เอื้องหมายนา

เอื้องหมายนา

เอื้องหมายนา เป็นต้นที่มีดอกสีขาวจึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ แถมยังปลูกเลี้ยงได้ง่ายอีกด้วย เป็นที่นิยมนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมของชาวไทลื้อและชาวลัวะ ต้นมีถิ่นกำเนิดมาจากอินเดีย สามารถพบได้ทุกภาคของประเทศไทย ส่วนต่าง ๆ ของต้นเป็นยาสมุนไพรที่นิยมของชาวม้ง ชาวไทใหญ่ คนเมือง หมอยาบางพื้นที่ และตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี รากและเหง้ามีรสขมเมา จึงอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยาชั้นยอด

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเอื้องหมายนา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cheilocostus speciosus (J.Koenig) C.D.Specht
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Crape ginger” “Malay ginger” “Spiral Flag” “Wild ginger”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เอื้องเพ็ดม้า” ภาคใต้เรียกว่า “เอื้องดิน เอื้องใหญ่ บันไดสวรรค์” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “เอื้องช้าง” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “เอื้อง” จังหวัดยะลาเรียกว่า “เอื้องต้น” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ซูแลโบ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ชู้ไลบ้อง ซูเลโบ” ชาวม้งเรียกว่า “กู่เก้ง” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “ชิ่งก๋วน” ชาวลัวะเรียกว่า “ลำพิย้อก” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ดื่อเหม้” คนจีนเรียกว่า “จุยเจียวฮวย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เอื้องหมายนา (COSTACEAE)
ชื่อพ้อง : Costus speciosus (J.Koenig) Sm.

ลักษณะของเอื้องหมายนา

เอื้องหมายนา เป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงเกาะนิวกินี มักจะพบตามบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ใต้ต้นไม้ใหญ่ น้ำตก ชายน้ำ ริมทางน้ำ ริมหนองบึง ตามบริเวณเชิงเขา และป่าดิบชื้น
เหง้า : เหง้าอยู่ใต้ดิน มักขึ้นเป็นกอ
ลำต้น : ลำต้นกลมฉ่ำน้ำ เป็นสีแดง
ราก : เป็นหัวใหญ่ยาว โคนแข็งเหมือนไม้
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเวียนสลับกันรอบลำต้น เป็นรูปวงรีแกมขอบขนาน รูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนเรียวขอบใบเรียบ กาบใบอวบเป็นสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงโอบรอบลำต้น ท้องใบมีขนนุ่มสั้นคล้ายกำมะหยี่
ดอก : ออกเป็นช่อที่ปลายของลำต้น เป็นรูปไข่ กาบรองดอกเป็นรูปไข่ปลายแหลม ปลายแข็ง มีสีเขียวปนแดง แต่ละกาบรองรับดอกย่อย 1 ดอก ดอกจะทยอยบานครั้งละ 1 – 2 ดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด มี 3 สัน ตรงปลายแยก 3 กลีบ แยกออกเป็น 2 ปาก กลีบดอก 3 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเล็กน้อยเป็นสีขาว เกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์เป็นรูปไข่กลับสีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน มีรังไข่ 3 ช่อง มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
ผล : เป็นรูปทรงกลม รูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม เมื่อแห้งแล้วจะแตก มีเนื้อแข็ง เนื้อสุกสีแดงสด ตรงปลายยอดมีกลีบเลี้ยง 1 กลีบ หรือเป็นกระจุกแหลม 3 แฉก กาบหุ้มผลเป็นสีแดง ภายในผลมีเมล็ดสีดำเป็นมัน

