เปล้าใหญ่
เปล้าใหญ่ หรือ ต้นเปล้าหลวง เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก เป็นไม้ที่ผลัดใบ มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 8 เมตร มักจะพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ที่มีความสูงไม่เกิน 950 เมตร รู้จักกันในชื่อทางวิทยาศาสตร์ Croton persimilis Müll.Arg. และมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Croton oblongifolius Roxb., Croton roxburghii N.P.Balakr., Oxydectes oblongifolia Kuntze, Oxydectes persimilis (Müll.Arg.) Kuntze จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เปาะ (กำแพงเพชร), ควะวู (กาญจนบุรี), เปล้าหลวง (ภาคเหนือ), เซ่งเค่คัง สะกาวา สกาวา ส่ากูวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ห้าเยิ่ง (ชาน-แม่ฮ่องสอน), คัวะวู, เปวะ เป็นต้น โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ ภูมิภาคอินโดจีน พม่า และในประเทศไทย โดยจะสามารถพบได้ในทุกภาคยกเว้นในภาคใต้ มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง[9]
ลักษณะของเปล้าใหญ่
- ต้น จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก เป็นไม้ที่ผลัดใบ มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 8 เมตร เปลือกลำต้นมีผิวเรียบ เป็นสีน้ำตาล มีรอยแตกบ้างเล็กน้อย ตรงกิ่งก้านจะค่อนข้างใหญ่ ตามใบอ่อน ยอดอ่อน และช่อดอกนั้น จะมีเกล็ดสีเทาแผ่นเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป
- ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือใบเป็นรูปใบหอก ใบรียาว มีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-30 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบจะจักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ลักษณะใบจะลู่ลง ใบตอนอ่อนจะเป็นสีน้ำตาล ส่วนใบเมื่อแก่จะค่อนข้างเกลี้ยง หลังใบมีผิวเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนไม่มากนัก ใบตอนแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มก่อนจะร่วงหล่นลงมา ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.3-6 เซนติเมตร และฐานใบมีต่อมอยู่ 2 ต่อม[1]
- ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีหลายช่อ ช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 12-22 เซนติเมตร ลักษณะตั้งตรง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกันหรือแยกต้นกัน ดอกย่อยจะมีขนาดเล็ก ส่วนกลีบดอกจะมีสีเหลืองแกมสีเขียว ดอกนั้นจะทยอยบานจากโคนช่อไปหาที่ปลายช่อ โดยดอกเพศผู้จะเป็นสีขาวใส มีกลีบดอกสั้นอยู่จำนวน 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกนั้นจะติดกัน มีกลีบเลี้ยงที่เป็นรูปขอบขนานกว้าง ๆ อยู่ 5 กลีบ หลังกลีบเลี้ยงจะมีเกล็ดสีน้ำตาล โดยกลีบดอกจะมีความยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง และมีขนอยู่อย่างหนาแน่น ตรงที่ฐานดอกมีต่อมลักษณะกลม ๆ อยู่ 5 ต่อม มีเกสรเพศผู้ 12 อัน มีผิวเกลี้ยง ส่วนดอกเพศเมียจะมีสีเหลืองแกมเขียว มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ กลีบเล็ก ลักษณะเป็นรูปยาวแคบ ตรงขอบกลีบมีขน ที่ตรงโคนกลีบดอกจะติดกัน ปลายกลีบดอกจะแหลม กลีบเลี้ยงมีลักษณะคล้ายเป็นรูปขอบขนาน และรังไข่เป็นรูปขอบขนาน มีเกล็ด[1] โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[2],[3]
- ผลอ่อนเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่ผลจะแห้งและแตก ลักษณะผลจะเป็นรูปทรงกลมแบน มีพู 3 พู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ด้านบนแบน มีเกล็ดเล็กห่างกัน ในผลมีเมล็ดลักษณะแบนรี ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร[1],[9] จะมีการติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[2],[3]
สรรพคุณของเปล้าใหญ่
1. ช่วยในการบำรุงโลหิต (เปลือกต้นและใบ)[1],[5]
2. ใบนำไปใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ใบ)[1]
3. ใบมีรสชาติร้อน เมาเอียน นำมาใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ใบ)[1],[5]
