กินกุ้งน้อย วัชพืชมากสรรพคุณ ช่วยแก้บิด แก้ไข้ ป้องกันหมัน รักษาทอนซิลอักเสบ

0
1588
กินกุ้งน้อย วัชพืชมากสรรพคุณ ช่วยแก้บิด แก้ไข้ ป้องกันหมัน รักษาทอนซิลอักเสบ
กินกุ้งน้อย เป็นวัชพืช มีดอกสีม่วงหรือสีฟ้าอ่อน หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเป็นสีม่วง กาบใบมีขนขึ้นปกคลุม
กินกุ้งน้อย วัชพืชมากสรรพคุณ ช่วยแก้บิด แก้ไข้ ป้องกันหมัน รักษาทอนซิลอักเสบ
กินกุ้งน้อย เป็นวัชพืช มีดอกสีม่วงหรือสีฟ้าอ่อน หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเป็นสีม่วง กาบใบมีขนขึ้นปกคลุม

กินกุ้งน้อย

กินกุ้งน้อย (Common spiderwort) หรือเรียกกันทั่วไปว่า ผักปลาบ เป็นวัชพืชที่มักจะขึ้นในที่ชุ่มชื้น มีดอกสีม่วงหรือสีฟ้าอ่อนเล็ก ๆ ขึ้นในปลายฤดูฝน ทั้งต้นของกินกุ้งน้อยมีรสจืดและชุ่ม เป็นยาเย็นที่ช่วยปรับอุณหภูมิความร้อนในร่างกาย ถือเป็นยาสมุนไพรที่ใช้ในประเทศไต้หวัน อินโดจีน นิวกินีและมาเลเซีย สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประโยชน์ได้แต่กินกุ้งน้อยกลับเป็นต้นที่มีโทษต่อพืช

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกินกุ้งน้อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Murdannia nudiflora (L.) Brenan (ชนิดใบเล็ก), Murdannia malabaricum (L.) Santapan, Murdannia macrocarpa D.Y.Hong (ชนิดใบใหญ่)
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Common spiderwort”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “กินกุ้งน้อย” จังหวัดนครสวรรค์เรียกว่า “ผักปลาบ” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “หญ้าเลินแดง” จีนกลางเรียกว่า “หงเหมาเฉ่า สุ่ยจู่เฉ่า” คนทั่วไปเรียกว่า “ผักปลาบ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)

ลักษณะของกินกุ้งน้อย

กินกุ้งน้อย เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุปีเดียวที่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างขวางในเขตร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้นของโลก มักจะพบบริเวณพื้นที่ชื้นทั่วไป ริมคูคลอง ในพื้นที่นา สนามหญ้าที่ค่อนข้างชื้นแฉะและในดินทรายที่เป็นดินเค็ม
ลำต้น : ลำต้นกึ่งตั้งกึ่งเลื้อยและแตกออกเป็นกอเล็ก ๆ ลำต้นมีเนื้ออ่อนและมีขนาดเล็กเรียวทอดนอน บริเวณลำต้นจะแตกรากฝอยตามข้อและมีขนขึ้นทั่วไป
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอกแคบ ปลายใบเรียวแหลม ผิวใบค่อนข้างเกลี้ยง หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเป็นสีม่วง กาบใบมีขนขึ้นปกคลุม
ดอก : ออกดอกเป็นกระจุกตามปลายยอดและซอกใบ ช่อดอกแตกแขนงเป็นช่อย่อย 2 – 3 ช่อ ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 1 – 3 ดอก ดอกเป็นสีม่วงหรือสีฟ้าอ่อน มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ เป็นสีม่วง ปลายกลีบเลี้ยงเป็นสีแดงเข้ม มีกลีบดอก 3 กลีบ เป็นสีม่วงสดและมีขนาดเล็ก ตรงกลางดอกจะมีเกสรเพศผู้ 6 อัน โดยมี 4 อันที่เป็นหมันนั้นจะมีสีเหลืองสด และอีก 2 อันไม่เป็นหมันจะมีสีม่วง ก้านชูอับเรณูมีปุยขนยาวสีม่วง รังไข่มี 3 ช่อง ปลายก้านเกสรเพศเมียเป็นกระเปาะ 2 พู มักจะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝน
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปวงรีคล้ายไข่หรือค่อนข้างกลม ผลเป็นสีเขียวอ่อน ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลแก่จะแห้งและแตกออกเป็น 3 พู ผลจะเริ่มแก่ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 2 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม ผิวเมล็ดย่นหรือขรุขระเป็นร่องและเป็นหลุม

