แสมสาร ต้านมะเร็ง บำรุงเลือด แก้เบาหวาน ช่วยในการนอนหลับ
แสมสาร ไม้ยืนต้นที่มีดอกสีเหลือง มีรสขม ผลเป็นฝักแบนบิด เปลือกฝักค่อนข้างบาง

แสมสาร

แสมสาร (Senna garrettiana) เป็นไม้ยืนต้นที่มีดอกสีเหลือง ซึ่งจะนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับไว้ตามข้างทางทั่วไป เพราะมีทรงพุ่มเป็นเรือนยอดสวยงาม เมื่อยามออกดอกจะมีดอกขาวโพลนหนาแน่น นอกจากนั้นเรามักจะพบเจอแสมสารได้ในแกงต่าง ๆ ทั้งต้นส่วนมากจะมีรสขม ดังนั้นก่อนนำมารับประทานจึงต้องทำการต้มเพื่อลดความขมลงก่อน แสมสารยังเป็นต้นที่ส่วนต่าง ๆ นำมาประกอบเป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของแสมสาร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna garrettiana (Craib) H.S.Irwin & Barneby
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ขี้เหล็กโคก ขี้เล็กแพะ” ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ขี้เหล็กป่า” จังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรีเรียกว่า “ขี้เหล็กสาร” ชาวบน นครราชสีมาเรียกว่า “กราบัด กะบัด” ชาวเขมรสุรินทร์เรียกว่า “ไงซาน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Cassia garrettiana Craib

ลักษณะของแสมสาร

แสมสาร เป็นไม้ยืนต้นที่มักจะพบตามบริเวณป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าที่ราบต่ำทั่วไปและป่าผลัดใบ ในประเทศไทยพบทุกภาคยกเว้นภาคใต้
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง มีเนื้อไม้แข็ง กิ่งแตกแขนงเป็นเรือนยอดกลมทึบ เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ลำต้นขรุขระแตกเป็นร่องลึก แตกเป็นสะเก็ดเหลี่ยม ตามกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 6 – 9 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปหอก หรือรูปหอกถึงรูปไข่กว้าง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือกลม ขอบใบเรียบ หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 10 – 15 เส้น หูใบเรียวเล็กและหลุดร่วงได้ง่าย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อใหญ่ โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือออกตามมุมก้านใบ แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมากเบียดกันแน่นเป็นกระจุก ดอกย่อยเป็นสีเหลือง สีเหลืองเข้มหรือสีเหลืองทอง กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายกลีบดอกมน โคนกลีบดอกเรียว ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นรูปกลม เป็นสีเขียวออกเหลือง มีเกสรเพศผู้ติดอยู่กับผนังกลางดอก 10 อัน ก้านเกสรเป็นสีน้ำตาลมีขนาดยาวไม่เท่ากัน รังไข่และหลอดเกสรเพศเมียเกลี้ยงหรือมีขนประปราย มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
ผล : ออกผลเป็นฝักแบน ฝักมักจะบิด เปลือกฝักค่อนข้างบาง ผิวฝักเรียบเกลี้ยงไม่มีขน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่ฝักจะบิดและแตกออกเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 10 – 20 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่ มักจะติดฝักในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และผลจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม

สรรพคุณของแสมสาร

  • สรรพคุณจากแสมสาร ช่วยบำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต ช่วยเจริญธาตุไฟ ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โลหิตประจำเดือนเสีย ช่วยแก้ไตพิการ ทำให้แท้ง ทำให้มดลูกคลายตัว เป็นพิษต่อตัวอ่อน กระตุ้นมดลูก ต้านมะเร็ง
    สรรพคุณจากแก่น เป็นยาแก้โลหิต แก้ลม ช่วยถ่ายกระษัยหรือป้องกันความเสื่อมโทรมของร่างกาย ช่วยแก้โลหิตกำเดา เป็นยาถ่ายเสมหะ ขับเสมหะ เป็นยาระบาย ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นสี แก้ปัสสาวะพิการ ช่วยฟอกถ่ายประจำเดือนของสตรี ช่วยทำให้เส้นเอ็นอ่อนหรือหย่อน แก้ปวดเมื่อย ช่วยแก้ลมในกระดูก
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาฟอกโลหิต
  • สรรพคุณจากยอด
    – แก้โรคเบาหวาน ด้วยการนำยอดมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากดอก
    – แก้นอนไม่หลับ ด้วยการนำดอกมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น
    – ขับเสมหะ แก้ริดสีดวงทวาร ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาถ่าย บำบัดโรคงูสวัด ช่วยรักษาแผลสดและแผลแห้ง บำบัดโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว

