ต้นซ้อ
ไม้ยืนต้นผลัดใบ เนื้อไม้มีความแข็งแรง ดอกมีสีเหลืองแกมน้ำตาลเข้ม มีรสหวาน ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี

ต้นซ้อ

ชื่อสามัญของซ้อ คือ Gamari ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของซ้อ คือ Gmelina arborea Roxb. อยู่ในวงศ์กะเพรา ชื่อซ้อของท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ม้าเหล็ก แก้มอ้น เซาะแมว ตุ๊ดจะหระ ไม้ซ้อ แต้งขาว ท้องแมว เฝิง ลำซ้อ ช้องแมว เป้านก ลำซ้อ สันปลาช่อน เมา ไม้เส้า ลำชิล้า ซึงโฉว้ ต๊ะจู้งก้ง

ลักษณะต้นซ้อ

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ต้นสูงประมาณ 15-25 เมตร กิ่งอ่อนจะมีขนและเป็นสันสี่เหลี่ยม มีเขตการกระจายพันธุ์ที่อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ภูฎาน พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย ประเทศไทยมีเขตกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาค ซ้อจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึงประมาณ 1,500 เมตร[1],[2]
  • ใบ เป็นเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปหัวใจ ที่ปลายใบจะแหลม ส่วนที่โคนใบจะเป็นรูปลิ่มกว้าง ขอบจะใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ที่แผ่นใบด้านบนจะเกลี้ยง ท้องใบด้านล่างนวลและมีขน มีเส้นแขนงใบประมาณ 3-5 คู่ ออกจากโคน 1 คู่ ก้านใบยาว 3-10 เซนติเมตร เป็นร่องที่ด้านบน[1],[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ดอกจะออกที่ตามปลายกิ่งจะมี 1 ช่อหรือหลายช่อ มีความยาว 7-15 เซนติเมตร ช่อดอกจะมีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก มีใบประดับที่ร่วงง่าย มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีลักษณะเป็นรูประฆังยาว 0.3-0.4 เซนติเมตร ที่ปลายกลีบจะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ด้านของนอกกลีบเลี้ยงจะมีขน กลีบดอกสมมาตรด้านข้าง เป็นรูปปากแตรโป่งด้านเดียว ยาว 2-4 เซนติเมตร ที่ปลายแยกเป็น 5 กลีบ แบ่งเป็นกลีบบนกลีบล่าง กลีบบนมี 2 กลีบ กลีบล่างมี 3 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกจะมีสีน้ำตาลแดง ด้านในจะมีสีครีมอ่อน ๆ กลีบปากล่างและกลีบกลางด้านในเป็นสีเหลืองแซม และมีขนอยู่ด้านนอก ด้านในเกลี้ยง มีเกสรเพศผู้สั้น 2 ก้าน ก้านจะยื่นไม่พ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านเกสรเพศผู้ติดบนหลอดกลีบดอกที่ประมาณกึ่งกลาง รังไข่เกลี้ยง มีต่อม ยอดของเกสรเพศเมียมีแฉก 2 แฉก มีขนาดไม่เท่ากัน ดอกออกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3]
  • ผล เป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ ยาว 1.5-2 เซนติเมตร ผิวผลจะเกลี้ยงและเป็นมัน มีกลิ่น ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง ในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด เมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปรี กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ออกผลช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[3]

สรรพคุณของต้นซ้อ

  • เปลือกต้นมาทุบแล้วบีบเอาน้ำมาใช้รักษาแผลที่เกิดจากน้ำกัดเท้า[4]
  • ชาวไทใหญ่จะนำเปลือกต้นมาต้มหรือตำ ใช้พอกแก้อาการคันตามง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า[4]
  • ชาวเขาเผ่าลีซอจะนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำใช้อาบแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูด[1]
  • สามารถใช้รากเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกายได้[5]
  • สามารถนำเปลือกต้นต้มกับน้ำใช้แช่เท้ารักษาโรคเท้าเปื่อย[3]
  • ยาพื้นบ้านล้านนาจะนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำใช้อาบแก้อาการคัน[1] หรือนำเปลือกต้นมาขูดเป็นฝอย ๆ บีบเอาน้ำมาใช้ใส่แผลที่เกิดจากผื่นคัน[2]
  • คั้นเอาน้ำจากใบมาใช้ทารักษาแผล[5]

ประโยชน์ของต้นซ้อ

  • ชาวไทใหญ่จะนำดอกมาใส่กับข้าวแป้งทำขนมห่อ[4]
  • เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เนื้อมีสีขาวแกมสีเหลือง ถ้าทิ้งไว้นานสีจะเข้มขึ้น เหมาะกับการใช้ในงานก่อสร้าง โครงสร้างของบ้าน เสาบ้าน ไม้กระดาน หน้าต่าง วงกบประตู ไม้บุผนังที่สวยงาม ฯลฯ หรือใช้ทำเกวียน ทำเรือ แจว พาย กรรเชียง กระเดื่อง บางส่วนของรถ โลงศพ ไม้กั้นบ่อน้ำ ร่องน้ำ กังหันน้ำ ถังไม้ เป็นต้น เนื่องจากมีความทนไม่แตกหักง่าย หรืองานก่อสร้างในที่ร่ม ทำเครื่องเรือน หีบใส่ของ ของเล่นเด็ก ครก สาก ไหนึ่งข้าว ไหนึ่งเมี่ยง อ่างคนข้าว กลอง ฆ้อง สันแปรง ด้ามปากกา ไม้บรรทัด ไม้ฉาก พานท้ายและรางปืน จะเข้ รางระนาด เยื่อกระดาษ เป็นต้น หรือจะใช้ในงานกลึง งานแกะสลักประดับตกแต่ง ทำนก ทำดอกไม้ กระบวยเล็ก ฯลฯ ชาวเมี่ยนจะนำไม้มาทำสะพานเพื่อประกอบพิธีตานขัว สามารถนำลำต้นหรือเนื้อไม้มาทำฟืน[3],[4],[5]
  • ผลสุกมาบีบเอาแต่น้ำผสมกับข้าวเหนียวนึ่ง แล้วนำมาหมกไฟใช้ทาน หรือบีบน้ำของผลใส่ข้าวจี่จะทำให้มีรสหวาน[4]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ซ้อ”. หน้า 118.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ซ้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [7 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ซ้อ”. อ้างอิงใน: หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [7 มี.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “ซ้อ”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [7 มี.ค. 2014].
LOOK FOREST GROUP. “ซ้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.lookforest.com. [7 มี.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com/photos/mercadanteweb