สรรพคุณของกินกุ้งน้อย

  • สรรพคุณจากทั้งต้น ดีต่อปอดและลำไส้ เป็นยาขับพิษ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับพิษร้อนในปอด แก้ไอเป็นเลือด รักษาลำไส้อักเสบเฉียบพลัน
    – แก้โรคบิดและป้องกันการเป็นหมัน ชาวนิวกินีนำน้ำคั้นจากทั้งต้นมาดื่ม
  • สรรพคุณจากลำต้น ชาวไต้หวันใช้เป็นยาแก้ไข้และลดไข้ เป็นยาลดอาการปวดบวม
    – แก้เจ็บคอ คออักเสบหรือทอนซิลอักเสบ ด้วยการนำต้นสดครั้งละ 20 – 40 กรัม มาคั้นเอาน้ำหรือต้มเพื่อดื่ม
    – แก้โรคบิดและป้องกันการเป็นหมัน ชาวนิวกินีนำน้ำคั้นจากลำต้นมาดื่ม
    – ล้างบาดแผลและใช้ล้างแผลที่เรื้อรัง ด้วยการนำลำต้นมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำมาล้างแผล
    – รักษาโรคเรื้อน ด้วยการนำลำต้นมาต้มในน้ำมัน
  • สรรพคุณจากราก ชาวอินโดจีนใช้เป็นยาแก้ไข้ในเด็กและแก้บิดหรือแก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย
  • สรรพคุณจากใบสด
    – รักษาฝีที่เต้านม รักษาแผลแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่มีอาการ
    – พอกแผลและพอกบาดแผลเพื่อแก้ปวด ชาวมาเลเซียนำใบสดมาตำเอากากแล้วพอก
    – รักษาจุดด่างที่เกิดจากเชื้อรา ด้วยการนำใบมาย่างไฟให้ร้อนแล้วถู

ประโยชน์ของกินกุ้งน้อย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดใช้รับประทานเป็นผักได้
2. ใช้ในการเกษตร เป็นแหล่งอาหารของโคกระบือ

โทษของกินกุ้งน้อย

เป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูพืชปลูกหลายชนิด เช่น ไส้เดือนฝอยชนิด Meloidogyne sp., Pratylenchus pratensis (de Man) Filip., เชื้อราชนิด Pythium arrhenomanes Drechs. และเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคใบด่างในพืชพวกแตงและขึ้นฉ่าย

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกินกุ้งน้อย

ทั้งต้นของกินกุ้งน้อยพบสารอัลคาลอยด์และ Coumarins อยู่ภายในต้น

กินกุ้งน้อย เป็นวัชพืชที่มีประโยชน์และโทษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นอาหารของสัตว์แทะเล็มแต่ก็เป็นที่อยู่ของพวกศัตรูพืชทั้งหลาย เป็นต้นที่มักจะพบในที่ชุ่มชื้นหรือปลายฤดูฝน เป็นต้นเล็ก ๆ ที่มีดอกสีม่วงหรือสีฟ้าอ่อนขึ้นอย่างสวยงาม มักจะนำยอดมารับประทานในรูปแบบของผัก กินกุ้งน้อยเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนโดยเฉพาะส่วนของลำต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคบิดและป้องกันการเป็นหมัน แก้ไข้ รักษาแผล รักษาลำไส้อักเสบเฉียบพลัน รักษาคออักเสบหรือทอนซิลอักเสบ ถือเป็นพืชที่เหมาะสำหรับบุคคลที่อยากมีลูกซึ่งจะช่วยป้องกันโรคหมันได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “กินกุ้งน้อย”. หน้า 86.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กินกุ้งน้อย”. หน้า 64-65.
สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “กินกุ้งน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [15 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กินกุ้งน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [15 มิ.ย. 2015].