กาหลง มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะ ลดความดันโลหิต แก้เลือดออกตามไรฟัน
กาหลง มีดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ชาวเวียดนามว่าเป็นราชินีแห่งดอกไม้ป่า สัญลักษณ์ของความรัก

กาหลง

กาหลง (Snowy orchid tree) มีดอกสีขาวสวยงาม เป็นดอกที่มีความหมายและความเชื่อมากมาย ส่วนมากคนไทยมักจะได้ยินผ่านหูเนื่องจากคำว่า “กาหลง” มักจะนำไปใช้มากมายในละคร กาหลงได้รับการยกย่องจากชาวเวียดนามว่าเป็นราชินีแห่งดอกไม้ป่าและเป็นสัญลักษณ์ของความรัก นอกจากความเชื่อแล้วยังมีสรรพคุณทางยาได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกาหลง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia acuminata L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Snowy orchid tree” “Orchid tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ส้มเสี้ยว” มลายูและนราธิวาสเรียกว่า “กาแจ๊กูโด” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “เสี้ยวน้อย” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “โยธิกา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของกาหลง

กาหลง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในป่าเมืองร้อนตั้งแต่ไทย ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
เปลือกลำต้น : ผิวเรียบสีน้ำตาล กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ส่วนกิ่งแก่ผิวค่อนข้างเกลี้ยงและไม่ค่อยมีขน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปวงรีกว้าง ปลายใบเว้าลึกเข้ามาเกือบครึ่ง ทำให้ปลายแฉกสองข้างแหลม แยกเป็น 2 พู โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน หลังใบเรียบ ส่วนท้องใบมีขนละเอียดสีขาว ร่วงได้ง่ายและมีแท่งรยางค์เล็ก ๆ อยู่ระหว่างหูใบ ผลัดใบในช่วงฤดูหนาวและเริ่มแตกใบอ่อนในช่วงฤดูร้อน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะแบบสั้น ๆ บริเวณปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีลักษณะตูมเป็นรูปกระสวย มีกลีบสีขาว 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากันเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่กลับ ปลายกลีบมน โคนสอบ กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว 5 กลีบติดกันคล้ายกาบ ปลายกลีบมีลักษณะเรียวแหลมและแยกเป็นพูเส้นสั้น ๆ 5 เส้น สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผล : มีลักษณะเป็นฝักแบน ขอบฝักเป็นสันหนา ส่วนปลายฝักและโคนฝักสอบแหลม ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
เมล็ด : ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 5 – 10 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กและแบนหรือเป็นรูปขอบขนาน

สรรพคุณของกาหลง

  • สรรพคุณจากดอก ลดความดันโลหิต แก้อาการปวดศีรษะ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะพิการ แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด
  • สรรพคุณจากราก แก้อาการปวดศีรษะ เป็นยาแก้เสมหะ แก้อาการไอ แก้บิด
  • สรรพคุณจากใบ รักษาแผลในจมูก
  • สรรพคุณจากต้น แก้เลือดออกตามไรฟัน เป็นยาแก้เสมหะ แก้โรคสตรี

ประโยชน์ของกาหลง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นิยมนำดอกมารับประทาน ชาวเขาจะนิยมรับประทานยอดอ่อน
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง ชาวจีนมักปลูกต้นกาหลงไว้เป็นไม้ประจำบ้านเพราะเชื่อว่าต้นกาหลงเป็นไม้ที่ให้คุณแก่เจ้าของบ้าน

ข้อควรระวัง

ไม่ควรสัมผัสต้นกาหลงบริเวณใบและกิ่งโดยตรงเนื่องจากมีขนอ่อน ๆ ขึ้นอยู่ประปราย อาจทำให้ระคายเคืองผิวหนังได้

กาหลง เหมาะสำหรับปลูกประดับเป็นอย่างมากเพราะมีดอกสีขาวสวยงามและปลูกง่าย อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคลที่ดีต่อผู้ปลูกด้วย นอกจากนั้นยังนำมารับประทานได้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้เลือดออกตามไรฟัน รักษาแผลในจมูก แก้เสมหะและลดความดันโลหิต

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “กาหลง (Kalong)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 47.
ไขปริศนา พฤกษาพรรณ, ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กาหลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.il.mahidol.ac.th/e-media/plants/. [04 ก.พ. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กาหลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [04 ก.พ. 2014].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กาหลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [04 ก.พ. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 305 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “กาหลง : มิใช่หลงเฉพาะเพียงกา”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [04 ก.พ. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “กาหลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [04 ก.พ. 2014].