ถอบแถบเครือ เป็นยาบำรุงกำลัง แก้พิษตานซาง แก้ไข้และเป็นยาระบาย
ถอบแถบเครือ เป็นไม้เถาเลื้อย มีดอกเป็นสีขาวอมน้ำตาล ยอดอ่อนมีรสฝาด

ถอบแถบเครือ

ถอบแถบเครือ (Connarus semidecandrus Jack) เป็นไม้เถาเลื้อยที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีดอกเป็นสีขาวอมน้ำตาลซึ่งเป็นสีที่ค่อนข้างหาได้ยาก ยอดอ่อนมีรสฝาดจึงสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกได้ ถอบแถบเครือนั้นสามารถนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาสมุนไพรโดยรากและเปลือกนั้นมีรสเบื่อเอียน ถือเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาที่ดีต่อร่างกายของเด็ก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของถอบแถบเครือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Connarus semidecandrus Jack
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กะลำเพาะ จำเพาะ ทอบแทบ” ภาคเหนือเรียกว่า “ขางขาว ขางแดง ขางน้ำครั่ง ขี้อ้ายเครือ” ภาคใต้เรียกว่า “ลาโพ หมากสง” ภาคตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่า “ตองตีน ลำเพาะ ไม้ลำเพาะ” จังหวัดเชียงรายเรียกว่า “เครือไหลน้อย” จังหวัดหนองคายเรียกว่า “เครือหมาว้อ” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “บบเจ่ยเพย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถอบแถบ (CONNARACEAE)

ลักษณะของถอบแถบเครือ

ถอบแถบเครือ เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดเล็กถึงใหญ่พาดพันต้นไม้อื่น มักจะพบตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ ป่าแพะ ตามริมฝั่งแม่น้ำและตามที่รกร้างว่างเปล่า
เปลือกต้น : เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ผิวเปลือกเป็นตุ่มเล็ก ถั่วทั้งเถา ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 3 – 7 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปวงรียาวหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือสอบแคบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาและมันคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเรียบลื่นและเป็นมัน มีสีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบเป็นมัน เส้นใบมีประมาณ 4 – 12 คู่
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกมีขนสีน้ำตาลปนเหลืองหรือสีสนิมเหล็ก ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นหอกหรือรูปขอบขนานแคบ ด้านนอกเกลี้ยง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เป็นสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปวงรี ปลายทู่หรือแหลม ด้านนอกมีขนนุ่มส่วนด้านในเกลี้ยง ดอกมีเกสรยื่นออกมาจากดอก เมื่อบานจะเป็นสีขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีขาวแกมน้ำตาล มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ผล : ผลมีลักษณะเป็นกระเปาะรูปทรงกระบอกเบี้ยวและสั้น มีสันเล็กน้อยและไม่มีเนื้อ มีกลีบเลี้ยงติดคงทน เปลือกผลบาง ผิวผลด้านนอกเรียบเกลี้ยงส่วนด้านในจะมีขนนุ่มและโคนสอบเข้าหาก้าน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม เมื่อผลแก่จัดจะแตกออกเป็น 2 ซีก ออกผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำมีเยื่อหุ้มสีเหลืองอมส้มที่โคนเมล็ด

สรรพคุณของถอบแถบเครือ

  • สรรพคุณจากเครือ
    – เป็นยาบำรุงกำลัง ด้วยการนำเครือมาต้มกับน้ำดื่ม
    สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาแก้พิษตานซาง เป็นยาถ่ายเสมหะ เป็นยาระบาย เป็นยาขับพยาธิ
    สรรพคุณจากรากและทั้งต้น
    – แก้ไข้ ด้วยการนำรากและทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาระบาย
    – รักษาโรคเจ็บหน้าอก ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – แก้ท้องผูก ด้วยการนำใบมา 3 ใบ ใส่เกลือต้มให้เด็กกินเล็กน้อยเป็นยา
    – ล้างแผลที่เกิดจากน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำล้างแผล
  • สรรพคุณจากเปลือก
    – แก้ปวดท้อง ด้วยการนำเปลือกมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก
    – แก้หิด ด้วยการนำรากมาตำแล้วพอก

ประโยชน์ของถอบแถบเครือ

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนมีรสมันฝาดเล็กน้อยจึงนำมาทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ก้อยหรือนำมาลวกต้มทานร่วมกับน้ำพริกได้

ถอบแถบเครือ เป็นต้นที่นิยมนำยอดอ่อนมารับประทานซึ่งมีรสฝาดเล็กน้อยและนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรแก้อาการต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายใน เป็นต้นที่โดดเด่นในเรื่องของการบำรุงกำลังให้ร่างกาย สามารถนำส่วนต่าง ๆ มาใช้เป็นยาได้ทั้งต้นยกเว้นส่วนของผล ถอบแถบเครือมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุงกำลัง แก้พิษตานซาง แก้ไข้และเป็นยาระบาย เป็นต้นที่เหมาะสำหรับเด็กที่มีร่างกายไม่แข็งแรงหรือท้องผูกเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ถอบแถบเครือ (Thopthaep Khruea)”. หน้า 135.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ถอบแถบเครือ”. หน้า 118.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ถอบแถบเครือ”. หน้า 324-325.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ถอบแถบเครือ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [15 ธ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/