ต้นพะวา
ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง สีส้ม สีแดง รสเฝื่อนเปรี้ยว ไม้เนื้อแข็ง เสี้ยนไม้ละเอียด มีสีน้ำตาลแดง

ต้นพะวา

ต้นพะวา เป็นพรรณไม้ผลมีรสเฝื่อนอมเปรี้ยวมีถิ่นกำเนิดในบังคลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย หมู่เกาะอันดามัน เกาะนิโคบาร์ ลาว เนปาล มาเลเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม รวมถึงในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือขอประเทศไทย โดยพืชชนิดนี้อาศัยอยู่ในป่าทึบชื้นขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดซึ่งงอกได้ง่าย และยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง ใช้เป็นยาช่วยรักษาแผลในปาก ลดไข้ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Garcinia celebica L. จัดอยู่ในวงศ์มังคุด ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น กวักไหม พะยา มะป่อง มะดะขี้นก หมากกวัก วาน้ำ สารภีป่า ขวาด กะวา ชะม่วง
ชื่อสามัญ: eggtree, false Mangosteen, gambogetree, Himalayan garcinia, Mysore gamboge, มังคุดเปรี้ยว, มังคุดเหลือง (ภาษาอังกฤษ); gamboge des dyers, มังคุดขม (ฝรั่งเศส); Mangostão Amarelo (โปรตุเกส); กูร์กา, มุนดู (สเปน)

ลักษณะพะวา

  • มีถิ่นกำเนิดที่ทางภาคเหนือ, ภาคอีสาน พบได้ทุกภาคของประเทศ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ที่ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 10-18 เมตร พุ่มเป็นรูปโดม ใบออกดก เปลือกต้นมีสีเทาดำ ที่เปลือกจะมียางสีเหลือง ต้น ใบ ผลจะมียางสีขาว แบ่งแยกต้นเพศผู้และเพศเมีย ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง เติบโตได้ในดินทุกสภาพที่ความชื้นสูง จะชอบดินร่วนปนกับทราย ระบายน้ำได้ และมีแดดเต็มวัน กระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความสูงตั้งแค่ระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 700 เมตร พบเจอในต่างประเทศได้ในอินเตีย เมียนมา เกาะนิโคบาร์
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกใบดกและหนาทึบ ใบออกเรียงข้ามกันเป็นคู่ ใบลักษณะเป็นรูปรี รูปขอบขนาน รูปไข่กลับ รูปขอบขนานแกมรูปรี ส่วนปลายมน โคนใบเป็นรูปสอบ ขอบใบจะเรียบ ใบกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ผิวใบเป็นมัน แผ่นใบหนา มีเส้นแขยงใบถี่ เส้นกลางใบเป็นร่องเห็นได้ชัดที่หลังใบ
  • ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ลักษณะดอกคล้ายดอกชะม่วง เป็นดอกแบบแยกเพศ ดอกเพศผู้มีสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 4 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรี ก้านกลีบยาวกว่ากลีบเลี้ยง มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบวงนอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ กลีบวงในมีลักษณะเป็นรูปไต หลังดอกบานได้ 24-48 ชั่วโมง ดอกจะร่วงหล่น ดอกเพศเมียจะมีกลีบเลี้ยงคล้ายดอกเพศผู้ แต่กลีบดอกยาวกว่า[1],[3],[5] ดอกเพศเมีย เป็นดอกเดี่ยว เส้นผ่านศูนย์กลางมีขนาดเท่ากับดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยงสีเหลือง 4 กลีบ และกลีบดอก 4 กลีบ ตรงกลางจะมีรังไข่ และจะพัฒนาเป็นผล ที่ปลายรังไข่จะมียอดเกสรเพศเมียมีแฉกประมาณ 6-8 แฉก จะประกฎที่ปลายของ
  • ผล เป็นตัวบ่งบอกจำนวนกลีบผลและเมล็ด หลังดอกบานประมาณ 24 ชั่วโมง กลีบดอกจะร่วง ดอกจะออกช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[4] มีลักษณะเป็นรูปไข่ ผิวเรียบ ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง สีส้ม สีแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงอยู่ 4 กลีบ เนื้อหุ้มเมล็ดมีลักษณะเป็นกลีบใส มีเส้นสีขาวขุ่น ผลมีรสฝาดอมเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานได้ เมล็ดมีลักษณะแบนยาว มีร่องของมัดท่อน้ำ มีท่ออาหารให้เห็น มีสีเหลืองอ่อน มีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดสามารถงอกเป็นต้นกล้าได้ประมาณ 4-10 ต้น สามารถตัดแบ่ง 2-4 ส่วนแล้วนำไปเพาะ ผลแก่ช่วงเดือนเมษายน และฤดูฝน[5]

สรรพคุณของพะวา

  • เปลือกผลจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ท้องเสีย[2]
  • นำดอกแห้ง มาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยาแก้ไข้[1] น้ำที่ได้จากการต้มเปลือกต้นและใบ มีสรรพคุณที่เป็นยาลดไข้[2]
  • นำใบแห้งมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ[1] ผลที่มีรสเปรี้ยว สามารถใช้เป็นยาระบายได้[3]
  • นำดอกแห้ง มาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้ช่วยรักษาลมและโลหิตพิการ [1]
  • ดอกจะมีสรรพคุณที่ช่วยทำให้เจริญอาหาร นำดอกแห้ง มาต้มกับน้ำแล้วดื่ม[1]
  • น้ำที่ได้จากการต้มเปลือกต้นและใบ มีสรรพคุณที่เป็นยาฝาดสมาน ช่วยรักษาแผลในปาก[2]

ประโยชน์ของพะวา

  • สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้[5]
  • ผล รับประทานเป็นผลไม้[2] แต่ถึงผลจะมีสีสวยงามและสามารถรับประทานได้ก็ตาม แต่ไม่นิยมนำมารับประทาน เพราะเนื้อมีรสเฝื่อน ออกเปรี้ยว หากรับประทานมากเกินไปก็อาจทำให้ท้องเสีย[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

เมื่อนำเปลือกมาสกัดและแยกสารสกัด จะทำให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีโครมาโตกราฟีและการตกผลึก จะได้สาร 4 ประเภท คือ triterpenes, benzophenones, xanthones, biphenyls เมื่อนำสาร biphenyls กับ triterpenes วิเคราะห์เพื่อหาโครงสร้างทางเคมี เมื่อนำไปทดสอบการออกฤทธิ์ทางชีวภาพจะพบว่า สารจะมีฤทธิ์ต้านเชื้อเอดส์ในระดับเซลล์และในระดับโมเลกุลได้ และยังมีคุณสมบัติในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ช่วยลดอาการบวมของเนื้อเยื่อ แต่ยังต้องนำสารไปทดลองทางคลินิก เพื่อที่จะได้ประโยชน์สูงสุดในการรักษา (น.ส.ปานฤทัย ภัยลี้ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)[6]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พะวา”. หน้า 553-554.
การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “พะวา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : inven.dnp9.com/inven/. [22 ส.ค. 2014].
คมชัดลึกออนไลน์. (นายสวีสอง). “พะวาไม้หายากเป็นยา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [22 ส.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ สำหรับประชาชน, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “รายละเอียดพะวา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th. [22 ส.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พะวา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [22 ส.ค. 2014].
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). “วิจัยพบ ต้นพะวามีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง-ยับยั้งเชื้อเอดส์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.trf.or.th. [22 ส.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.tradewindsfruit.com/content/gamboge.htm
2.https://www.flickr.com/photos/dinesh_valke/1095535392