ข้าวเม่านก

ข้าวเม่านก

ข้าวเม่านก เป็นไม้ล้มลุกที่มักจะขึ้นในที่รกร้างทั่วไป มีดอกเป็นสีม่วงขนาดจิ๋วดูแล้วไม่ค่อยจะมีประโยชน์อะไร แต่ว่าข้าวเม่านกกลับเป็นต้นที่อยู่ในตำรายามากมายได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งอยู่ในตำราหมอยาพื้นบ้านและยาแฮงสามม้า เป็นยาของชาวลัวะ ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน ชาวขมุ ชาวไทลื้อ และชาวเขาเผ่าอีก้อ นอกจากนั้นยังนำมาคลุกกับน้ำยำกินเพื่อลดความร้อนในร่างกายได้ด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของข้าวเม่านก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tadehagi triquetrum (L.) H.Ohashi
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “คอกิ่ว” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “มะแฮะนก” จังหวัดลำปางเรียกว่า “หญ้าคอตุง” จังหวัดเลยเรียกว่า “ขี้กะตืด ขี้กะตืดแป” ชาวลัวะเรียกว่า “บอกบ่อ หญ้าใบเลี่ยม” ชาวขมุเรียกว่า “ตุ๊ดต๊กงล” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “หน่อเจ๊าะบิ๊ค่อ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “หญ้าคอตุงตัวเมีย ตานคอม้า ปอบหนอน หนอนหน่าย หนอนกิ่ว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Desmodium triquetrum (L.) DC.

ลักษณะของข้าวเม่านก

ข้าวเม่านก เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มักจะพบในป่าทั่วไป ตามไหล่เขาบริเวณทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งทั่วทุกภาค ชอบขึ้นบริเวณที่รกร้าง หรือริมทาง
ต้น : กิ่งก้านมีลักษณะเป็นสันสามเหลี่ยม แตกกิ่งก้านสาขามาก ยอดและกิ่งอ่อนเป็นสีแดงมัน มีหูใบเป็นสีเงินหรือสีเทาทั้งสองข้าง เมื่อแก่จะเป็นสีชา
ใบ : เป็นใบประกอบออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยใบเดียว ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปใบหอก แผ่นใบด้านบนเรียบ ส่วนด้านล่างมีขน ก้านใบแผ่เป็นปีก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะ รูปทรงกระบอก มักจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเป็นสีม่วง ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว ออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน คอดเป็นข้อประมาณ 6 – 8 ข้อ มีขนรูปตะขอขึ้นปกคลุมประปราย ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ส่วนผลแห้งเป็นสีน้ำตาล ผลแก่จะหลุดออกเป็นข้อละ 1 เมล็ด

