โพทะเล ไม้มงคลตามชายหาด ช่วยรักษาแผล รักษาหิดและเป็นยาระบาย
โพทะเล ไม้มงคลประจำจังหวัดสมุทรปราการ เป็นดอกที่มีสีเหลืองอ่อน ดอกและผลรับประทานได้

โพทะเล

โพทะเล (Portia tree) รู้จักกันในนามของไม้มงคลประจำจังหวัดสมุทรปราการ เป็นดอกที่มีสีเหลืองอ่อนสวยงาม สามารถนำดอกและผลมารับประทานได้ เป็นไม้กลางแจ้งที่พบตามชายฝั่งทะเลและตามริมแม่น้ำที่เป็นดินร่วนปนทราย ในบางประเทศนิยมปลูกต้นโพทะเลไว้ตามวัดเพราะถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ โพทะเลยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรในการรักษาได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโพทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thespesia populnea (L.) Sol. ex Corrêa
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Portia tree” “Cork tree” “Coast cotton tree” “Indian tulip tree” “Pacific rosewood” “Seaside mahoe” “Milo” “Thespesia” “Tulip tree” “Rosewood of Seychelles” “Yellow mallow tree” และ “Umbrella tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “โพทะเล โพธิ์ทะเล” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “ปอกะหมัดไพร” จังหวัดเพชรบุรีเรียกว่า “ปอหมัดไซ” จังหวัดปัตตานี มลายูและนราธิวาสเรียกว่า “บากู”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชบา (MALVACEAE)
ชื่อพ้อง : Hibiscus populneus L.

ลักษณะของโพทะเล

โพทะเล เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีการกระจายพันธุ์ในแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงภูมิภาคมาเลเซียและในหมู่เกาะแปซิฟิก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลทั่วไป เป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิดที่มีความชุ่มชื้น
ลำต้น : ลำต้นโค้งและแตกกิ่งในระดับต่ำ ต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างและค่อนข้างหนาทึบ
เปลือกต้น : เปลือกเป็นสีเทาอ่อนหรือสีน้ำตาล มีลักษณะเรียบหรือขรุขระและมีรอยแตกตามยาวเป็นร่อง ๆ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบกว้างแหลมยาวถึงเรียวแหลม ส่วนฐานใบเว้าลึก ขอบใบเรียบและมีเส้นใบออกจากโคนของใบประมาณ 5 – 7 เส้น ผิวใบด้านบนมีลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเทาแกมสีน้ำตาลและมีเกล็ด มีหูใบที่มีลักษณะเป็นรูปใบหอกและหลุดร่วงได้ง่าย
ดอก : ออกดอกตามง่ามใบ เป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบ ก้านดอกอ้วนสั้นและมีเกล็ด ดอกมีริ้วประดับ 3 แฉกและร่วงได้ง่าย มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ๆ วงกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยไม่มีแฉกลักษณะคล้ายแผ่นหนัง ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองลักษณะเป็นรูปไข่ โคนกลีบติดกันเป็นรูประฆังและมีจุดสีแดงเข้มอมสีน้ำตาลแต้มอยู่ที่โคนกลีบดอกด้านใน โดยดอกจะบานเต็มที่ภายในวันเดียวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแกมสีม่วงอ่อนและเหี่ยวอยู่บนต้นก่อนที่จะร่วงหล่นในวันถัดมา
ผล : ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เป็นสันตื้น ๆ 5 สัน และมีน้ำยางสีเหลือง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวเข้ม เปลือกผลแข็ง มีวงกลีบเลี้ยงลักษณะคล้ายจานติดอยู่ที่ขั้วของผล เมื่อผลแก่จะแห้งแตกไม่มีทิศทาง ไม่ร่วงหล่นและติดอยู่บนต้น
เมล็ด : ในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ดหรือมีเมล็ด 4 เมล็ดในแต่ละช่อง เมล็ดเป็นวงรียาวคล้ายเส้นไหม มีสีน้ำตาลอ่อนค่อนข้างแบน

สรรพคุณของโพทะเล

  • สรรพคุณจากราก เป็นยาบำรุง เป็นยารักษาอาการไข้ เป็นยาระบาย เป็นยาขับปัสสาวะ
  • สรรพคุณจากดอก
    – รักษาอาการเจ็บหู ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 2 – 3 ดอก มาต้มกับน้ำนมครึ่งถ้วยตวง แล้วนำมาหยอดหู
  • สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาที่ช่วยให้อาเจียน
    – รักษาแผลเรื้อรัง แผลสด และช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการนำเปลือกมาต้มน้ำแล้วพอกบริเวณที่เป็นแผล
  • สรรพคุณจากเมือก รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาระบายอ่อน ๆ
    – รักษาแผลเรื้อรัง แผลสด และช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 2 – 3 ใบ มาบดให้เป็นผงละเอียดแล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นแผล
    – แก้หิด ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอก
  • สรรพคุณจากผล
    – แก้หิด ด้วยการนำผลมาตำแล้วพอก

ประโยชน์ของต้นโพทะเล

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอก ผลและใบอ่อนสามารถนำมารับประทานได้
2. เป็นไม้ปลูกประดับ เป็นไม้โตเร็วและมีดอกขนาดใหญ่ จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือใช้ปลูกเพื่อความร่มเงาได้
3. เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เปลือกสามารถนำมาใช้ตอกหมันเรือหรือทำเชือกและสายเบ็ดได้ ไม้ของต้นโพทะเลมีคุณสมบัติคงทน แข็งแรง ทนปลวก เนื้อไม้เหนียว ไสกบตกแต่งได้ง่ายและขัดชักเงาได้เป็นอย่างดี มีสีแดงเข้มดูสวยงาม จึงสามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้

ข้อควรระวังของโพทะเล

1. น้ำมันที่ได้จากเมล็ด ยางจากต้นและเปลือก หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
2. เปลือกมีฤทธิ์ทำให้อาเจียนสำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการอาเจียน แต่ควรระวังสำหรับผู้ที่รับประทานแบบปกติ

โพทะเล เป็นต้นไม้มงคลที่มักจะพบตามชายฝั่งทะเล สามารถนำส่วนประกอบของต้นมารับประทานเป็นยาสมุนไพรได้ อีกทั้งยังมีดอกสีเหลืองอ่อนสวยงามน่าชมเหมาะกับการปลูกประดับสถานที่และให้ความร่มเงาได้ดี มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาอาการเจ็บหู รักษาแผล รักษาหิดและเป็นยาระบาย เป็นสมุนไพรแก้อาการพื้นฐานได้และยังนำมาเป็นส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ได้อีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. “โพทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th. [19 ธ.ค. 2013].
โรงเรียนดาราพิทยาคม ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์. “โพทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.drpk.ac.th. [19 ธ.ค. 2013].
หนังสือสมุนไพรพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด (สุทัศน์ จูงพงษ์).
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โพทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [19 ธ.ค. 2013].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พิษระคายเคืองผิวหนัง โพทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [19 ธ.ค. 2013].