ถั่วแระ
ถั่วแระ เป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ของเกษตรกรสามารถผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศ เนื่องจากถั่วชนิดนี้ให้พลังงานสูงถึง 343 กิโลแคลอรี ต่อปริมาณ 100 กรัม และกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี กลายเป็นอาหารว่างยอดนิยมและถูกนำมาใช้ในอาหารเอเชียมาเป็นเวลานาน นอกจากรสชาติที่อร่อยแล้วยังมีประโยชน์ เช่น ลดอาการวัยทอง ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม ลดระดับคอเลสเตอรอล LDLที่สูง ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองได้
ชื่อสามัญ คือ Edamame ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cajanus cajan (L.) Millsp. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cajanus indicus Spreng.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) อยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วแรด (ชุมพร), มะแฮะ มะแฮะต้น ถั่วแระต้น (ภาคเหนือ), ถั่วแฮ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ถั่วแระ ถั่วแระผี ถั่วแม่ตาย (ภาคกลาง), พะหน่อเซะ พะหน่อซิ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), มะแฮะ (ไทลื้อ), ย่วนตูแฮะ (ปะหล่อง), เปล๊ะกะแลง (ขมุ), ถั่วแฮ อีกด้วย
ลักษณะของถั่วแระ
- ต้น เป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดย่อม มีอายุฤดูเดียวหรือหลายฤดู ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสูงประมาณ 1-3.5 เมตร กิ่งแผ่ออกด้านข้างเป็นคู่ ๆ ผิวของลำต้นไม่มีขน มีสีเขียวหม่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีทั้งขาวและแดง สามารถพบขึ้นได้ในที่โล่งแจ้งชายป่าเบญจพรรณ
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมี 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบย่อยจะแตกออกตามลำต้น หรือตามกิ่งประมาณ 3 ใบ ใบย่อยจะมีขนาดเล็กเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบแหลม คล้ายใบขมิ้นต้นหรือขมิ้นพระ ใบมีความกว้างประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-10 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีขน เป็นสีขาวนวล[1],[4]
- ดอก จะออกเป็นช่อกระจะคล้ายดอกโสน ดอกผลย่อยมีอยู่ประมาณ 8-14 ดอก โดยจะออกตามซอกใบ ดอกมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกสีเหลืองมีขอบสีน้ำตาลแดง ใบประดับมีขน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกมี 4-5 แฉก[1],[4]
- ผล มีลักษณะเป็นฝักแบนยาว มีสีม่วงเข้มปนเขียว เป็นห้อง ๆ และมีขน ฝักหนึ่งจะแบ่งออกเป็นห้อง 3-4 ห้อง ข้างในจะมีเมล็ดลักษณะกลมหรือแบนเล็กน้อย ห้องละ 1 เมล็ด มีขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วเหลือง สีของเมล็ดเป็นสีเหลือง ขาว และสีแดง[1],[4]
สรรพคุณของถั่วแระ
1. เมล็ด สามารถทานเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงไขข้อ บำรุงเส้นเอ็น หรือนำเมล็ดมาต้มรับประทานเป็นของกินเล่น ช่วยลดระดับคอเลสเตรอล ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต (เมล็ด)[2]
2. รากและเมล็ด สามารถใช้ปรุงเป็นยากินรักษาไข้ ถอนพิษ ขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะเหลืองหรือแดง แก้น้ำเหลืองเสีย รักษาน้ำเบาเหลืองและแดงดังสีขมิ้น หรือน้ำเบาออกน้อย ส่วนรากอย่างเดียว ตำรายาไทยจะใช้รากปรุงยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ ปัสสาวะแดงขุ่น ปัสสาวะน้อย ช่วยละลายนิ่วในไต(ราก, รากและเมล็ด)[1],[2],[4]
3. ใบ สามารถใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย รักษาบาดแผล แก้อาการไอ หรือนำมาคั้นน้ำใช้ใส่แผลในปากหรือหูได้ (ใบ)[2],[4]