4. สามารถช่วยแก้กระหายได้ (ใบ)[1]
5. สามารถช่วยแก้อาการร้อนในได้ (ราก)[1]
6. ใช้ช่วยแก้เสมหะ (ใบ)[1]
7. ใช้ช่วยแก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย (แก่น)[1]
8. มีฤทธิ์ช่วยขับลม และกระจายลม (ราก)[1]
9. ใบนำไปใช้เข้าเครื่องยาแก้อาการปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ[3] และช่วยแก้ลมจุกเสียด (ใบ)[1]
10. ใช้ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้นและใบ)[1],[5]
11. ใช้ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)[1]
12. มีฤทธิ์ช่วยแก้อาการวิงเวียน ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยการใช้ใบเข้ายากับใบหนาด ตะไคร้หอม และเครือส้มลม ใช้ต้มกับน้ำดื่มและอาบ (ใบ)[1]
13. ใช้ช่วยแก้เลือดร้อน (เปลือกต้นและกระพี้)[1]
14. น้ำต้มเปลือกต้นนำมาใช้ทานเป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)[1]
15. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการปวดท้อง และถ่ายเป็นมูกเลือดได้ (ราก)[1]
16. เปลือกต้นและกระพี้มีรสร้อน เมาเย็น จะนำมาใช้เป็นยาช่วยในการย่อยอาหาร (เปลือกต้นและกระพี้)[1],[5]
17. เมล็ดนำมาใช้เป็นยาถ่าย (เมล็ด)[1]
18. ดอกมีรสร้อนใช้เป็นยาขับพยาธิ (ดอก)[1],[5] ส่วนแก่นนั้นจะใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน (แก่น)[1]
19. ผลมีรสที่ร้อน เมาเอียน มักใช้ดองกับสุราดื่มเป็นยาขับเลือดหลังคลอด ใช้ช่วยขับน้ำคาวปลา (ผล)[1],[5]
20. น้ำต้มใบจะนำมาใช้ชำระล้างบาดแผล (ใบ)[1]
21. รากนำมาใช้แก้โรคผิวหนังผื่นคัน แก้น้ำเหลืองเสีย รักษาโรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด และมีฤทธิ์ที่ทำให้น้ำเหลืองแห้ง (ราก)[1]
22. เนื้อไม้มีส่วนช่วยในการแก้ริดสีดวงลำไส้และริดสีดวงทวารหนัก (เนื้อไม้)[1]
23. น้ำต้มเปลือกต้นนำมาใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบ (เปลือกต้น)[1]
24. ใช้ช่วยรักษาโรคในทางเดินปัสสาวะ (ราก)[1]
25. แก่นมีรสร้อน เมาเย็น ใช้ช่วยขับเลือด (แก่น)[1]
26. รากใช้ต้มกินแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือจะใช้ต้นผสมกับรากส้มลม ต้นมะดูก ต้นเล็บแมว ต้นตับเต่าโคก ต้นมะเดื่ออุทุมพร ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นกำจาย และต้นกะเจียน นำมาต้มเป็นน้ำดื่มก็ได้ (ต้น, ราก)[1],[4]
27. น้ำต้มเปลือกต้นนำมาใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดข้อ และอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ (เปลือกต้น)[1]
28. ใบใช้ต้มน้ำอาบ ช่วยในการแก้ผดผื่นคัน และแก้อาการคันตามตัว (ใบ)[1]
29. ใช้ช่วยขับหนองให้ตก (แก่น)[1]
30. ใบเอามาย่างไฟรองนอนสำหรับคนที่รถล้ม จะช่วยแก้อาการฟกช้ำได้ (ใบ)[3]
31. รากนำมาใช้ต้มกับน้ำดื่มกินแก้โรคเหน็บชา (ราก)[1]
32. ใบนำมาต้มกับน้ำอาบสำหรับสตรีหลังคลอด (ใบ)[2] หรือใช้กิ่ง ใบ และลำต้น เอามาต้มกับน้ำอาบไว้สำหรับสตรีหลังคลอดบุตร จะช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น (กิ่ง, ใบ, ต้น)[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเปล้าใหญ่
1. สารสกัดของลำต้นด้วยแอลกอฮอล์ 50% พบว่ามีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่มแทนนินส์ ทั้งที่เป็น Condensed tannins และ Hydrolysable tannins ในปริมาณที่ไม่สูงมากนัก มีสารฟลาโวนอยด์ประเภท Anthocyanidin, Catechin, Dihydroflavonol, Flavonol, Hydroflavonoids และ Leucoanthocyanidin[3]
2. สารสกัดจากลำต้นยังมีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง (EC50 = 36.05มก./มล.) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก (ที่ความเข้มข้น 8 มก./มล.) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ที่ทำให้เกิดโรคแผลฝีหนองและเชื้อ V. cholerae ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอหิวาตกโรค (ที่ความเข้มข้น 3.125 มก./มล.) มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย S. mutans ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก (ที่ความเข้มข้น 0.39 มก./มล.) