นางพญาเสือโคร่ง
ดอกสีชมพูบานสะพรั่ง ซากุระเมืองไทย ออกดอกเป็นช่อกระจุกสีชมพูขาว ผลสุกสีแดงคล้ายลูกเชอร์รี่ รสชาติเปรี้ยว

นางพญาเสือโคร่ง

นางพญาเสือโคร่ง พรรณไม้ยืนต้นออกดอกสีชมพูขาวบานสะพรั่งการกระจายพันธุ์ขึ้นตามภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1000-2000 เมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือของประทศไทยหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ซากุระเมืองไทย” มีการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น และในประเทศญี่ปุ่นจะเรียกดอกไม้ของพรรณไม้ชนิดนี้ว่า “ฮิมาลายาซากุระ” (ヒマラヤザクラ) ชื่อสามัญ Wild Himalayan Cherry, Sour cherry ชื่อภาษาอังกฤษ Wild Himalayan Cherry ชื่อวิทยาศาสตร์ prunus cerasoides ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฉวีวรรณ ชมพูภูพิงค์ (ภาคเหนือ), ซากุระดอย (เชียงใหม่), ยาแก่ะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), คัวเคาะ เส่คาแว่ เส่แผ่ แส่ลาแหล (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) เป็นต้น

ลักษณะของนางพญาเสือโคร่ง

  • ต้น  เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีขนาดเล็กจนถึงมีขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมลักษณะเป็นโปร่ง เปลือกต้นผิวเรียบเป็นมัน เป็นสีเหลือบน้ำตาล เยื่อผิวบาง หลุดลอกได้ง่าย ตามกิ่งอ่อนนั้นมีขนละเอียดประปราย มีการกระจายพันธุ์อยู่ที่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น มักพบขึ้นในป่าที่ระดับความสูงประมาณ 500-1,500 เมตร ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นอยู่ตามภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000-2,000 เมตร เช่น บนดอยเชียงดาว ดอยอินทนนท์ ฯลฯ[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ใบเป็นรูปไข่ ปลายใบนั้นเรียวแหลม โคนใบนั้นจะกลมหรือสอบแคบ ส่วนขอบใบจะหยักเป็นฟันเลื่อยละเอียด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ปลายก้านใบมีต่อมประมาณ 2-4 ต่อม หูใบแตกแขนงเป็นรูปคล้ายเขากวางหรือเป็นริ้วเล็ก ๆ ใบนั้นหลุดร่วงได้ง่าย[1],[2],[3]
  • ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง ก้านดอกยาวประมาณ 0.7-2 เซนติเมตร ดอกย่อยนั้นมีจำนวนที่ค่อนข้างมาก ดอกมีหลายเฉดสี ทั้งสีชมพูอ่อน สีชมพูเข้ม สีชมพูแดง จนไปถึงสีแดง หรือสีขาว แต่สีที่หายากที่สุดคือสีขาว ขอบดอกเป็นริ้วประดับจักไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงจะติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกมีทั้งสิ้น 5 กลีบ เมื่อตอนที่ดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และจะมีการทิ้งใบไปก่อนการออกดอก[1],[2],[3]
  • ผล เมื่อดอกนั้นได้รับการผสมจะติดเป็นผล ซึ่งจะติดผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ผลจะเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน รูปกระสวย รูปไข่หรือกลม ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีความฉ่ำน้ำ ผลผิวเกลี้ยง ผลสุกจะเป็นสีแดงแบบลูกเชอร์รี่ มีรสชาติที่เปรี้ยว[1],[2]

หมายเหตุ : ต้นจะแตกต่างจากซากุระญี่ปุ่นตรงที่ช่วงเวลาของการออกดอกนั่นเอง คือ จะมีการออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งก็คือจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว ส่วนซากุระในญี่ปุ่นจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่นนั่นเอง และยังมีข้อสันนิษฐานกล่าวว่าพรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้มีบรรพบุรุษร่วมกัน ในทางตอนใต้ของจีน และได้มีวิวัฒนาการออกไปจนมีหลากหลายสายพันธุ์

สรรพคุณของนางพญาเสือโคร่ง

1. ชาวเขาเผ่ามูเซอจะนำเปลือกต้นมาทำยาแก้ไอ ลดน้ำมูก และแก้อาการคัดจมูก (เปลือกต้น)[1]
2. เปลือกต้นนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาทาหรือพอกแก้ฟกช้ำ แก้ข้อแพลง และอาการปวดข้อ (เปลือกต้น)[1]
3. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรักษาอาการหนาวสั่นจากอาการไข้หวัดได้ (เปลือกต้น)[2]
4. เปลือกต้นเอามาต้มกับน้ำดื่มสามารถเป็นยาแก้อาการท้องเสียได้อีกด้วย (เปลือกต้น)[2]
5. เปลือกต้นเป็นยาแก้เลือดกำเดาไหล (เปลือกต้น)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

สารสกัดจากลำต้นประกอบด้วยแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์ในการลดการบีบตัวของลำไส้สัตว์ทดลอง[1]

ประโยชน์ของนางพญาเสือโคร่ง

1. ผล มีรสชาติเปรี้ยวรับประทานได้ แต่ไม่ค่อยนิยมรับประทานกัน และไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ท้องเสียได้[2]
2. ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากออกดอกที่ดกสวยงาม และยังใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำ เนื่องจากเป็นไม้ที่เติบโตได้เร็ว ทนทานต่อไฟป่า และต้องการแสงที่มาก จึงเหมาะที่จะนำไปปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าดิบเขาในพื้นที่ต้นน้ำ หรือนำไปปลูกในพื้นที่ที่ผ่านการทำไร่เลื่อนลอยบนพื้นที่สูง แต่ไม่ควรนำไปปลูกบนพื้นที่ที่มีลมพัด เพราะกิ่งก้านจะหักได้ง่าย[2]
3. เนื้อไม้นั้นอ่อน สามารถนำมาใช้ทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรได้

ซากุระเมืองไทย

สำหรับสถานที่เที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่งในประเทศไทยมีอยู่หลายที่ด้วยกัน เช่น ขุนช่างเคี่ยน จ.เชียงใหม่ (เป็นสถานที่เที่ยวชมยอดฮิตมาก ๆ ของภาคเหนือ), ขุนแม่ยะ (หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ) จ.แม่ฮ่องสอน, สถานีเกษตรหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่, จ.เชียงใหม่, ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่, ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่, ภูลมโล จ.เลย, ดอยช้าง-ดอยวาวี จ.เชียงราย, ดอยแม่ตะมาน เป็นต้น

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ฉวีวรรณ”. หน้า 177.
2. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “นาง พญา เสือ โคร่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [08 ม.ค. 2015].
3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ชมพูภูพิงค์, นาง พญา เสือ โคร่ง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [07 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by kampee patisena, Jeeranan R, Min Sheng Khoo, Tassaphon Vongkittipong, Jim Mayes, Saroj Kumar Kasaju, norsez, Nareerat Klinhom, kampee patisena)