ยมหิน
ดอกเล็กกลีบเลี้ยงสีเขียวอมม่วงและกลีบดอกสีเหลืองกลิ่นหอม สุกสีดำ ผลแห้งมีเปลือกแข็งสีน้ำตาล ปลายผลเป็นติ่งแหลม

ยมหิน

ยมหิน มีชื่อสามัญ คือ Almond-wood, Chickrassy Chittagong-wood[2] และชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Chukrasia tabularis A.Juss.[4] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Chukrasia velutina M.Roem.)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)[1] นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฝักดาบ (จันทบุรี), เสียดกา (ปราจีนบุรี), เสียดค่าย (สุราษฎร์ธานี), ยมขาว (ภาคเหนือ), มะเฟืองต้น มะเฟืองช้าง ยมหิน สะเดาหิน สะเดาช้าง (ภาคกลาง), ช้ากะเดา (ภาคใต้), มะยมหลวง (ไทใหญ่), โค้โย่ง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ริ้งบ้าง รี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลำชา (ลั้วะ), ตุ๊ดสะเต๊ะ (ขมุ) เป็นต้น[1],[2],[4],[6]
Note : เป็นต้นไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระราชทานเพื่อปลูกเป็นไม้มงคลประจำจังหวัดแพร่[2]

ลักษณะของต้นยมหิน

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบแต่ใช้เวลาผลิใบใหม่เร็ว ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นมีความเปลาตรง เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยต่ำ มีพูพอนที่โคนต้น เปลือกต้นมีสีน้ำตาลคล้ำ สีเทา หรือสีเทาปนสีดำ เปลือกต้นเมื่อมีอายุมากขึ้นจะแตกเป็นสะเก็ดคล้ายรูปสี่เหลี่ยม และแตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้น เปลือกชั้นในมีสีแดงออกน้ำตาลหรือสีชมพู ส่วนกระพี้เป็นสีเหลืองคล้ายสีของฟางข้าว และแก่นไม้เป็นสีเหลืองเข้มถึงสีน้ำตาล มีกิ่งอ่อนและใบอ่อน ช่อดอกมีขนที่นุ่ม สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินทุกชนิด มีความต้องการน้ำและความชุ่มชื้นในระดับกลาง ถูกจัดเป็นไม้กลางแจ้ง พบได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้นทั่วไป ป่าดิบแล้ง และป่าผลัดใบผสม ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลอยู่ที่ประมาณ 300-800 เมตร มีการกระจายพันธุ์มาจากอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในปัจจุบันนี้มีจำนวนที่พบได้ตามธรรมชาติลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเดิมทีเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นตามป่า มีการกระจัดกระจายไปตามภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันเกิดการบุกรุกป่าและปัญหาการเสื่อมสภาพของดิน ทำให้ได้รับผลกระทบไปด้วย[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเยื้องกันเล็กน้อย ก้านใบมีความยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร และมีใบย่อยอยู่ประมาณ 6-20 คู่ เรียงตัวกันแบบสลับกัน แต่ใบย่อย 2 คู่แรกจะเรียงตัวกันแบบตรงข้ามกัน ลักษณะของใบย่อยมีความคล้ายรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือกลม ส่วนขอบใบจะเรียบ ใบย่อยมีความกว้างประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตรและความยาวประมาณ 10-17.5 เซนติเมตร หลังใบเรียบมีความมัน ท้องใบมีขนอ่อนนุ่ม 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นแบบขนยาว ปลายแหลม อ่อนนุ่ม ส่วนอีกชนิดจะมีจำนวนน้อยกว่าและสั้นกว่า มีลักษณะปลายขนแข็งกว่าชนิดแรก ขึ้นปกคลุมอยู่ด้านหลังใบเป็นจำนวนมาก ก้านใบมีความยาวประมาณ 2-8 มิลลิเมตร[1],[2],[7]
  • ดอก จะออกดอกเป็นช่อตามมุมกิ่งอ่อนหรือตามปลายยอด ปลายช่อห้อยลงมา มีความยาวอยู่ประมาณ 10-30 เซนติเมตร กิ่งหลักของช่อดอกมีความยาวประมาณ 16 เซนติเมตร ส่วนกิ่งย่อยมีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เป็ดดอกชนิดมีเพศเดียวและดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีใบประดับขนาดประมาณ 2-7 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ และจะร่วงโรยไปเมื่อดอกบาน ส่วนก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร อยู่ติดกับก้านดอกเทียมที่มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และอยู่ติดกับกลีบเลี้ยงซึ่งเป็นสีเขียวออกม่วงหรือสีแดง มีกลีบอยู่ 4-5 กลีบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมีความปลายมน ส่วนกลีบดอกมีกลีบ 4-5 กลีบ แยกจากกันอย่างอิสระ โดยจะมีความยาวมากกว่ากลีบเลี้ยง ซึ่งมียาวประมาณ 12-20 มิลลิเมตร มีรูปร่างเป็นแผ่นยาวแคบ ปลายมน เป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองปนสีม่วง มีขนสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมทั้งกลีบดอก ก้านชูเกสรเพศผู้มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ปลายเรียวแคบ ขอบจะหยักเล็กน้อย เกสรเพศผู้ติดอยู่บนขอบทรงกระบอกนี้ ไม่มีขน มีสีเหมือนกลีบดอก มีรูปทรงแบบขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ เป็นรูปทรงคล้ายแจกัน ภายในมีช่องประมาณ 3-5 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีไข่เป็นจำนวนมาก ส่วนก้านชูเกสรเพศเมียจะมีลักษณะที่ยาวและแคบ ตรงปลายมีรอยหยัก แบ่งออกเป็น 3-5 หยัก มีน้ำเหนียว ๆ และมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ เรณูมีลักษณะเดี่ยวขนาดเล็ก เรณูมีขั้วและได้สัดส่วนกันทุกด้าน มีขนาดความยาวของแนวแกนระหว่างขั้วต่อความกว้างของแนวแก่นเส้นศูนย์สูตรเฉลี่ยเท่ากับ 21:19.74 ไมโครมิเตอร์ รูปทรงของเรณูเป็นแบบ prolate-spheroidal มีช่องเปิดแบบผสมจำนวน 4 ช่อง และมีผนังเรณูเป็นแบบร่างแห จะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2],[6],[7]
  • ผล จะออกเป็นพวง ลักษณะของผลคล้ายกับรูปทรงรีหรือรูปไข่ ผลเป็นแบบผลแห้งมีเปลือกแข็งสีน้ำตาล ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลมีความยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 1.8-4 เซนติเมตร ผลเป็นสีน้ำตาล เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีดำ เมื่อแห้งหรือแก่จะแตกเป็น 3-5 เสี่ยง ภายในผลแบ่งออกเป็นช่องประมาณ 3-5 ช่อง เมล็ดมีลักษณะแบน เป็นแผ่นบาง ๆ สีน้ำตาล มีความยาวเป็น 2 เท่าของความกว้าง โดยมีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 0.4-1.0 เซนติเมตรและความยาวประมาณ 0.8-1.8 เซนติเมตร ในแต่ละช่องของผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 60-100 เมล็ด ซึ่งการเรียงตัวของเมล็ดจะเรียงตัวกันแบบสลับกันระหว่างส่วนหัวและปลายเมล็ดที่อยู่ในช่องแต่ละช่อง[1],[6],[7]

