วย โตเร็ว เพาะกล้าโดยการตอนกิ่ง การใช้เมล็ด และการปักชำ ออกได้ตลอดปี ขึ้นอยู่ที่ดินฟ้าอากาศ ความสมบูรณ์ของต้น มักจะออกดอกเยอะช่วงฤดูฝน ต้นฤดูหนาว ดอกจะเริ่มส่งกลิ่นหอมแรงขึ้นยามพลบค่ำ มีกลิ่นหอมมากที่สุดช่วงเช้ามืด แล้วกลิ่นของดอกก็จะจะค่อย ๆ จางลงตอนกลางวัน เป็นที่มาของชื่อ [5]
  • สามารถใช้ดอกมาสกัดน้ำมันหอมระเหยได้[2] ด้วยการนำดอกสดมากลั่นเอาน้ำมันหอมระเหย โดยการต้มกลั่นจะทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.005[3] อาจใช้น้ำมันหอมระเหยในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) และสามารถใช้ทำเป็นน้ำหอมสำหรับเครื่องสำอางได้ [5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • ในน้ำมันที่ได้จากดอกจะมีสาร Linalool เป็นสารหลัก โดยจะมีฤทธิ์ที่สามารถสงบประสาท ฆ่าแมลง ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อราได้[3]
  • สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากใบ จะมีฤทธิ์ที่สามารถต้านการชักในสัตว์ทดลองได้ดี และสามารถต้านเชื้อไวรัสเอดส์ได้อยู่บ้าง สารสกัดนี้จะมีพิษเฉียบพลันระดับปานกลาง (LD50 = 500 มก./กก.)[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “สายหยุด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/. [12 มิ.ย. 2014].
2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 266 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “สายหยุด เสน่ห์ยามเช้าของความหอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [12 มิ.ย. 2014].
3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สายหยุด (Sai Yud)”. หน้า 300.
4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สายหยุด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [12 มิ.ย. 2014].
5. ความเหมือนที่แตกต่างแห่งพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ส า ย ห ยุ ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [12 มิ.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/
2.https://www.picturethisai.com/