มะดูก
ดอกมีสีขาวนวลหรือสีเหลืองอมส้ม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่หรือสุกเต็มที่เป็นสีเขียวอมเหลืองแทน

มะดูก

มะดูก (Ivru wood) เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกแบบทุกสภาพ แต่จะชอบดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี และที่ๆมีแสงแดดเต็มวัน เป็นพรรณไม้ที่มักพบขึ้นตามบริเวณป่าราบ ป่าโปร่งที่ค่อนข้างชื้น โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ที่ระดับความสูงไม่เกิน 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล และมีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Siphonodon celastrineus Griff. จัดอยู่ในวงศ์กระทงลาย (CELASTRACEAE)[1] นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยายปลวก (สุราษฎร์ธานี), ไม้มะดูก (คนเมือง), บั๊กโค้ก (เขมร-สุรินทร์) เป็นต้น

ลักษณะของมะดูก

  • ต้น เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่มีการผลัดใบ ลำต้นมีความสูงได้ถึงประมาณ 20-35 เมตร แตกกิ่งก้านทึบ ตรงเรือนยอดมีลักษณะกลมและทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมดำ จะแตกเป็นร่องตามยาว สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน มีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างรีหรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบแถบและเข้าหากัน ส่วนขอบใบเป็นแบบหยักหรือจักเป็นซี่ฟันตื้นๆ จักห่างหรืออาจจะแทบมองไม่ชัด ใบมีความกว้างประมาณ 1-3.5 นิ้ว และความยาวประมาณ 1.5-9 นิ้ว แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายกับแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม เส้นแขนงของใบมีข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวแก่ แต่เมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวมะกอกหรือสีเขียวอมเทาแทน[1],[2],[5]
  • ดอก จะออกดอกเป็นช่อกระจุกอยู่ตามซอกใบ มีประมาณ 2-3 ดอก ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยมีความยาวประมาณ 5-11 มิลลิเมตร บางทีจะมีจุดสีน้ำตาลแดงอยู่ ดอกมีสีขาวนวลหรือสีเหลืองอมส้ม กลีบดอกเป็นรูปไข่หรือรูปรี มีอยู่ 5 กลีบ จะซ้อนทับกัน มีความกว้างประมาณ 1.7-2.5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 2.2-3.5 มิลลิเมตร ปลายกลีบค่อนข้างมน ส่วนกลีบเลี้ยงมีอยู่ 5 กลีบ โคนกลีบจะเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็นรูปไข่หรือกึ่งกลม ค่อนข้างมน มีความยาวได้ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ตรงกลางดอกมีเกสรเชื่อมติดกับกลีบดอกข้างใน มีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน ก้านของเกสรเพศผู้แบน ยาวได้ถึงประมาณ 1 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันที่ครึ่งหนึ่งหรือใกล้ ๆ โคนดอก จะออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[5]
  • ผล มีลักษณะเป็นรูปกลมหรือรูปรี มีความกว้างประมาณ 1-2.5 นิ้ว และความยาวประมาณ 1.5-3 นิ้ว ผลอ่อนเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่หรือสุกเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองแทน มีเมล็ดคล้ายรูปไข่อยู่หลายเมล็ด จะออกผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2],[5]

สรรพคุณของมะดูก

1. ลำต้น สามารถนำมาตากแห้งผสมกับลำต้นฮ่อสะพานควาย, ข้าวหลามดง, ตานเหลือง, มะตันขอ, ม้ากระทืบโรง, หัวยาข้าวเย็น, แก่นฝาง, โด่ไม่รู้ล้ม และเปลือกลำต้นนางพญาเสือโคร่ง และนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อยได้ (ลำต้น)[3]
2.ราก มีรสมันเมา สามารถใช้รับประทานเป็นยาบำรุงกระดูก ดับพิษในกระดูก (ราก)[1],[2]
2.1 สามารถนำมาต้มผสมกับขันทองพยาบาท ใช้กินเป็นยารักษาโรคมะเร็ง (ราก)[4]
2.2 สามารถใช้กินเป็นยาแก้พิษฝีภายใน ฝีในตับ ฝีในปอด ฝีในกระดูก (ราก)[1],[2]
2.3 สามารถใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้ประดง น้ำเหลืองเสีย เข้าข้อออกดอก (ราก)[1],[2]
2.4 สามารถใช้เป็นยาแก้อาการปวดแสบปวดร้อน (ราก)[2]
2.5 สามารถใช้เป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ (ราก)[1],[2]
2.6 สามารถนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดกระดูกและข้อ (ราก)[3]

ประโยชน์ของมะดูก

1. ผลสุก สามารถใช้รับประทานได้ มีรสที่หวานและมีกลิ่นหอม[1],[2]
2. มีการใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[5]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ม ะ ดู ก”. หน้า 612-613.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ม ะ ดู ก”. หน้า 152.
3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ม ะ ดู ก”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [04 พ.ย. 2014].
4. คมชัดลึกออนไลน์. (นายสวีสอง). “ม ะ ดู ก ผลกินได้-รากเป็นยา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [04 พ.ย. 2014].
5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ม ะ ดู ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [04 พ.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/photos/