สรรพคุณของข้าวเม่านก

  • สรรพคุณจากข้าวเม่านก เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ฆ่าพยาธิ ฆ่าแมลง ฆ่าหนอน รักษาอาการเจอพิษจากยาฆ่าแมลง พ่ออนุและพ่อหมอยาไทยนำข้าวเม่านกเป็นยาฆ่าเชื้อโรคอันตรายที่มาจากภายนอก
  • สรรพคุณจากทั้งต้นและราก
    – บำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย แก้อาการปวดหลัง แก้ปวดท้อง แก้อาหารไม่ย่อย แก้อาหารเป็นพิษ แก้โรคกระเพาะอาหาร เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แก้โรคตับ แก้ตับอักเสบและดีซ่าน โดยชาวเขาเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยง แม้ว และมูเซอนำทั้งต้นและรากมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยา
    สรรพคุณจากราก เป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้เกิดเรี่ยวแรงแข็งขัน ช่วยทำให้เลือดสะอาดและแข็งแรง เลือดลมเดินได้สะดวก ช่วยแก้อาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ช่วยให้เรี่ยวแรงฟื้นคืนกลับมา บำรุงเลือดลม
    – แก้ไข้มาลาเรีย ด้วยการนำรากอัคคีทวารผสมกับรากข้าวเม่านก แล้วต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – แก้อาการเจ็บท้อง แก้ท้องอืด แก้มีลมในท้อง โดยชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำรากมาต้มกับน้ำเป็นยา
    – แก้อาการปวดท้อง โดยชาวขมุนำรากข้าวเม่านกร่วมกับขี้อ้น มะแฟนข้าว หงอนไก่ และดูลอยมาต้มกับน้ำเป็นยา
    – แก้อาการปวดบวม โดยตำรายาพื้นบ้านนำรากมาต้มกับน้ำดื่มหรืออาบ
    – แก้ปวดหลังปวดเอว โดยชาวลัวะและชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – ช่วยบำรุงประสาท เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร เป็นยาแก้โรคตานซาง แก้อาการผอมเหลือง แก้พิษเบื่อพยาธิ ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – เป็นยาเย็นแก้ไข้ แก้ร้อนใน ด้วยการนำใบชงกับน้ำร้อนกิน
    – เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย ด้วยการนำใบเพสลาดของข้าวเม่านกมาคลุกกับน้ำยำกินเป็นยา
    – ฆ่าหนอนในแผลวัว รักษาแผลมีหนอง ด้วยการนำใบสดมาตำพอกหรือนำมาบดใส่แผล
  • สรรพคุณจากกิ่ง
    – เป็นยาเย็นแก้ไข้ แก้ร้อนใน ด้วยการนำกิ่งมาใส่กับผักหวานบ้านก้านตรง แล้วต้มกินเป็นยาเย็น
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – ช่วยแก้อาการไอเรื้อรังและวัณโรค ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มเคี่ยวแล้วดื่มวันละ 1 แก้ว เป็นประจำทุกวัน
    – เป็นยารักษาเด็กน้อยเป็นหวัด แก้อาการไซนัสอักเสบ แก้น้ำมูกไหล ด้วยการนำทั้งต้นมาแช่กับน้ำกิน
    – เป็นยารักษาอาการเหม็นในหูและโพรงจมูก ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกิน ให้กินไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะหาย
    – เป็นยารักษาวัณโรคปอด รักษาปอดไม่ดี ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกิน โดยกินครั้งละ 1 ถ้วย เช้าและเย็น
    – บำรุงไต ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกินเป็นยา
    – เป็นยาแก้ซาง แก้เด็กผมจ่อยไม่แข็งแรง แก้พุงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำอาบ โดยก่อนอาบให้กิน 3 อึก
    – เป็นยารักษาโรคผิวหนังและแผลทุกชนิด ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มเคี่ยว 10 แก้ว ให้เหลือ 1 แก้ว แล้วนำมาใช้ทาแผล
  • สรรพคุณจากใบแห้ง
    – เป็นยารักษาวัณโรคปอด รักษาปอดไม่ดี ด้วยการนำใบแห้งกับน้ำอุ่นครั้งละ 1 กรัม เช้าและเย็นจนกว่าจะหาย
    – เป็นยารักษารังแคหรือการติดเชื้อบนหนังศีรษะ ด้วยการนำใบแห้งของข้าวเม่านกกับใบแห้งของกระดังงามาแช่น้ำมันงาแท้ ใช้เป็นน้ำมันทาผมหมักไว้ประมาณ 30 นาที แล้วจึงสระออก หรือจะทาทิ้งไว้
  • สรรพคุณจากใบและลำต้น
    – เป็นยาฆ่าพยาธิ โดยชาวไทลื้อนำใบและลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม แต่ต้องดื่มติดต่อกันทุกวันอย่างน้อย 1 เดือน

ประโยชน์ของข้าวเม่านก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบเพสลาดของข้าวเม่านกนำมาใช้เป็นผัก โดยนำมาคลุกกับน้ำยำกิน
2. ใช้ทำยาสูบ ใบสดนำมาหั่นผสมยาเส้นและปูนขาวมวนบุหรี่สูบ
3. ป้องกันแมลง ใบสดใช้ปิดปากไหหมักปลาเพื่อป้องกันแมลงวันมาวางไข่ นำข้าวเม่านกมารูดใบออกแล้วนำไปวางบนปลาร้าที่มีหนอน มีผลทำให้หนอนหนี พ่อหมอเมืองนำมาใช้ในตำรับการทำธูปไล่แมลง
4. เป็นส่วนประกอบของยา หมอยาพื้นบ้านนำข้าวเม่านกเข้าตำรับยาหม้อใหญ่ ช่วยกันบูด

ข้าวเม่านก เป็นต้นที่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้านมาก ทั้งในการเป็นยาสมุนไพร สารช่วยกันบูด และเป็นยาฆ่าเชื้อโรค รวมถึงนำมาใช้ไล่แมลงได้ ข้าวเม่านกมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาฆ่าเชื้อโรค บำรุงร่างกาย แก้โรคกระเพาะอาหาร เป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคตับ บำรุงไต และช่วยบำรุงประสาทได้ ถือเป็นต้นที่ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพในหลายด้านได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะการบำรุงอวัยวะสำคัญหรือการป้องกันโรคอันตรายได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ข้าวเม่านก”. หน้า 207.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ข้าวเม่านก, หญ้าคอตุง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [27 มี.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ข้าวเม่านก”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [27 มี.ค. 2015].
หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 504, วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2554. (ผศ. วรรณา กัลยาณะวงศ์ ณ อยุธยา). “สมุนไพรใกล้บ้าน”.
กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “ตานคอม้า… ยอดยาม้า ฆ่าเชื้อโรค”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com. [27 มี.ค. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://www.ydhvn.com/news/cay-duoc-lieu-cay-mui-mac-cay-thoc-lep-cay-co-binh-tadehagi-triquetrum-l-ohashi-desmodium-triquetrum-l-dc
2.https://species.wikimedia.org/wiki/Tadehagi_triquetrum#/media/File:Desmodium_triquetrum_at_Blathur_2017_(1).jpg