ต้นปรงป่า พรรณไม้โบราณอายุยืนปลูกเป็นไม้ประดับ

0
1674
ต้นปรงป่า
ต้นปรงป่า พรรณไม้โบราณอายุยืนปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นไม้พุ่ม โคนต้นป่องเล็กน้อย มีหัวใต้ดิน ปลายใบแข็งเป็นหนาม ผิวผลเกลี้ยงสีน้ำตาล ไม่มีขน
ต้นปรงป่า
พรรณไม้โบราณอายุยืนปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นไม้พุ่ม โคนต้นป่องเล็กน้อย มีหัวใต้ดิน ปลายใบแข็งเป็นหนาม ผิวผลเกลี้ยงสีน้ำตาล ไม่มีขน

ต้นปรงป่า

ต้นปรงป่า เป็นพรรณไม้ที่อยู่ตามภูเขา หรือในป่าโปร่งมีแสงแดดส่องถึงพืชชนิดนี้เมื่ออายุเยอะจะมีลำต้นสูงใบที่แผ่ออกด้านข้างรอบลำต้น พบได้ทั่วไปกระจายอยู่ทั้งในประเทศไทย ลาว พม่า เวียดนาม และจีนตอนใต้ ในประเทศไทยนั้นพบได้ทุกภาคยกเว้นทางภาคใต้ มีขึ้นหนาแน่นในป่าเบญจพรรณแล้งและป่าเต็งรังทั่วไป ที่ความสูงประมาณ 20 – 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ของปรงป่า Cycas siamensis Miq. จัดอยู่ในวงศ์ปรง (CYCADACEAE) นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผง (ภาคอีสาน), ตาลปัตรฤาษี, ผักกูดบก, มะพร้าวเต่า, ปรงเหลี่ยม, โกโล่โคดึ, ตาซูจืดดึ เป็นต้น

ลักษณะของปรงป่า

  • ต้นเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3 เมตร ลำต้นลักษณะเป็นข้อสั้น ๆ มีสีเทาดำ รูปทรงทรงกระบอก โคนต้นจะป่องเล็กน้อย มีหัวใต้ดินแบนแผ่ออก
  • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียนกันที่ปลายยอด ใบสีเขียวเป็นมัน ยาวประมาณ 60-90 เซนติเมตร ใบย่อยนั้นยาวลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ มีจำนวน 50-70 คู่ มีขนาดกว้างประมาณ 6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7.5-20 เซนติเมตร ปลายใบแข็งเป็นหนาม เส้นกลางใบนูนเห็นชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีหนามที่สัน[1],[2]
  • ดอก เป็นดอกแบบแยกเพศแยกอยู่กันคนละต้น ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อแน่น ๆ มีลักษณะเป็นรูปโคมยาวขอบขนาน มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร กาบดอกเป็นแผ่นแข็ง ขอบขนาน มีความยาวประมาณ 17 เซนติเมตร ด้านนอกเป็นรูปสามเหลี่ยม มีรยางค์แหลม ตรงปลายจะตั้งขึ้น ส่วนดอกเพศเมียจะแผ่ออกมาเป็นแผ่นคล้ายกาบ ขอบจักลึกคล้ายกับหนาม มีความยาวประมาณ 10-10.5 เซนติเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร มีขนเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นค่อนข้างหนา ส่วนตอนล่างมีไข่อ่อนติดอยู่ 1 คู่ ข้างละ 1 ใบ[1],[2]
  • ผล จะมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน มีสีน้ำตาล ผิวผลเกลี้ยง ไม่มีขน มีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร[1],[2]

สรรพคุณของปรงป่า

ผลแก่สุก นำมาทำให้สุก สามารถนำมาทำเป็นแป้งใช้ปรุงเป็นยาแก้ไขข้อเสื่อม หรือยาบำรุงไขข้อ (ผลแก่สุก)[1]

ข้อควรระวัง : ผลสุกสด ๆ และยอดใบอ่อน ไม่ควรนำมารับประทานเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้อาเจียน หัวใจสั่น มีความอันตรายต่อสุขภาพมาก[1]

ประโยชน์ของปรงป่า

1. เมล็ด จะมีแป้งที่สามารถนำมารับประทานได้[2]
2. ราก จะมีปมเป็นกิ่งแผ่ฝอยอยู่จึงสามารถจับไนโตรเจนในดินได้ดี[2]
3. นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[2]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ปรงป่า”. หน้า 107.
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ปรงป่า”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [28 พ.ย. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://housing.com/news/cycas-revoluta-sago-palm-tree/
2.https://www.flickr.com/photos/dinesh_valke/466154979