กุหลาบมอญ ดอกสีสดใสสวยงาม มีกลิ่นหอม ช่วยบำรุงหัวใจและคลายความอ่อนเพลีย
กุหลาบมอญ หรือดอกยี่สุ่นเป็นกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองของหงสาวดี ดอกเป็นช่อกระจุกมีกลิ่นหอมมาก

กุหลาบมอญ

กุหลาบมอญ (Damask rose) หรือเรียกอีกอย่างว่า “ดอกยี่สุ่น” เป็นกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองของหงสาวดี เชื่อกันว่ามีการนำเข้าในไทยเพราะเป็นดอกไม้ที่ทรงโปรดของสมเด็จพระนเรศวร เป็นไม้ดอกที่มีดอกสวยงามและมีกลิ่นหอมมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากกว่าที่เห็นภายนอก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกุหลาบมอญ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rosa × damascena Mill.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Damask rose” “Pink damask rose” “Summer damask rose” “Rose”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ยี่สุ่น” เงี้ยวและแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “กุหลาบออน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กุหลาบ (ROSACEAE)

ลักษณะของกุหลาบมอญ

กุหลาบมอญ เป็นไม้พุ่มกลางแจ้งที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชียไปจนถึงเขตอบอุ่นของยุโรปตั้งแต่อินเดีย อิหร่าน ประเทศแถบตะวันออกกลางไปจนถึงตุรกีและบัลแกเรีย
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น
เปลือกต้น : เปลือกเรียบ มีหนามแหลมตามกิ่งและตามลำต้น ปกติมีหนามมากและมีความยาวไม่เท่ากัน มีลักษณะตรงถึงโค้งเล็กน้อย หนามอ่อนเป็นสีน้ำตาลแกมสีแดง ส่วนหนามแก่เป็นสีเทา
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเป็นจักแบบฟันเลื่อยตลอดทั้งขอบ แผ่นใบด้านล่างมีขนไม่มีต่อม ก้านใบมีขนสีน้ำตาลแดง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะหรือช่อแบบกระจุกแตกแขนงบริเวณปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีชมพูและมีกลิ่นหอม กลีบดอกมีลักษณะค่อนข้างกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ปลายกลีบมนหรือเป็นคลื่น กลีบดอกมีตั้งแต่สีแดงไปจนถึงสีขาว กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวรูปสามเหลี่ยม
ผล : เป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ผลเป็นสีแดงอ่อนไปจนถึงเข้ม
เมล็ด : ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลประมาณ 1 – 3 เมล็ด เป็นรูปสามเหลี่ยมกลม

สรรพคุณของกุหลาบมอญ

  • สรรพคุณจากกุหลาบมอญ ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ
  • สรรพคุณจากกลีบดอก บำรุงหัวใจ ช่วยขับน้ำดี
  • สรรพคุณจากดอกแห้ง บำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย เป็นยาระบายอ่อน ๆ
  • สรรพคุณจากน้ำดอกไม้เทศที่มีส่วนผสมของกุหลาบมอญ แก้อาการอ่อนเพลียและกระวนกระวาย

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกุหลาบมอญ

น้ำมันกุหลาบมอญเป็นสารที่มีความปลอดภัยในการใช้ เนื่องจากมีค่าทำให้สัตว์ทดลองครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อให้ยาทางปากกับหนูขาวและให้ยาทาโดยการทาผิวหนังของกระต่ายมากกว่า 5 กรัมต่อกิโลกรัม

ประโยชน์ของกุหลาบมอญ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร กลีบดอกสามารถนำมาชุบแป้งทอด ใช้รับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริก หรือทำเมนูยำดอกกุหลาบได้ ใช้แต่งหน้าขนมตะโก้หรือนำมาใช้โรยบนท่อนอ้อยควั่น กลีบดอกใช้ทำเป็นชากุหลาบ เป็นส่วนผสมของน้ำดอกไม้เทศ
2. เป็นไม้ประดิษฐ์ นำดอกมาใช้ในการร้อยพวงมาลัย กลีบดอกนำมาทำดอกไม้ประดิษฐ์และบุหงา
3. สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง แต่งกลิ่นยา แต่งกลิ่นอาหารและน้ำเชื่อมของขนมไทย และนำมาใช้เป็นหัวน้ำหอม
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกง่ายและดูแลง่าย มีดอกที่สวยงามและสีสันสดใสเหมาะสำหรับปลูกไว้ในสวน

กุหลาบมอญ ใช้เป็นยาหอมสำหรับบำรุงหัวใจในตำราไทย ส่วนมากที่พบมักจะมีสีชมพูไปจนถึงสีแดง เป็นดอกที่สวยงามมากและมีกลิ่นหอม อีกทั้งยังปลูกง่ายและดูแลง่ายเหมาะอย่างมากในการนำมาปลูกไว้ในบ้าน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย เป็นยาระบายอ่อน ๆ และช่วยขับน้ำดี นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำเป็นไม้ประดิษฐ์อีกด้วย ถือเป็นไม้ดอกที่มีประโยชน์ในหลายด้านจริง ๆ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “กุหลาบมอญ (Ku Lhap Mon)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 53.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “”กุหลาบมอญ”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 181.
ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “กุหลาบมอญ”. อ้างอิงใน: หนังสืออุทยานสมุนไพรพุทธมณฑล, หน้า 21, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและพลังงาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/. [04 ก.พ. 2014].
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “กุหลาบมอญ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.natres.psu.ac.th. [04 ก.พ. 2014].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กุหลาบมอญ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [04 ก.พ. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “กุหลาบมอญ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [04 ก.พ. 2014].
หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 484, วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553. “กุหลาบมอญ กุหลาบในตำนาน”. (องอาจ ตัณฑวณิช).