กะเจียน
กะเจียน ในชื่อทางวิทยาศาสตร์ Polyalthia cerasoides (Roxb.) Bedd. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]
สมุนไพรกะเจียน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สะบันงาป่า (ภาคเหนือ), เสโพลส่า (ไทใหญ่-แม่ฮ่องสอน), ค่าสามซีก (เชียงใหม่), เหลือง ไม้เหลือง (ลำปาง), โมดดง (ระยอง), จันทน์ดง ทรายเด่น (ขอนแก่น), ไชยเด่น (อุบลราชธานี), กะเจียน พญารากดำ (ชลบุรี), แคหาง (ราชบุรี) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของกะเจียน
- เป็นไม้ยืนต้นที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนไปถึงขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรง มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ กิ่งเกือบตั้งฉากกับลำต้น เปลือกต้นนั้นเรียบมีสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน ตามกิ่งอ่อนจะมีขนนุ่มปกคลุม ส่วนกิ่งที่แก่แล้วผิวจะเรียบเกลี้ยง ลำต้นและกิ่งแก่ มีช่องอากาศสีเหลืองอ่อนอยู่ทั่วไป การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน แต่จะขึ้นได้ดีในดินที่ร่วนซุย ชอบที่ที่มีแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นอยู่ทั่วทุกภาคมักพบเห็นขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทั่วไป บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 700 เมตร[1],[2],[3],[5]
- ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปรี ยาวรี หรือรูปหอกแกมรูปขอบขนาน มักจะเบี้ยว ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นมนจนเว้าเข้า มีลักษณะเบี้ยว ส่วนขอบใบนั้นเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบาง หลังใบเกลี้ยงมีสีเขียวเข้ม ส่วนบริเวณท้องใบมีขนนุ่ม ๆ เป็นสีจาง ๆ หรือสีขาวอมเทา เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-15 เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร ก้านใบนั้นสั้นมากและมีขนสั้น ๆ ยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ส่วนใบอ่อนมีขนนุ่ม ๆ อยู่ทั่วไป และขนจะค่อย ๆ ร่วงเมื่อใบแก่ ยกเว้นตามเส้นใบและเส้นแขนงใบ[1],[2],[3]
- ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกไม่เกิน 3 ดอก โดยจะออกตามง่ามใบและเหนือรอยแผลใบไปตามกิ่ง ก้านดอกเรียวยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เมื่อดอกบานได้อย่างเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 2.5 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกมี 2 ชั้น เรียงสลับกัน ชั้นละ 3 กลีบ รวม 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ หนา และเกลี้ยง ส่วนกลีบดอกชั้นในจะใหญ่และยาวกว่ากลีบดอกชั้นนอกเล็กน้อย ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะบาง มีอยู่ 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วเล็ก ๆ ที่ปลายแหลม มีขนนุ่มทั้งสองด้าน ก้านดอกยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ตรงก้านนั้นมีขนขึ้นประปราย ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่เป็นจำนวนมากและอยู่กันชิดแน่นเป็นพุ่มกลม[1],[2],[3] ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[5]
- ผลเป็นช่อโปร่ง ออกผลเป็นกลุ่มหรือกระจุกกันอยู่บนแกนตุ้มกลม มีผลย่อยประมาณ 10-20 ผล ผลมีลักษณะป้อมหรือเป็นรูปทรงกลมรี ผลมีขนาดประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่ง ก้านผลย่อยมีขนาดที่เรียวเล็กยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร โคนก้านติดรวมกันอยู่บนปลายก้านช่อที่โตเป็นตุ้ม ผลตอนอ่อนเป็นสีเขียว ผลตอนที่แก่จัดแล้วนั้น จะเปลี่ยนเป็นสีแดง ภายในผลมี 1 เมล็ด[1],[2],[3] ออกผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[5]
สรรพคุณของกะเจียน
1. เปลือกใช้เข้ายาพื้นเมืองบางชนิด (เปลือก)[2]
2. รากกับเนื้อไม้ นำเอามาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย และไตพิการ (ราก)[1],[2],[6]
3. ในตำรายาพื้นบ้านเขียนไว้ว่า รากนำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยาบำรุงกำหนัด เพิ่มพลังทางเพศ บำรุงกำลังสำหรับบุรุษ กินแล้วกระชุ่มกระชวย คลายเส้นเอ็น และช่วยปรับสภาพร่างกายได้ (ราก)[1],[4],[6]
4. ใบสดมีรสชาติที่เฝื่อนเย็น เอามาตำพอกฝี แก้ปวด แก้อักเสบได้ (ใบ)[6]
5. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[4],[6]
6. เนื้อไม้มีรสชาติที่ขม จึงนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร (เนื้อไม้)[6]
7. เนื้อไม้เอามาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้วัณโรคในลำไส้ และวัณโรคในปอดได้ (เนื้อไม้)[6]
8. เนื้อไม้นั้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (เนื้อไม้)[1],[6]
9. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยาคุมกำเนิดในสตรี (ราก)[1],[4],[6]
10. เนื้อไม้นำมาฝนกับน้ำปูนใสทาเกลื่อนหัวฝี (เนื้อไม้)[6]
11. เนื้อไม้นำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ปวดหลัง ปวดเอว (เนื้อไม้)[1],[6] หรือจะใช้ส่วนรากแทนโดยการนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายก็ได้เช่นกัน (ราก)[1]
ประโยชน์ของกะเจียน
1. ผลที่สุกนั้นในส่วนของเนื้อหุ้มเมล็ดจะมีรสชาติที่หวาน สามารถนำมารับประทานได้[5]
2. เนื้อไม้มีสีขาวอมเหลือง สามารถใช้ทำด้ามเครื่องเกษตรกรรมทั่วไปได้[3] หรือจะใช้ในการทำเครื่องจักสานและเครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ ก็ได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กะเจียน”. หน้า 68.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พญารากดำ”. หน้า 526-527.
3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กะเจียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [21 มิ.ย. 2015].
4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กะเจียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [22 มิ.ย. 2015].
5. พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “กะเจียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [22 มิ.ย. 2015].
6. กรีนคลินิก. “กระเจียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th. [22 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ
https://www.kasettambon.com/
http://flora-peninsula-indica.ces.iisc.ac.in/herbsheet.php?id=699&cat=7