สรรพคุณของยมหิน

1. เปลือก สามารถใช้เป็นยาสมานแผลได้[5]
2. เปลือก ใช้ผสมเป็นยาปรุงแก้ไข้เปลี่ยนฤดู หนาว ๆ ร้อน ๆ ไข้จับสั่น[1]

ประโยชน์ของยมหิน

1. ผลสุกสามารถรับประทานได้ (ชาวลัวะ)[4]
2. เนื้อไม้มีลายที่สวยสดงดงามและมีสีน้ำตาลอมเหลืองเป็นมัน เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียด ไสกบตกแต่งได้ง่าย ทำให้ขึ้นเงาได้ดี เหมาะสำหรับงานไม้ที่ใช้ในที่ร่ม และไม่ควรให้ส่วนใดส่วนหนึ่งสัมผัสกับดิน โดยสามารถแปรรูปเป็นไม้ที่มีคุณค่าเศรษฐกิจได้ ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาแพง หรือนำไปใช้ในการสร้างบ้านสร้างเรือน งานโครงสร้างอื่น ๆ เครื่องจักสาน และเครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ เช่น การนำมาใช้ทำเสา ขื่อ รอด ตง ปูพื้นห้อง กระดาน หน้าต่าง ประตู ฝาบ้าน และลังบรรจุสิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น[2],[4],[6]
3. ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น มีการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้ในงานศิลปะ และใช้เป็นสมุนไพร[6]

หมายเหตุ : ในพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 ได้กำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามธรรมดา ประเภท ก.[6]

สั่งซื้ออาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ย ม หิ น”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 131.
2.สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “พรรณไม้ประจำจังหวัด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: chm-thai.onep.go.th. [21 พ.ค. 2014].
3. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. “ยมหิน”.
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “ย ม หิ น”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [21 พ.ค. 2014].
5. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “ยมหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [21 พ.ค. 2014].
6. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ย ม หิ น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [21 พ.ค. 2014].
7. รายชื่อพรรณไม้ (ป่า) ในประเทศไทย, เครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย, สำนักงานเครือข่ายการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ยมหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: t-fern.forest.ku.ac.th. [21 พ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก

1.https://www.quintadosouriques.com/store/seeds/trees/white-cedar-indian-mahogany-indian-sequoia-burmese-almond-bastard-cedar/