ต้นแก้ว
ดอกแก้ว ช่วยแก้อาการปวดฟัน เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ชอบแดด ปลูกเป็นไม้ประจำบ้านจะทำให้คนในบ้านมีแต่ความสุข

ต้นแก้ว

ชื่อสามัญของต้นแก้ว คือ Chanese box tree, Orange jessamine, Andaman satinwood, Satin wood, Cosmetic bark tree, Orange jasmine
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Murraya paniculata (L.) Jack ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Murraya exotica L. อยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น แก้วขี้ไก่ กะมูนิง ตะไหลแก้ว จ๊าพริก จิ๋วหลี่เซียง แก้วลาย แก้วขาว แก้วพริก

ลักษณะ

  • ต้น มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน ออสเตรเลีย[7] พบเจอในประเทศไทยได้ทุกภาคในป่าดิบแล้งที่ราบสูงถึงที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร[8] เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นจะไม่ผลัดใบ มีขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร ต้นจะแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มลักษณะกลมแน่นทึบ ที่เปลือกของลำต้นมีสีเทาแตกเป็นร่อง เนื้อไม้มีสีขาวนวล เติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำดี จะชอบแดดเต็มวันหรือรำไร ความชื้นปานกลางถึงต่ำ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การตอน [1],[2],[3],[4],[5]
  • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ จะออกเรียงสลับ มีใบย่อยอยู่ 5-9 ใบ ใบเป็นรูปไข่ ที่ปลายใบกับโคนใบจะแหลม ส่วนที่ขอบใบจะเป็นคลื่นหรือหยักมนนิดหน่อย ใบกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะคล้ายกับแผ่นหนังบาง ๆ หลังใบจะมีสีเขียวเข้มและเป็นมัน ท้องใบจะเรียบมีสีอ่อน ที่ใบจะมีต่อมน้ำมัน ถ้าขยี้จะมีกลิ่นฉุนคล้ายกับผิวส้มเป็นน้ำมันติดอยู่ที่มือ[1],[2],[3],[5]
  • ดอกออกเป็นช่อสั้น ออกดอกที่ตามซอกใบ ดอกย่อยมีสีขาว จะมีกลิ่นหอมจัด มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ ร่วงง่าย กลีบดอกเป็นรูปกลมรี ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 7-9 มิลลิเมตร ที่โคนกลีบดอกจะติดกัน ดอกจะมีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน มีกลีบเลี้ยงดอกอยู่ 5 กลีบ ดอกออกได้ตลอดทั้งปี [1],[2],[3]
  • ผลแก้ว เป็นกลมรีหรือรูปไข่ ที่ปลายจะสอบนิดหน่อย ผลกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนจะมีสีเขียว ผลสุกมีสีแดงอมส้ม ลักษณะผิวของผลจะมีต่อมน้ำมันสามารถเห็นได้ชัด ในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปรี รูปไข่ ปลายสอบ จะมีขนหนาเหนียวหุ้มรอบเมล็ด มีสีขาวขุ่น เมล็ดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 6-9 มิลลิเมตร [1],[2],[3],[4]

