เข็มป่า
เข็มป่า เป็นดอกไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมักพบในป่าเขตร้อนแถบเอเชีย ซึ่งดอกสีขาวขนาดเล็กเด่นสะดุดตามีสรรพคุณทางตำหรับยาใช้เป็นยารักษาริดสีดวงจมูก ลดเสมหะ โรคตาแดง แก้บิด รักษาโรคหิด รวมถึงใบและรากใช้เป็นยาพอกฝี มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Ixora cibdela Craib จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข็มตาไก่ (เชียงใหม่), เข็มโพดสะมา (ปัตตานี), เข็มดอย (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), เข็มไทย เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ต้น เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นแตกกิ่งก้านค่อนข้างต่ำ มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม ลำต้นมีขนาดใหญ่ประมาณเท่าข้อมือ เปลือกต้นมีสีเทาปนกับสีน้ำตาล มีความสูงของต้นอยู่ที่ประมาณ 3-4 เมตร สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง มักขึ้นตามธรรมชาติในป่าทั่วไปในประเทศไทย[1],[2]
- ใบ มีลักษณะเป็นรูปไข่ยาว ปลายใบเรียวและแหลม ส่วนตรงขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2.5 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 6-18 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวสด[1],[2]
- ดอก ดอกมีขนาดที่เล็ก และจะออกดอกเป็นพวงคล้ายกับดอกเข็มธรรมดา แต่จะมีดอกเป็นสีขาว สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1]
- ผล มีลักษณะที่ค่อนข้างกลมและเป็นสีเขียว ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ ตัวเมล็ดมีเนื้อหุ้มอยู่ สามารถใช้รับประทานได้ มีรสหวานปะแล่ม ๆ[1],[2
สรรพคุณของเข็มป่า
1. ดอก สามารถใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง ตาเปียก ตาแฉะ (ดอก)[1]
2. ผล มีสรรพคุณเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูก (ผล)[1]
3. ใบ สามารถใช้เป็นยาฆ่าพยาธิทั้งปวง (ใบ)[1]
4. เปลือกต้น สามารถนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดหูฆ่าแมงคาเข้าหู (เปลือกต้น)[1]
5. ราก มีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะในทรวงอกและในท้อง (ราก)[1]
ประโยชน์ของเข็มป่า
1. ผล สามารถใช้รับประทานได้ มีรสหวานปะแล่ม[2]
2. สามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวย และมีกลิ่นหอม มักปลูกกันตามวัดวาอารามแล้วตัดแต่งให้เป็นทรงพุ่มให้ดูสวยงาม[2]
หมายเหตุ : เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นเข็มป่าที่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavetta indica L. (มีชื่อท้องถิ่นอื่นว่า เข็มโคก) และต้นข้าวสารป่า ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavetta tomentosa Roxb. ex Smith. (มีชื่อท้องถิ่นว่า เข็มป่า เข็มแพะ เข็มขาว กระดูกงูเหลือ) ซึ่งทั้ง 3 ชนิดต่างก็มีสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เ ข็ ม ป่ า”. หน้า 151.
2. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “เ ข็ ม ป่ า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [08 เม.ย. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.territorynativeplants.com.au/pavetta-brownii-syn-ixora-tomentosa