ตะไคร้ สมุนไพรกลิ่นหอมละมุน ช่วยบำรุงร่างกายและไล่ยุงได้
ตะไคร้ เป็นสมุนไพรที่สำคัญอย่างมากต่อคนไทย มีลักษณะเป็นกอ กาบนอกสีเขียวและกาบในสีขาว ปลายใบแหลมสีเขียว มีกลิ่นหอมละมุน

ตะไคร้

ตะไคร้ (Lemon-grass) เป็น สมุนไพรที่สำคัญอย่างมากต่อคนไทย มีการนำตะไคร้มาใช้ประโยชน์มาตั้งแต่โบราณ เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยามากมาย มีกลิ่นหอมละมุน จึงนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ใช้ไล่ยุง และนำมาทำเป็นน้ำตะไคร้เพื่อสุขภาพ เป็นพืชสมุนไพรที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีประโยชน์มากมายต่อร่างกายและช่วยแก้พิษต่าง ๆ ได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของตะไคร้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon citratus (DC.) Stapf
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Lemongrass” และ “Lapine”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “จะไคร้” ภาคใต้เรียกว่า “ไคร” กลุ่มกบฏเงี้ยวและจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “คาหอม” ชาวกะเหรี่ยงและจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ห่อวอตะไป่” ประเทศเขมรและจังหวัดปราจีนบุรีเรียกว่า “หัวสิงโต” คนทั่วไปเรียกว่า “ตะไคร้แกง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)

ลักษณะของตะไคร้

ตะไคร้ เป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา พม่า อินเดีย ไทย ในทวีปอเมริกาใต้ และคองโก ตะไคร้แบ่งออกเป็น 6 ชนิด ดังนี้

  • ตะไคร้กอ : ขึ้นเป็นกอ มีกาบใบที่เรียงอัดซ้อนกัน กาบนอกสีเขียวและกาบในสีขาว ปลายใบแหลมสีเขียว ดอกขนาดเล็กสีน้ำตาลแต่ออกดอกยากมาก
  • ตะไคร้ต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบเป็นใบเลี้ยงคู่ หลังใบสีเขียวและท้องใบมีสีขาวนวล เมื่อออกดอกใบจะกลายเป็นสีเหลืองและจะหลุดร่วงไป ดอกมีลักษณะเป็นช่อสั้น ๆ รวมกันเป็นกระจุกที่ซอกใบ มีสีขาวนวลหรือสีครีมและมีกลิ่นหอม ผลมีลักษณะกลมสีเขียว เมื่อแก่จัดเป็นสีม่วงเข้ม ผลมีกลิ่นหอมแรง รากเป็นระบบรากแก้ว
  • ตะไคร้หางนาค : เป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยวเรียวสลับกัน ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็กใต้เส้นกลางใบ ผลเป็นรูปแคปซูลลักษณะกลม มีเมล็ด 3 เมล็ด
  • ตะไคร้น้ำ : เป็นไม้ยืนต้นหรือลำต้นแตกออกมาเป็นกอ ต้นมีลักษณะกลม รากเป็นฝอยรวมกันเป็นกระจุกใหญ่ ใบแคบและยาวสีเขียว
  • ตะไคร้หางสิงห์ : เป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยวเรียงสลับกันรูปขอบขนาน ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ มีสีขาวนวล ผลเป็นรูปทรงกลม
  • ตะไคร้หอม : เป็นพืชล้มลุกที่มีกลิ่นหอม มีทรงพุ่มเป็นกอ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักถี่ ใบแข็งและมีผิวใบสาก ปลายใบยาวมีลักษณะโน้มลง ใบมีสีเขียวแกมเหลือง กาบใบเป็นส่วนหุ้มที่มองเป็นลำต้นเทียม มีสีเขียวแกมแดงหรือสีม่วง ออกดอกเป็นช่อยาวขนาดใหญ่