สรรพคุณของต้นแก้ว

  • สามารถนำก้านกับใบสดมาบดแช่กับแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง ใช้ทาหรือฉีดเป็นยาระงับอาการปวด [1],[2]
  • สามารถแก้ฟกช้ำได้ โดยใช้ใบแก้วสด, ขมิ้น, ขิง, ไพร มาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้า นำไปคั่วให้ร้อน แล้วนำผ้าสะอาดมาห่อ ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่มีอาการฟกช้ำ 20-30 นาที ทำวันละ 2-3 ครั้ง [3]
  • สามารถแก้แมลงสัตว์กัดต่อยได้ โดยใช้รากกับใบสดมาต้ม ใช้ชะล้างบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อยได้ [1] สามารถแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้ (ราก)[3]
  • สามารถใช้รากสดเป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผลได้ [1],[2] สามารถใช้เป็นยาแก้แผลคันได้ (ราก)[3]
  • สามารถนำรากกับต้นแห้งมาหั่น ต้มเคี่ยวกรองเอาแต่น้ำมาใช้ สามารถช่วยเร่งการคลอดบุตรของสตรีได้ ใช้ผ้าพันแผลจุ่มน้ำยาสอดไปที่ปากมดลูก (ราก, ต้นแห้ง)[1],[2]
  • สามารถใช้ใบเป็นยาขับพยาธิตัวตืดได้ [4]
  • สามารถช่วยการย่อยอาหารได้ (ดอก, ใบ)[4]
  • สามารถแก้บิดได้ (ใบ)[4]
  • สามารถใช้รากเป็นยาช่วยขับลมชื้นในร่างกาย ต้องใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน [3]
    สามารถนำราก ก้าน ใบสดมาใช้เป็นยาชาระงับอาการปวดได้ มีการใช้เป็นยาแก้อาการปวดฟัน ปวดกระเพาะ [3],[4] บ้างก็ว่าก้านกับใบสดจะมีรสเผ็ดร้อนขม สามารถต้มใช้เป็นยาอมบ้วนปากแก้อาการปวดฟันได้ [1],[2],[4]
    สามารถแก้อาการวิงเวียนศีรษะได้ (ดอก, ใบ)[4]
  • ใบจะมีรสร้อนเผ็ด ขม สามารถช่วยบำรุงธาตุในร่างกายได้ [3],[5]
  • สามารถใช้ดอกกับใบเป็นยาแก้ไขข้ออักเสบได้ (ดอก, ใบ)[4]
  • รากสามารถแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และบรรเทาอาการปวดบวมได้ ต้องใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน [3] บ้างก็ว่านำรากแห้งหั่นฝอยใช้ตุ๋นกับหางหมูเจือกับสุรา สามารถทานเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยเอวได้ (รากแห้ง)[1],[2],[4]
  • รากสดจะมีรสเผ็ดสุขุม มาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้แผลฟกช้ำ[1],[2] สามารถแก้ฟกช้ำดำเขียวได้ (ราก)[3]
  • สามารถแก้แผลเจ็บปวดจากการกระทบกระแทกได้ (ใบ)[4]
  • สามารถใช้เป็นยาแก้ผดผื่นคันที่เกิดเพราะความชื้น, แมลงกัดต่อยได้ (ราก, ก้าน, ใบสด)[1],[3],[4] สามารถ
  • แก้ผื่นคันได้ (ราก)[3]
  • สามารถใช้รากเป็นยาแก้ฝีในมดลูกได้ (ราก)[3]
  • สามารถใช้ใบเป็นยาขับประจำเดือนหรือระดูของสตรีได้ [3],[5] หรือใช้รากแห้ง 10-15 กรัม (ถ้าสดให้ใช้ประมาณ 30-60 กรัม) มาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น [4]
  • สามารถใช้เป็นยาแก้ปวดกระเพาะได้ โดยใช้ใบแก้วแห้ง, กานพลู, เจตพังคี, เปลือกอบเชย มาบดให้เป็นผง ชงกับน้ำร้อนเป็นยาทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ผงที่ได้มาบดผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง ทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง [3]
  • ใบสามารถช่วยขับลม และแก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อได้ [3],[5]
  • ใบสามารถแก้ท้องเสียได้ [4]
  • สามารถใช้รากเป็นยาแก้ฝีฝักบัวที่บริเวณเต้านมได้ [3]
  • สามารถแก้อาการไอได้ (ดอก, ใบ)[4]
  • สามารถช่วยคลายการอุดตันของเส้นเลือดได้ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดลมดีมากขึ้น (ราก)[3]

การใช้สมุนไพรแก้ว

ใช้รากกับใบแห้งครั้งละ 10-18 กรัม ถ้าเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 20-35 กรัม[3]
สามารถใช้เป็นยารักษาภายใน แก้อาการท้องเสีย แก้บิด ขับพยาธิ ใช้ก้านกับใบสด 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำ 2 ถ้วย เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น หรือนำมาดองกับเหล้าใช้ดื่มแต่เหล้าครั้งละ 1 ถ้วยตะไล[4]
ถ้าใช้เป็นยาภายนอก นำก้านกับใบสดมาตำใช้พอกหรือคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็น หรือใช้ใบแห้งมาบดเป็นผงใช้โรยใส่แผล ถ้าใช้เป็นยาแก้ปวดหรือยาชาเฉพาะที่ให้ใช้ใบกับก้านสดที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% ถ้าเป็นส่วนของรากแห้งหรือรากสดให้ตำแล้วใช้พอก หรือนำไปต้มเอาน้ำมาใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นแก้ว

  • มีฤทธิ์การยับยั้งการเต้นของหัวใจของกบ[3]
  • กิ่ง เปลือกก้าน ผลมีสาร Mexoticin I, Hibiscetin, Heptamethyleeher I[3] สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์การฆ่าเชื้อหรือช่วยยับยั้งเชื้อ Bacullus Inuza และเชื้อ Btaphylo Coccus [3]
  • สารสกัดจาก Petroleum ether จากต้นถ้านำมาทดลองกับลำไส้ใหญ่กับลำไส้เล็กของหนูขาวที่ผ่าออกจากร่าง จะพบว่าสารดังกล่าวมีประสิทธิภาพทำให้เกร็งตึงที่กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้หย่อนคลาย[3]
  • ใบ น้ำมันหอมระเหย 0.25 ประกอบไปด้วยสาร Bisabolene, Carene, Citronellol, Eugenol, Geraniol, I-Candinenem, Paniculatin, Phebalosin, Methyl Anthranilate, Scopoletin, Scopolin[3]

