ผักโขมหนาม อุดมไปด้วยวิตามินซี ช่วยแก้ไข้ แก้บิด แก้นิ่ว แก้บวมอักเสบ
ผักโขมหนาม เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรงและแตกกิ่ง ออกดอกเป็นช่อ ผลมีเมล็ดเป็นรูปทรงกลมสีน้ำตาลเป็นมันเงา

ผักโขมหนาม

ผักโขมหนาม (Spiny amaranth) เป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาเขตร้อน สามารถนำมารับประทานในรูปแบบของผักได้ โดยนิยมนำมาทำแกงหรือผัดผัก ถือเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงสุดชนิดหนึ่ง และยังมีคุณค่าทางอาหารอีกด้วย ดูจากภายนอกนั้นผักชนิดนี้ดูไม่มีอะไรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ส่วนต่าง ๆ ของต้นคือยาที่มีสรรพคุณทั้งนั้น มีดอกเป็นเหมือนกาบปลายแหลมสีขาวและเขียวขนาดเล็กและผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ภายใน เป็นพืชในวงศ์บานไม่รู้โรยที่มีชื่อเรียกที่นิยมอีกชื่อว่า “ผักโขมสวน”

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักโขมหนาม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amaranthus spinosus L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Spiny amaranth” “Spiny pigweed”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักขมหนาม ผักหมหนาม ผักขมสวน” ภาคใต้เรียกว่า “ผักโขมหนาม” เขมรเรียกว่า “ปะตึ ปะตี” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “แม่ล้อคู่ กะเหม่อลอมี แม่ล้อกู่” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ด่อเร่น” ชาวลัวะเรียกว่า “บะโด่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)

ลักษณะของผักโขมหนาม

ผักโขมหนาม เป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียว
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงและแตกกิ่งมาก ลำต้นเป็นเหลี่ยมหรือกลม ผิวเรียบ มีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น การเกาะติดของใบบนกิ่งเป็นแบบสลับ
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกกว้าง ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ ลักษณะของขอบใบเป็นคลื่น มีหนามแหลมยาว 2 อันอยู่ที่โคนก้านใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด หรือเป็นช่อแบบกระจุก ออกบริเวณปลายกิ่ง ตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเท่าเมล็ด ลักษณะของกลีบดอกเป็นเหมือนกาบปลายแหลมสีขาวและเขียวขนาดเล็ก
ผล : ผลเป็นแบบแห้งแล้วแตก เป็นรูปขอบขนาน ปลายแยกเป็น 3 พู โดยจะแตกตามขวางของผล ผลมีเมล็ดเป็นรูปทรงกลม ตรงกลางทั้งสองด้านจะนูน เมล็ดมีสีน้ำตาลเป็นมันเงา

สรรพคุณของผักโขมหนาม

  • สรรพคุณจากราก ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยแก้ไข้ ระงับความร้อนในร่างกาย รักษาเด็กที่ลิ้นเป็นฝ้าละออง รักษาเด็กมีอาการเบื่ออาหาร ช่วยแก้อาการช้ำใน ช่วยแก้อาการจุกเสียด ช่วยแก้หนองใน รักษากามโรค ช่วยต่อต้านสารพิษที่มาทำลายตับ ช่วยแก้ขี้กลาก ช่วยแก้พิษ
    – แก้ฝี ด้วยการนำรากมาเผาไฟพอข้างนอกดำ แล้วจี้ที่หัวฝีจะทำให้ฝีที่แก่แตก
  • สรรพคุณจากทั้งต้น รักษาอาการบิดถ่ายเป็นเลือด มีฤทธิ์ในการบีบตัวของลำไส้เล็ก ช่วยรักษาอาการตกขาวของสตรี ช่วยแก้อาการบวมอักเสบต่าง ๆ ช่วยแก้พิษงู
    – ช่วยแก้อาการแน่นท้อง ช่วยแก้อาการตกเลือด ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับและส่งเสริมการไหลของน้ำนมของสตรี ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
    – แก้บวม ด้วยการนำทั้งต้นผสมกับข้าวโพดทั้งต้น แล้วต้มกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากต้น ใบและราก เป็นยาระบายในเด็ก ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนัง
  • สรรพคุณจากต้นสด
    – ช่วยรักษานิ่วในถุงน้ำดี ด้วยการนำต้นสดที่มีสีเขียวจำนวน 200 กรัม มาต้มกับไส้หมู 1 ท่อน แล้วนำมาทาน
  • สรรพคุณจากใบ ประเทศอินโดนีเซียใช้ในการพอกแผล ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยแก้พิษงู
    – แก้หนอง ด้วยการนำใบมาตำใช้พอกปิดแผล
  • สรรพคุณจากใบและราก
    – ช่วยรักษาอาการคันตามผิวหนัง ด้วยการนำใบต้มกับรากใช้อาบ

ประโยชน์ของผักโขมหนาม

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผักโขมนำมาทานเป็นผักได้ หรือนำลำต้นมาประกอบอาหารด้วยการลอกเปลือกและหนามออกให้หมด ส่วนใบ ยอดอ่อนและดอกใช้นึ่งกิน หรือนำไปคั่วและผัด ยอดอ่อนนิยมใช้ทำแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงอ่อม แกงใส่เนื้อหมูและผัดน้ำมัน ส่วนต้นอ่อนก็นำมาแกงได้

คุณค่าทางโภชนาการของผักโขมหนาม

คุณค่าทางโภชนาการของผักโขมหนามส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม ให้เบตาแคโรทีน 4 – 8 มิลลิกรัม วิตามินซี 60 – 120 มิลลิกรัม ธาตุแคลเซียม 300 – 400 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 4 – 9 มิลลิกรัม

ข้อควรระวังของผักโขมหนาม

ประเทศบราซิลได้มีรายงานว่า ผักโขมหนามมีพิษต่อวัว ควายและม้า ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการเบื่ออาหาร เซื่องซึม น้ำหนักตัวลดลง มีอาการท้องเสียและกลิ่นเหม็นมาก บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาในอุจจาระได้

ผักโขมหนาม ถือเป็นต้นที่มีวิตามินซีสูงและทำให้ต้านอนุมูลอิสระได้ มีคุณค่าทางโภชนาการและเหมาะต่อการนำมาประกอบอาหาร ซึ่งส่วนมากมักจะนำมาใช้ในการทำแกงต่าง ๆ ผักโขมหนามมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้บิด แก้ตกขาว แก้บวมอักเสบ รักษานิ่วในถุงน้ำดีได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ผักขมหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผักโขมหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ผักโขมหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [13 พ.ย. 2013].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Spiny amaranth, Spiny pigweed”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 พ.ย. 2013].
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. “ผักโขมหนาม สมุนไพรมากคุณค่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [13 พ.ย. 2013].
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่อง ผักขม“. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2543. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: dc.oas.psu.ac.th/dcms/files/03180/Chapter4(8-50).pdf‎. [13 พ.ย. 2013].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/