ประโยชน์ของแสมสาร

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกอ่อนและใบอ่อนทานเป็นผักได้แต่ต้องนำมาต้มเพื่อลดความขมลงก่อนจะนำไปแกง
2. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้มีความทนทาน และไม่แข็งมากจนเกินไป นิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องมือช่าง ทำสลัก
3. ใช้ด้านเชื้อเพลิง ทำเป็นถ่านไม้และฟืน ซึ่งจะเป็นถ่านที่ให้ความร้อนสูงถึง 6,477 แคลอรี/กรัม ถ้าเป็นฟืนจะให้ความร้อน 4,418 แคลอรี/กรัม
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นไม้ประดับไว้ตามข้างทางทั่วไป

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแสมสาร

สารที่พบในแสมสาร พบว่ามีสารในกลุ่มแอนทราควิโนนอยู่หลายชนิดได้แก่ Chrysophanol และ Cassialoin ยังพบ aloe emodin, aloin, deoxy, benz – (D – E) – anthracene – 7 – one, 7 – (H): 6,8 – dihydroxy – 4 methyl, betulic acid, bibenzyl, 3,3′ – 4 – trihydroxy, bibenzyl, 3,3′ – dihydroxy, cassialoin, cassigarol A, B, C, D, E, F, G, chrysophanic acid, chrysophanol dianthrone, quercetin, piceatannol, piceatanol, protocatechuic aldehyde, scirpusin B, rhamnetin, rhamnocitrin
ฤทธิ์ของแสมสาร มีฤทธิ์ด้านฮิสตามีน ด้านการบีบตัวของลำไส้ มีฤทธิ์เหมือน Lectin ยับยั้งเอนไซม์ H+,H+-ATPase และ lipoxygenase หยุดการขับน้ำย่อย
การทดสอบความเป็นพิษของแสมสาร เมื่อป้อนสารสกัดจากแก่นแสมสารด้วยแอลกอฮอล์และน้ำ ในอัตรา 1:1 หรือฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูถีบจักรทดลองในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษใด ๆ

แสมสาร เป็นต้นที่นิยมนำส่วนของเนื้อไม้และแก่นมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ทั้งต้นจะมีรสขมและทำให้รับประทานได้ยากจึงต้องนำมาต้มให้หายขมเสียก่อนจึงจะนำมารับประทานได้ สามารถพบแสมสารได้ตามข้างทางทั่วไปหรือในเมนูอาหารประเภทแกง แสมสารมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของแก่น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ต้านโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว แก้โรคเบาหวาน แก้นอนไม่หลับ ช่วยบำรุงโลหิต แก้โรคปัสสาวะและเป็นยาระบาย เป็นต้นที่มีสรรพคุณได้หลากหลายด้าน ถือเป็นต้นที่น่าสนใจในการนำมาใช้ทำแกงในอาหารได้ เพราะนอกจากจะเป็นวัตถุดิบทางอาหารแล้ว เรายังได้ประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “แสมสาร (Samae San)”. หน้า 309.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “แสมสาร”. หน้า 145.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “แสมสาร”. หน้า 78.
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. “แสมสาร”.
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “แสมสาร กะบัด ขี้เหล็กโคก ขี้เหล็ก คันชั่ง ขี้เหล็กแพะ ขี้เหล็กสาร ไงซาน กราบัด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [15 มิ.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “แสมสาร”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [15 มิ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/