ข้าวสารดอกเล็ก ดอกสีขาวส่งกลิ่นหอม มีสรรพคุณที่ช่วยรักษาโรคทางดวงตา
ข้าวสารดอกเล็ก มีดอกสีขาวขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม ฝักเป็นสีเขียว ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลและมีขนสีขาว

ข้าวสารดอกเล็ก

ข้าวสารดอกเล็ก (Raphistemma hooperianum) มีดอกสีขาวขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม มักจะพบตามชายป่าหรือที่รกร้างทั่วไป เป็นต้นที่คนไม่ค่อยรู้จักหรือเคยได้ยินแต่อยู่ในตำรายาไทยที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรด้วย สามารถนำดอกมาใช้ใส่ในแกงส้มซึ่งให้รสชาติที่อร่อยและยังนำส่วนเถามาทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกได้ ข้าวสารดอกเล็กสามารถนำมาปลูกเพื่อให้กลิ่นหอมและเพื่อใช้รับประทานเป็นผักได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของข้าวสารดอกเล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Raphistemma hooperianum (Blume) Decne.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ข้าวสาร เครือข้าวสาร” ภาคอีสานและจังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “ปลายสาน ดอกข้าวสาร ผักข้าวสาร” จังหวัดสกลนครเรียกว่า “เคือคิก” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “ข้าวสารดอกเล็ก” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “เมือยสาร”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)

ลักษณะของข้าวสารดอกเล็ก

ข้าวสารดอกเล็ก เป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้เถาเลื้อยพันที่พบตามชายป่าดิบทั่วไป ชายป่าธรรมชาติ บริเวณสวนที่รกร้างหรือบริเวณป่าไผ่
ลำต้น : ลำต้นเกลี้ยงและมีน้ำยางสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมเป็นหางยาว โคนใบเว้าทั้งสองข้าง ห้อยเป็นรูปติ่งหู ขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง ด้านบนที่โคนเส้นกลางใบจะมีขนสั้นและออกเป็นกระจุก ก้านใบมีลักษณะเล็กและยาว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 4 – 7 ดอก ดอกมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม กลีบรองดอกเป็นรูปไข่ปลายมน มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีขาวก่อนและจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองนวล ส่วนโคนจะเชื่อมติดกันเป็นท่อ ตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ มีลักษณะยาวกว่าท่อดอกเล็กน้อย ที่ปลายกลีบมีสีแต้มสีม่วง เส้าเกสรมีสีขาว มักจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว
ผล : ลักษณะของผลจะเป็นฝักรูปไข่แกมขอบขนานหรือเป็นรูปกระสวย ฝักเป็นสีเขียว ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลและมีขนสีขาว

สรรพคุณของข้าวสารดอกเล็ก

  • สรรพคุณจากราก ตำรายาไทยใช้ถอนพิษ ทำให้อาเจียนและระงับพิษทั้งปวง
    – เป็นยารักษาตาอย่างแก้ตาแดง แก้ตาอักเสบ แก้ตาแฉะ แก้ตามัว แก้ตาฝ้าฟาง ป้องกันโรคต้อกระจก เป็นยาหยอดตา ด้วยการนำรากตากแห้งมาบดแล้วทานเป็นยา

ประโยชน์ของข้าวสารดอกเล็ก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกนำมาใส่ในแกงส้ม เถาใช้ลอกเปลือกจิ้มกับน้ำพริก โคนต้นที่หมกดินนำมาล้างแล้วต้มลอกเปลือกใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือน้ำปลาร้า
2. ปลูกเพื่อรับประทาน

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวสารดอกเล็ก

พบสาร Cardiac glycoside ในเมล็ดข้าวสารดอกเล็ก ซึ่งเป็นสารในธรรมชาติที่มักจะพบในวงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae) เป็นสารที่มีพิษจึงนิยมนำมาทำเป็นธนูอาบยาพิษแต่ก็เป็นสารที่ใช้ในการรักษาได้เช่นกัน

ข้าวสารดอกเล็ก เป็นต้นที่อยู่ในตำรายาไทยและมีดอกสีขาวกลิ่นหอมชวนให้น่าปลูก นอกจากนั้นยังนำส่วนต่าง ๆ ของต้นโดยเฉพาะดอกและเถามารับประทานได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาอยู่ที่ส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยถอนพิษ ดีต่อดวงตาและรักษาโรคที่เกี่ยวกับตาได้ ข้าวสารดอกเล็กเหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคทางดวงตาเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ข้าวสารดอกเล็ก”. หน้า 124-125.
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ข้าวสารดอกเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [15 มี.ค. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ข้าวสารดอกเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [15 มี.ค. 2015].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “ข้าวสารดอกเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.m-culture.in.th. [15 มี.ค. 2015].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ข้าวสารดอกเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [15 มี.ค. 2015].