สรรพคุณของเอื้องหมายนา

  • สรรพคุณจากเหง้า แก้ซางเด็ก เป็นยาถ่าย ยาแก้พยาธิ ฆ่าพยาธิ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี ทำให้แท้ง ช่วยแก้อาการบวมน้ำ
    – รักษาโรคความดันโลหิตต่ำ แก้อาการหน้าซีด เป็นยาสมานแผลภายใน เป็นยาช่วยบำรุงมดลูก โดยชาวม้งนำเหง้ามาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – รักษาโรคท้องมาน ด้วยการนำเหง้ามาตำพอกบริเวณสะดือเป็นยา
    – แก้แผลหนอง แก้อักเสบ แก้บวม ด้วยการนำเหง้ามาต้มเอาน้ำใช้ล้างหรือตำพอกบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้หวัด ช่วยแก้อาการไอ ช่วยขับเสมหะ ช่วยในการย่อยอาหาร เป็นยาขับพยาธิ ช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศ เป็นยาขม ยาฝาดสมาน รักษาพิษงูกัด เป็นยาแก้โรคผิวหนัง
    – บำรุงกำลัง โดยชาวไทใหญ่นำรากมาดองกับเหล้าดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากหน่อและดอก เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ตัวเหลือง แก้อาการอ่อนเพลียไม่มีแรง
  • สรรพคุณจากลำต้น
    – ต้านโรคมะเร็ง เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยคนเมืองนำลำต้นมาต้มกินเป็นยา
    – แก้หูน้ำหนวก ด้วยการนำลำต้นมาย่างไฟคั้นเอาน้ำใช้หยอดหู
    – แก้นิ่ว ด้วยการนำลำต้นมาตัดให้มีความยาวหนึ่งวา เอาไปย่างไฟคั้นเอาน้ำดื่ม
    – รักษาอาการผิวหนังเป็นผื่น แก้อาการคันตามผิวหนัง แก้อาการคันจากพิษหมามุ่ย โดยชาวไทใหญ่นำลำต้นมาตัดประมาณ 1 นิ้ว พกใส่กระเป๋าป้องกันไม่ให้ขนหมามุ่ยติด
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้ไข้
    – รักษาโรคหูเป็นหนอง โดยชาวไทใหญ่นำใบมารมไฟ บีบเอาน้ำมาหยอดหู
    – รักษาริดสีดวงจมูก โดยหมอยาบางพื้นที่นำใบเอื้องหมายนากับใบเปล้าใหญ่ มาซอยตากแห้งอย่างละเท่ากัน แล้วมวนสูบเป็นบุหรี่
    – รักษาโรคนิ่ว โดยชาวลัวะนำใบใช้ร่วมกับใบของมะละกอตัวผู้ และพืชอื่น ๆ
  • สรรพคุณจากต้นตลอดถึงราก ช่วยบำบัดอาการปวดมวนในท้องคล้ายโรคกระเพาะ แก้ถ่ายเป็นเลือด แก้กินอาหารแสลงแล้วมีอาการปวดและออกทางทวาร ช่วยแก้อาการท้องผูกเป็นประจำ เป็นยาสมานมดลูก
  • สรรพคุณจากน้ำคั้นจากลำต้น เป็นยารักษาโรคบิด
  • สรรพคุณจากน้ำคั้นจากเหง้าสด เป็นยาถ่ายอย่างแรง เป็นยารักษาซิฟิลิส

ประโยชน์ของต้นเอื้องหมายนา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร หน่ออ่อนใช้ทานได้แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน ด้วยการนำมาต้มหรือลวกทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือประกอบในอาหาร ประเทศอินเดีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ใช้หน่ออ่อนใส่แกง และทานเป็นผัก
2. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารสัตว์จำพวก โค กระบือใช้กำจัดหอยเชอรี่
3. เป็นความเชื่อ ชาวลัวะนำใบมาเป็นส่วนประกอบในการทำพิธีสู่ขวัญควาย ชาวไทลื้อนำทั้งต้นมาประกอบพิธีกรรมก่อนการทำนา
4. เป็นไม้ปลูกประดับ นิยมนำมาตัดไว้ประดับแจกันทั้งต้นที่มีช่อดอก ปลูกเป็นไม้ประดับ

เอื้องหมายนา เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาพื้นบ้านได้หลากหลาย ดีต่ออวัยวะของเพศหญิง แต่ก็เป็นพิษด้วยเช่นกัน เพราะมีฤทธิ์ทำให้แท้งได้ ดังนั้นสตรีมีครรภ์ควรระวังในการใช้พืชชนิดนี้ นอกจากนั้นยังมีดอกเป็นสีขาวดูสวยงามสะอาดตา จึงนิยมนำมาใช้ทำประดับแจกัน เอื้องหมายนามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเหง้า มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคบิด แก้ถ่ายเป็นเลือด รักษาโรคนิ่ว แก้หูน้ำหนวก ต้านโรคมะเร็ง เป็นยาขับปัสสาวะและยาบำรุงกำลังได้ ดีต่อระบบขับถ่ายเป็นอย่างมาก

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เอื้องหมายนา (Ueang Mai Na)”. หน้า 345.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “เอื้องหมายนา”. หน้า 155.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เอื้องหมายนา”. หน้า 845-847.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เอื้องหมายนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [27 ก.ค. 2014].
พรรณไม้บริเวณสวนสมุนไพรสาธิต, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เอื้องหมายนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld6-5_2.htm. [27 ก.ค. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (ไพร มัทธวรัตน์). “เอื้องหมายนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [27 ก.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืช กรมวิชาการเกษตร. (สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ). “เอื้องหมายนา (ด่าง)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.apoc12.com. [27 ก.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เอื้องหมายนา”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [27 ก.ค. 2014].
ไทยบ้าน. “เอื้องหมายนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: thaibarn.net. [27 ก.ค. 2014].
พันทิป. (pakeeranung). “เอื้องหมายนา กับคุณค่าบางอย่าง ที่บางท่านอาจยังไม่เคยรู้…”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pantip.com. [27 ก.ค. 2014].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “เอื้องหมายนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/เอื้องหมายนา. [27 ก.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

รูปอ้างอิง
https://indiabiodiversity.org/group/bangalore_birdrace_2013/observation/show/323885
https://indiabiodiversity.org/group/VNCIndia/observation/show/1813481