ขางครั่ง
ขางครั่ง (Dunbaria longiracemosa Craib) หรือเรียกอีกอย่างว่า ดอกครั่ง เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีดอกสีสันหลากหลายซึ่งกลีบด้านนอกมีสีเขียวอมเหลืองและด้านในมีสีม่วงอมแดงเข้มโดดเด่นอยู่บนต้น สามารถนำดอก ใบอ่อนและช่อดอกมารับประทานเป็นผักได้ ถือเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหารสูง นอกจากนั้นขางครั่งยังเป็นส่วนหนึ่งในยาสมุนไพรพื้นบ้านของชาวล้านนาอีกด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขางครั่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dunbaria longiracemosa Craib
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ดอกครั่ง” จังหวัดเลยเรียกว่า “เถาครั่ง” จังหวัดลำพูนเรียกว่า “ขางครั่ง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Dunbaria longeracemosa Craib
ลักษณะของขางครั่ง
ขางครั่ง เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยหรือไม้พุ่มเลื้อยพันที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในลาว กัมพูชา เวียดนามและประเทศไทย สามารถพบได้ในป่าผลัดใบ ป่าเต็งรังและป่าดิบ
ลำต้น : ลำต้นเป็นสีเขียวอมน้ำตาลและมีขนละเอียดขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยส่วนปลายเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมใบหอก ใบย่อยด้านข้างมีลักษณะเป็นรูปไข่เบี้ยวหรือรูปใบหอกแกมสามเหลี่ยม หน้าใบและหลังใบมีขนละเอียดสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ผิวใบนุ่ม สีใบด้านหน้าเป็นสีเขียวอมเหลืองอ่อนถึงเขียวเข้มและค่อนข้างมัน สีใบด้านหลังเป็นสีเขียวอมเหลืองเข้มกว่าด้านหน้าและผิวออกด้านเล็กน้อย ขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย เส้นใบด้านหลังนูนขึ้นเป็นสันเล็กน้อย เส้นใบแตกแบบขนนก ก้านใบมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่น หูใบแหลม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ดอกย่อยมีหลายดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปดอกถั่วจำนวน 6 – 35 ดอกต่อช่อ ออกเรียงสลับรอบแกนช่อดอก กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียวอมเหลือง ด้านในเป็นสีม่วงอมแดงเข้ม มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนดอกเพศเมียจะเป็นช่อง 3 ช่อง มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม เมื่อแห้งจะแตกเป็นสองแนว ออกผลในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดหลายเมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล
สรรพคุณของขางครั่ง
- สรรพคุณจากรากและใบ
– แก้ไข้ ยาพื้นบ้านล้านนานำรากหรือใบมาผสมกับใบโผงเผงแล้วบดให้เป็นผงละเอียด จากนั้นปั้นเป็นยาลูกกลอนเพื่อทานแก้อาการ
ประโยชน์ของขางครั่ง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกนำมาทำอาหารประเภทผัก ใบอ่อนและช่อดอกมีรสฝาดมันนำมาทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ฝักรับประทานได้
2. ใช้ในการเกษตร เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติหรือสัตว์แทะเล็มอย่างโคกระบือ
คุณค่าทางโภชนาการของใบและเถาอ่อน
คุณค่าทางโภชนาการของใบและเถาอ่อน ให้โปรตีน 13.34% เยื่อใย 29.14% ไขมัน 2.18% เถ้า 6.87% คาร์โบไฮเดรต (NFE) 48.47% เยื่อใยส่วน ADF 33.38% NDF 45.11% และลิกนิน 9.88%
ขางครั่ง เป็นไม้เถาเลื้อยที่ชาวล้านนานำมาใช้เป็นส่วนประกอบในยาพื้นบ้านเพื่อแก้ไข้โดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังเป็นผักที่สามารถนำดอก ใบอ่อนและช่อดอกมารับประทานได้โดยจะให้รสฝาดมัน นอกจากจะเป็นอาหารของมนุษย์แล้วยังเป็นอาหารของสัตว์แทะเล็มอีกด้วย เป็นต้นในวงศ์ถั่วที่เหมาะสำหรับชาวเกษตรในการเลี้ยงโคกระบือและยังเป็นผักไว้ทานเองได้ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ขางครั่ง”. หน้า 91.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ดอกครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [03 มิ.ย. 2015].
สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [03 มิ.ย. 2015].
ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี. “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.en.mahidol.ac.th/conservation/. [03 มิ.ย. 2015].
พรรณไม้สวนรุกขชาติห้างฉัตร. “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : lampang.dnp.go.th/Departments/Techical_Group/plant/ขางครั่ง.pdf. [03 มิ.ย. 2015].
พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [03 มิ.ย. 2015].