ตะค้านเล็ก เครื่องเทศคล้ายพริกไทย มีรสเผ็ดร้อน บำรุงกำลังและแก้ไข้ได้
ตะค้านเล็ก เป็นไม้เถา ลักษณะกลมเหมือนเม็ดพริกไทย นำมาปรุงรสเพื่อเพิ่มความเผ็ดให้กับอาหารเช่นเดียวกับพริกไทย

ตะค้านเล็ก

ตะค้านเล็ก (Piper ribesioides Wall) เป็นไม้เถาที่อยู่ในวงศ์พริกไทย เป็นชื่อที่ไม่ค่อยได้ยินแต่เถาของตะค้านเล็กสามารถนำมาปรุงรสเพื่อเพิ่มความเผ็ดให้กับอาหารได้เช่นเดียวกับพริกไทย มีผลขนาดเล็กและลักษณะกลมเหมือนเม็ดพริกไทย สามารถนำส่วนของต้นมาใช้ประโยชน์ทางยาได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของตะค้านเล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper ribesioides Wall.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ตะค้านหยวก” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “จะขัด จะค้าน จัดค่าน จั๊กค่าน ตะค้าน สะค้าน หนาม หนามแน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)

ลักษณะของตะค้านเล็ก

ตะค้านเล็ก เป็นไม้เถาขนาดกลางเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น
เถา : เนื้อเถามีหน้าตัดเป็นรัศมี เปลือกเถาค่อนข้างอ่อนและมีเนื้อสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปแกมวงรี ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือเป็นรูปหัวใจ แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อยาวห้อยลงตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กมาก เรียงอัดกันแน่นบนแกนช่อดอก
ผล : ผลเป็นผลสดขนาดเล็ก มีลักษณะกลม

สรรพคุณของตะค้านเล็ก

  • สรรพคุณจากเถา เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ เป็นยาประจำธาตุลม เป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้ผายลมและเรอ แก้จุกเสียดแน่น
  • สรรพคุณจากผล บำรุงธาตุ แก้ลมแน่นในอก
  • สรรพคุณจากใบ แก้ธาตุพิการ แก้ลมในกองเสมหะเลือด เป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้ผายลมและเรอ แก้จุกเสียดแน่น
  • สรรพคุณจากดอก แก้ลมอัมพฤกษ์และลมปัตคาดที่เกิดจากพิษพรรดึก
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้หืด

ประโยชน์ของตะค้านเล็ก

เป็นส่วนประกอบของอาหาร เถาหรือลำต้นใช้เป็นเครื่องเทศเพิ่มความเผ็ดร้อนให้อาหาร ทำให้อาหารมีกลิ่นหอมและดับกลิ่นคาวได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตะค้านเล็ก

พบสาร (+)-3,7-dimethyl-3-hydroxy-4-( P-coumaryloxy)-1,6-octadiene, beta-sitosterol, lignans (-)-hinokinin and (-)-cubebin, methyl piperate, methyl 2 E,4 E,6 E-7-phenyl-2,4,6-heptatrienoate, N-isobutyl-2 E,4 E-dace-2,4-dienamide, palmitic acid, stearic acid

ตะค้านเล็ก ใบและดอกมีรสเผ็ดร้อน ผลมีรสร้อนเหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องเทศแทนพริกไทยได้ และยังมีสรรพคุณทางยาที่ดีต่อร่างกายด้วย นอกจากนั้นยังช่วยดับกลิ่นคาวและเพิ่มความหอมให้กับอาหาร ตะค้านเล็กมีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดแน่นและแก้ไข้ได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ตะค้านเล็ก”. หน้า 113.
การศึกษาอนุกรมวิธานของพืชสมุนไพรและพืชมีพิษในอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ตะค้านเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pirun.kps.ku.ac.th/~b4916098/. [20 ธ.ค. 2014].
มุมสมุนไพร, ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดลำพูน. “สะค้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.haec05.doae.go.th. [20 ธ.ค. 2014].