สรรพคุณของตะไคร้

  • สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต้นตะไคร้บำรุงธาตุไฟ ขับเหงื่อ เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยดับร้อนและแก้กระหาย
  • สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยขับน้ำดีในการย่อยอาหาร ช่วยในการขับปัสสาวะ รักษาอหิวาตกโรค ต้นช่วยให้เจริญอาหาร สารสกัดจากตะไคร้มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รากแก้อาการปวดท้องและอาการท้องเสีย หัวตะไคร้รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการขัดเบา แก้อาการปัสสาวะพิการและรักษาโรคนิ่ว น้ำมันหอมระเหยลดการบีบตัวของลำไส้
  • สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ บรรเทาอาการหวัดและอาการไอ บรรเทาอาการปวดท้อง แก้อาการปวดศีรษะ ใบสดรักษาอาการไข้ รากเป็นยาแก้ไข้เหนือและแก้อาการเสียดจุกหรือแน่นแสบบริเวณหน้าอก น้ำมันหอมระเหยบรรเทาอาการปวดและต้านเชื้อราบนผิวหนัง หัวตะไคร้แก้อาเจียนเมื่อนำไปใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น เป็นยารักษาเกลื้อน แก้อาการกษัยเส้นและแก้ลมใบ ต้นรักษาอาการหอบหืดและแก้ขับลม
  • สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย ใบสดรักษาความดันโลหิตสูง
  • สรรพคุณด้านป้องกันโรค หัวตะไคร้แก้โรคลมอัมพาต แก้โรคหนองในหากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น
  • สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงและรักษาสายตา บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
  • สรรพคุณด้านสมองและการคลายเครียด บำรุงสมองและเพิ่มสมาธิ ช่วยในการนอนหลับ บำรุงระบบประสาท
  • สรรพคุณด้านความงาม ต้นแก้ปัญหาผมแตกปลาย บำรุงผิว

ประโยชน์ของตะไคร้

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารอย่างต้มยำและอาหารไทยอื่น ๆ แปรรูปเป็นน้ำตะไคร้ ทำเป็นเครื่องปรุงอบแห้ง ตะไคร้แห้งสำหรับชงดื่ม สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย
2. เป็นส่วนประกอบของยา ทำเป็นยานวดได้
3. ประโยชน์ของกลิ่นตะไคร้ สารระงับกลิ่น ช่วยป้องกันแมลง ไล่ยุงและกำจัดยุง ต้นช่วยดับกลิ่นคาวหรือกลิ่นคาวของปลา เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์จำพวกยากันยุงชนิดต่าง ๆ

วิธีทำน้ำตะไคร้หอม

1. นำตะไคร้ 1 ต้น มาล้างให้สะอาด แล้วนำมาหั่นเป็นท่อน ๆ จากนั้นทุบให้แตก
2. ต้มน้ำเปล่า 240 กรัม ให้เดือด แล้วใส่ตะไคร้ลงไป รอจนกระทั่งน้ำออกมาเป็นสีเขียว
3. ปิดเตาแล้วยกลง จากนั้นกรองเอาตะไคร้ออกแล้วเติมน้ำเชื่อม 15 กรัม ทำการคนแล้วดื่มได้ทันที

วิธีทำน้ำตะไคร้ใบเตย

1. นำตะไคร้ 2 ต้น มาทุบให้แหลกพอประมาณ แล้วใช้ใบเตย 3 ใบ มัดตะไคร้ไว้ให้เป็นก้อน
2. ใส่ตะไคร้และใบเตยลงไปในหม้อแล้วเติมน้ำ 1 – 2 ลิตร ต้มให้เดือดสักประมาณ 5 นาที
3. ใส่น้ำตาลแดง 2 ช้อนชา หรือไม่ใส่ก็ได้ สามารถเติมน้ำต้มใหม่ได้ 2 – 3 รอบ

คุณค่าทางโภชนาการของตะไคร้ขนาด 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของตะไคร้ขนาด 100 กรัม ให้พลังงาน 143 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
โปรตีน 1.2 กรัม
ไขมัน 2.1 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 29.7 กรัม
เส้นใย 4.2 กรัม
แคลเซียม 35 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม
เหล็ก 2.6 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 43 ไมโครกรัม 
ไทอามีน 0.05 มิลลิกรัม
ไรโบฟลาวิน 0.02 มิลลิกรัม
ไนอาซิน 2.2 มิลลิกรัม
วิตามินซี 1 มิลลิกรัม
เถ้า 1.4 กรัม

ตะไคร้ เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่สำคัญต่อคนไทยมานาน ในสมัยก่อนมักจะนำตะไคร้มาทุบใช้ไล่ยุงและนำมาปรุงรสอาหาร สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ บรรเทาอาการปวดต่าง ๆ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบย่อยอาหารและไล่ยุง ในปัจจุบันมีการนำตะไคร้มาใช้ในรูปแบบของน้ำดื่มสุขภาพมากกว่ารูปแบบอื่น ๆ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม