ชงโค สมุนไพรไม้ประดับ สรรพคุณเป็นยาดับพิษไข้ แก้ไอ
ชงโค เป็นไม้ยืนต้น ใบเดี่ยวคล้ายรูปหัวใจ ปลายของใบเว้าลึก ใช้แก้พิษไข้ รักษาอาการไอ เป็นยาระบาย ช่วยขับปัสสาวะ และช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร

ชงโค คือ

ชงโค ชื่อสามัญ คือ Orchid tree, Purple orchid tree, Butterfly tree, Purple bauhinia, Hong kong orchid tree
ชงโค ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia purpurea L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
สมุนไพรชงโค มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ดอกตีนวัว, เสี้ยวหวาน กะเฮอ สะเปซี ( แม่ฮ่องสอน ), เสี้ยวดอกแดง ( ภาคเหนือ ), ชงโค เสี้ยวเลื่อย ( ภาคใต้ ) เป็นต้น

ถิ่นกำเนิดของชงโค

โดยธรรมชาติแล้วชงโคนั้นเป็นไม้ที่ชอบแดด ควรปลูกไว้ในดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายสามารถระบายน้ำดี มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีนรวมถึงฮ่องกง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา ทางตอนใต้ของรัฐเทกซัส ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศสหรัฐอเมริกานิยมปลูกกันที่รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐฮาวาย และประเทศไทย ปัจจุบันมีให้เลือกหลายสายพันธุ์ เช่น ชงโคฮอลแลนด์ ดอกสีชมพูเข้ม ออกดอกดก หรือชงโคออสเตรเลีย ดอกสีขาว นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เพื่อชมความสวยงามของดอก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดวัน และยังให้ร่มเงาเนื่องจากเป็นไม้ทรงพุ่มแผ่กว้าง

การขยายพันธุ์

โดยมากใช้วิธีเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ ช่วงเวลาออกดอกของชงโคจะอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ฝักจะเริ่มแก่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงมกราคม ใช้เวลาในการปลูก 1-2 ปี สามารถโตได้ถึง 2-3 เมตร และเป็นต้นไม้ที่ชอบแสง ปลูกเลี้ยงง่าย ทนโรคทนแมลง ไม่เลือกสภาพอากาศ เพราะชงโคเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุไม่นาน ปลูกไม่ถึง 20 ปี ต้นก็จะหยุดการเจริญเติบโตจึงต้องตัดทิ้งและปลูกใหม่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ชงโคเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางประเภทพลัดใบ มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งเปลือกลำต้นมีสีเทา ผิวเปลือกขรุขระ
ใบ ชงโค เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แทงออกเป็นเดี่ยวสลับข้างกันบนข้อกิ่ง ใบมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวสด ลักษณะค่อนข้างมน แผ่นใบ และขอบใบเรียบ โคนใบ และส่วนปลายจะหยักโค้งมนตรงกลาง ทำให้ใบแลดูคล้ายใบแฝดหรือคล้ายรูปไต ใบกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ใบอ่อนกางแผ่น้อยทำให้แลดูคล้ายปีกผีเสื้อ ส่วนการพลัดใบจะเริ่มพลัดใบไปเรื่อยตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม และจะเริ่มแทงยอด และใบอ่อนเมื่อเข้าสู่ต้นฤดูฝนเดือนเมษายน-พฤษภาคม หลังจากนั้น จะเริ่มแทงช่อดอกออกมาทีหลัง และเริ่มติดฝัก
ดอก ชงโคเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 5-10 ดอก ดอกประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอมชมพู ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย เมื่อดอกบาน ดอกจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสามารถออกได้ตลอดทั้งปี ชงโคจะเริ่มออกดอกหลังจากผลิใบชุดใหม่ออกมาแล้ว คือหลังเดือนเมษายนเป็นต้นไป
ผล หรือฝักชงโคมีลักษณะเป็นฝักคล้ายฝักถั่ว มีรูปร่างแบน ฝักมีขนปกคลุม ฝักมีขนาดกว้าง 1-2 ซม. ยาว 20-25 ซม. ฝักจะเริ่มทยอยติดตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม จนแก่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ฝักแก่จะมีสีน้ำตาล และเมื่อแก่จัดจะมีสีดำ

สรรพคุณทางสมุนไพรของชงโค

ใบ

  • ใบนำมาตากแดด ใช้ชงเป็นชาดื่มแก้อาการไอ
  • ใบนำมาขยี้ และผสมน้ำเล็กน้อยใช้ประคบรักษาแผล และช่วยในการห้ามเลือด
  • ใบชงโคล้างสะอาดตำให้แหลกแล้วนำมาพอกฝี รักษาแผลได้
  • ใบอ่อนใช้เคี้ยวเพื่อ ลดกลิ่นปาก

ดอก

  • ดอก นำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยลดอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ
  • ใช้ดอกแก้พิษร้อนจากเลือดและน้ำดี แก้ไข้

เปลือก

  • เปลือกลำต้นนำมาต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาอาการท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ
  • น้ำต้มจากเปลือกใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

ราก

  • ใช้รากชงโคล้างสะอาด ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก ถ่ายยาก และยังมีฤทธิ์ช่วยขับลมในร่างกาย
  • น้ำต้มจากรากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ชงโค (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.thaikasetsart.com [10 กรกฎาคม 2562].

ชงโคเสน่ห์แห่งใบและดอกจากพงไพร (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.doctor.or.th [10 กรกฎาคม 2562].

ชงโค (Bauhinia purpurea) (ออนไลน์).สืบค้นจาก : http://www.pttreforestation.com [10 กรกฎาคม 2562].