โรคพิษสุนัขบ้าคือ
โรคพิษสุนัขบ้า ( Rabies ) หรือโรคกลัวน้ำ คือ โรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
สัตว์ชนิดใดเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้บ้าง
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ ในสหรัฐอเมริกาพบว่าสัตว์ป่า เช่น แรคคูน สกั้งค์ สุนัขจิ้งจอก และสุนัขโคโยตี้ เป็นตัวอมโรคหลักของเชื้อไวรัส สัตว์เลี้ยงที่มีรายงานว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้แก่ เช่น แมว ค้างคาว วัว ลิง ชะนี กระรอก กระต่าย โค กระบือ ม้า รวมถึงหนู เป็นต้น แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดสามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ถ้ามีการสัมผัสกับเชื้อไวรัส
คนติดโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร
โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วนหรือเลียบริเวณที่มีบาดแผลรอยถลอกหรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น และพบว่าสุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้บ่อยที่สุด นอกจากนี้การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้ คนสามารถติดโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด การติดเชื้อไวรัสทางอื่นอาจเกิดได้จากการสัมผัสสมองหรือน้ำ ไขสันหลังของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือหายใจเอาเชื้อไวรัสจากเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อเข้าไป
ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนมากจะไม่แสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าจนกระทั่ง 1-3 เดือนหลังจากได้รับเชื้อ อาการแรกเริ่มคือ มีไข้ปวดหัว คันบริเวณที่ถูกกัด สับสน และพฤติกรรมผิดปกติคนที่ติดเชื้อจะไวต่อแสงและเสียงมากกว่าปกติและกลืนลำ บาก เมื่อเริ่มแสดงอาการออกมาแล้วโอกาสหายจากโรคมีน้อยมาก และผู้ป่วยมักตายภายใน 2-10 วัน ถ้าได้รับการรักษาก่อนแสดงอาการ จะได้ผลดีมากและสามารถรักษาชีวิตไว้ได้
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า
หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผลรวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บ เสียวแปล๊บคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน
2. ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน
3. ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
การปฏิบัติตนเมื่อถูกสัตว์กัด
1. รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง นานอย่างน้อย 15 นาที ล้างทุกแผลและล้างให้ลึกถึงก้นแผล แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อบริเวณแผล เช่น ยาโพวิโดนไอโอดีน เป็นต้น
2. จดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและสังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน ถ้าสบายดีไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ
3. ไปพบแพทย์ทันทีพร้อมนำสมุดวัคซีนหรือประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักไปด้วย เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า เช่น ถูกกัดหรือข่วน แพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยักและยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ในกรณีที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง แพทย์อาจพิจารณาให้อิมมูโนโกลบุลินซึ่งมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะฉีดประมาณ 3-5 ครั้ง เป็นวัคซีนมีความปลอดภัยสูงสามารถฉีดได้ทุกวัย รวมทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีประสิทธิภาพสูงหากไปรับการฉีดตามแพทย์นัดทุกครั้ง
การป้องกันสัตว์จากโรคพิษสุนัขบ้า
การป้องกันโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุด สัตว์ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหลีกเลี่ยงให้ห่างจากสัตว์ป่าสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว และเฟอร์เร็ตที่กัดคนแต่ไม่แสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าควรต้องกักไว้สังเกตอาการ ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์อย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์แสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงนี้ ต้องทำการการุณยฆาตและส่งตัวอย่างเพื่อตรวจชันสูตรโรคต่อไป
การป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีแนวทางในการป้องกันดังนี้
1. ควบคุมไม่ให้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
1.1พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนด และฉีดซ้ำทุกปี
1.2ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ ทุกครั้งที่จะนำสุนัขออกนอกบ้านควรอยู่ในสายจูง
1.3ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด โดยไม่แหย่หรือรังแกให้สัตว์โมโห รวมทั้งไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
3. ถ้าถูกสัตว์กัดแล้ว ควรปฎิบัติตามคำแนะนำข้างต้น
4. พิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สัตวแพทย์ ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงและขายสัตว์ เป็นต้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาจทำให้การเข้าถึงวัคซีน การตรวจทางน้ำเหลือง รวมถึงการมารับวัคซีนกระตุ้นตามนัดทำได้ยากลำบาก หรืออาศัยอยู่บนพื้นที่ที่มีแหล่งรังของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ป่า รวมถึงเด็กที่เลี้ยงสุนัขและแมวเป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า และเมื่อถูกสัตว์กัดจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ภัยร้ายใกล้ตัว (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.siphhospital.com [28 พฤษภาคม 2562].
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.cfsph.iastate.edu [28 พฤษภาคม 2562].