ประโยชน์ของต้นแก้ว

  • เนื้อไม้ นำมาแปรรูปใหม่ ๆ จะมีสีเหลืองอ่อน นานเข้าจะมีสีเหลืองแกมสีเทา เนื้อไม้จะมีเสี้ยนตรงหรือสน จะมีความละเอียดอย่างสม่ำเสมอ มักมีลายพื้นหรือลายกาบบางต้น สามารถเลื่อย ผ่า ไส ขัด ตบแต่งได้ และมีลายไม้สวยงาม นิยมนำเนื้อไม้มาใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องตกแต่งในบ้าน ภาชนะ ด้ามเครื่องมือ ด้ามปากกา ไม้บรรทัด ไม้เท้า ไม้ตะพด กรอบรูป เครื่องดนตรี ซออู้ ซอด้วง เครื่องกลึง เป็นต้น [6],[8]
  • ดอกบูชาพระในพิธีทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่ง [6]
  • ต้น เป็นไม้ประดับมีทรงพุ่มสวย สามารถตัดแต่งเป็นพุ่มได้ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมดี ไม่ต้องการการบำรุงรักษามาก แต่ต้องรดน้ำเพียงครั้งคราว นิยมปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ประธานที่ตามสวนหย่อม ริมทะเล เป็นต้น จะปลูกเป็นต้นเดี่ยวหรือปลูกแบบเป็นกลุ่ม หรือปลูกเป็นรั้วบังสายตา ปลูกเพื่อให้ร่มเงา ต้นแก้วจะออกดอกดก ดอกมีสวยงาม มีกลิ่นหอม (ถ้าปลูกจากกิ่งตอนจะเป็นไม้พุ่ม แต่ถ้าปลูกในที่ร่มใบจะมีสีเขียวเข้ม จะมีกิ่งยืดยาว ออกดอกน้อย)[5]
  • ก้านใบมาใช้ทำความสะอาดฟันได้[1],[2]
  • สารสกัดจากต้น เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ยาลดน้ำหนักที่ในประเทศมาเลเซีย โฆษณาระบุว่าเป็นสูตรยาสมุนไพรเก่าแก่ มีสรรพคุณในการช่วยลดความอยากอาหารได้ ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายกับร่างกาย[9]
  • ต้น สามารถขับไล่วิญญาณร้าย แม่มด ปีศาจ ปัดเป่าโชคร้ายต่าง ๆ และนำความสุขสมหวังมาให้ มีการปลูกเป็นไม้ประดับกันแพร่หลาย เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ มีตำนานเล่าว่าสุลต่านแห่งยอกยาการ์ต้า จะหาที่พักสงบจิตใจ รวบรวมสมาธิใกล้กับต้นแก้วก่อนที่จะเสด็จเพื่อเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมือง ทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมีสมาธิ สติปัญญาโดยปริยาย ในพิธีแต่งงาน ดอกแก้วยังเปรียบเหมือนคำอวยพรให้คู่บ่าวสาวที่ขอพรให้ใช้ชีวิตคู่อย่างสุขสมหวัง หอมหวานเหมือนกลิ่นของดอกแก้ว มีการนำใบของต้นใช้ในพิธีศพ มักใช้โรยบนพื้นก่อนนำศพไปวาง เนื่องจากใบแก้วจะมีกลิ่นหอมสดชื่น สามารถช่วยดับกลิ่นเหม็นคลุ้งของศพได้[9]
  • ปลูกเป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้คนในบ้านมีแต่ความดี มีคุณค่า เพราะคำว่า แก้ว มีความหมายว่า สิ่งที่ดี มีคุณค่า และเป็นที่นับถือของคนทั่วไป เนื่องจากคนโบราณเปรียบเทียบของที่มีค่าสูงเหมือนดั่งดวงแก้ว และมีความเชื่อว่าบ้านที่ปลูกเป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้คนในบ้านมีจิตใจบริสุทธิ์ มีความเบิกบาน เปรียบเหมือนแก้วที่สดใส มีความใสสะอาด เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นแก้วทางทิศตะวันตก ควรปลูกในวันพุธ เนื่องจากคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้ดอกเพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกวันพุธ[6]
  • ผลสุกสามารถทานเป็นอาหารได้[4]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “แก้ว”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 95.
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “แก้ว (Kaew)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 55.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “แก้ว”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 92.
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “แก้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [06 ก.พ. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “แก้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [06 ก.พ. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ต้นแก้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [06 ก.พ. 2014].
GRIN (Germplasm Resources Information Network) Taxonomy for Plants. “Murraya paniculata (L.) Jack”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ars-grin.gov. [06 ก.พ. 2014].
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1.
Sangkae’s Blog. Murraya paniculate”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: sangkae.wordpress.com. [06 ก.พ. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.lucknownursery.com/product/murraya-paniculata-chinese-box-dark-green-all-time-garden-flower-plant/