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Shigella ที่ทำให้เกิดโรคบิด (ที่ความเข้มข้น 12.5 มก./มล.) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสโรคเริม Herpes simplex virus type 1 (IC50 = 40.06 มก./มล.) มีฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดทีเซลล์และบีเซลล์ (ที่ความเข้มข้น 3.13-200 มก./มล.) มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งตับปานกลาง (IC50 = 378.4±18.7 มก./มล.) โดยพบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติบ้าง แต่ไม่พบผลว่าจะสามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งตับตายแบบอะพอพโทซิสเมื่อเซลล์ได้รับสารสกัดนาน 1 วัน[3]
3. สารสกัดไม่มีฤทธิ์ในการก่อกลายพันธุ์ ทั้งในสภาวะที่มีและไม่มีเอนไซม์ แต่สามารถลดฤทธิ์ในการก่อกลายพันธุ์ของสารมาตรฐานที่ทำการทดสอบได้เป็นอย่างดี เมื่อมีการทำงานของเอนไซม์ในตับร่วมด้วย โดยมีค่า IC50 = 5.78 และ 4.04 มก./plate[3]
ประโยชน์ของเปล้าใหญ่
1. ผลอ่อนจะนำมาใช้ย้อมผ้า[1]
2. ผลแก่จะนำมาใช้รับประทาน[1]
3. น้ำยางจากใบจะนำมาใช้ทาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ริมฝีปากในช่วงฤดูหนาว[4]
4. นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนต้นใช้เลี้ยงครั่ง[8]
5. สามารถนำมาใช้เข้ายาอบสมุนไพร ซึ่งเป็นตำรับยาอบสมุนไพรสูตรบำรุงผิวพรรณให้มีความมีน้ำมีนวล ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยในการทำให้ร่างกายผ่อนคลาย แก้อาการปวดเมื่อย แก้ผดผื่นคัน ช่วยขับพิษออกทางผิวหนัง โดยมีใบเป็นส่วนประกอบ และมีสมุนไพรอื่น ๆ อีก คือ กระชาย ขมิ้นชัน ตะไคร้ ไพล ใบมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใบหนาด และว่านน้ำ แต่ไม่ควรที่จะใช้ตำรับยานี้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง สตรีตั้งครรภ์ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี ผู้ที่ไม่สบาย ร่างกายอ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร เป็นไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และผู้ที่เป็นโรคไต[7]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เปล้าใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [14 ธ.ค. 2013].
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “เปล้าใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [14 ธ.ค. 2013].
3. โครงการจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพรที่สำรวจและวิจัยภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น. สำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “เปล้าใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: orip.kku.ac.th/thaiherbs/. [14 ธ.ค. 2013].
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Croton roxburghii N.P. Balakr.”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [14 ธ.ค. 2013].
5. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เปล้าใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri. [14 ธ.ค. 2013].
6. ฐานข้อมูลสมุนไพร ในฐานสมุนไพรแม่โจ้ (ชีวกโกมารภัจจ์) ในสวนพฤกษศาสตร์กล้วยไม้ร้อยปีสมเด็จย่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้. “รายงานแสดงลักษณะของพืชสมุนไพร มหาวิทยาลัยแม่โจ้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.mmp.mju.ac.th . [14 ธ.ค. 2013].
7. มูลนิธิสุขภาพไทย. “อบสมุนไพรบำรุงผิวพรรณ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [14 ธ.ค. 2013].
8. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เปล้าใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [14 ธ.ค. 2013].
9. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เปล้าหลวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [14 ธ.ค. 2013].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://efloraofindia.com/2013/04/07/croton-persimilis/
2.https://biodiversity.bt/observation/show/710566