4. ต้นและใบ สามารถใช้เป็นยาขับลมลงเบื้องต่ำ แก้เส้นเอ็นพิการ (ความผิดปกติของระบบเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ มักมีอาการเจ็บต่าง ๆ ปวดเมื่อยเสียวไปทุกเส้น ตามตัว ใบหน้า ถึงศีรษะ[2],[4]
5. ต้น ราก และใบ สามารถใช้เป็นยาขับผายลม (ต้น, ราก, ใบ)[2]
6. ทั้งฝัก มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกระดูก บำรุงเส้นเอ็น[4]
7. ทั้งต้น ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยารักษาอาการตกเลือด แก้ไข้ทับระดู [4]
ประโยชน์ของถั่วแระ
1. สามารถนำฝักมาตากแห้งแกะเอาเมล็ดออกมาใช้ปรุงเป็นอาหาร หรือนำไปขายเป็นสินค้าได้[1]
2. ชาวปะหล่อง ขมุ และกะเหรี่ยงเชียงใหม่ จะนำผลมารับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก[5]
3. ชาวปะหล่องจะถือว่ายอดอ่อนและดอกเป็นพืชที่ศักดิ์สิทธิ์ นำมาใช้ในการประพรมน้ำมนต์หรือใช้ในพิธีปลูกเสาเอกของบ้าน[5]
4. เป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ในการเลี้ยงแมลงครั่งได้ดี เพราะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนและกึ่งแห้งแล้ง ปลูกง่าย ทนแล้ง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี หลังจากปลูกแล้วจะให้ผลผลิตประมาณ 6-9 เดือน อีกทั้งเมล็ดยังให้โปรตีนสูง เจริญเติบโตแข่งกับพืชชนิดอื่นได้ดี และยังช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดินได้อีกด้วย[6]
5. มีการปลูกเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยลดการพังทลายของหน้าดินจากน้ำฝน ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งที่ราบและที่ลาดชัน[6]
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ด 100 กรัม พลังงาน 343 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 62.78 กรัม |
ใยอาหาร | 15 กรัม |
ไขมัน | 1.49 กรัม |
โปรตีน | 22.7 กรัม |
วิตามินบี 1 | 0.643 มิลลิกรัม (56%) |
วิตามินบี 2 | 0.187 มิลลิกรัม (16%) |
วิตามินบี 3 | 2.965 มิลลิกรัม (20%) |
วิตามินบี 5 | 1.266 มิลลิกรัม (25%) |
วิตามินบี 6 | 0.283 มิลลิกรัม (22%) |
วิตามินบี 9 | 456 ไมโครกรัม (114%) |
วิตามินซี | 0 มิลลิกรัม (0%) |
วิตามินอี | 0 มิลลิกรัม (0%) |
วิตามินเค | 0 ไมโครกรัม (0%) |
แคลเซียม | 130 มิลลิกรัม (13%) |
ธาตุเหล็ก | 5.23 มิลลิกรัม (40%) |
แมกนีเซียม | 183 มิลลิกรัม (52%) |
แมงกานีส | 1.791 มิลลิกรัม (85%) |
ฟอสฟอรัส | 367 มิลลิกรัม (52%) |
โพแทสเซียม | 1,392 มิลลิกรัม (30%) |
โซเดียม | 17 มิลลิกรัม (1%) |
สังกะสี | 2.76 มิลลิกรัม (29%) |
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ถั่ว แระ ต้น”. หน้า 331-332.
2. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ถั่ว แระ ต้น” หน้า 96-97.
3. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ถั่ว แระ ต้น”. หน้า 85-86.
4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ถั่วแฮ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [14 ธ.ค. 2014].
5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ถั่วแระ, ถั่วมะแฮะ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [14 ธ.ค. 2014].
6. ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “ต้นถั่วแระ ทางเลือกใหม่ในการเลี้ยงครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phtnet.org. [14 ธ.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.eda-edamame.com
2.https://savvygardening.com/growing-edamame/
3.https://hub.suttons.co.uk/blog/vegetable-growing/how-to-grow-edamame-beans