ต้นกัดลิ้น
กัดลิ้น ในชื่อทางวิทยาศาสตร์ Walsura trichostemon Miq. จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)
สมุนไพรกัดลิ้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แก้วลาว (จันทบุรี), ขี้อ้าย (ลำปาง), มะค่าลิ้น (อุตรดิตถ์, ปราจีนบุรี), ลำไยป่า (อุตรดิตถ์)[1]
ลักษณะของกัดลิ้น
- ต้นกัดลิ้น หรือ ต้นลำไยป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 5-12 เมตร ลักษณะต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างถึงค่อนข้างกลม[1] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในต่างประเทศจะพบได้มากในประเทศพม่าและกัมพูชา[4]
- ใบกัดลิ้น เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยจำนวนทั้งสิ้น 3 ใบ ซึ่งใบย่อยใบตรงกลางจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ใบย่อยคู่ข้างนั้นจะอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนที่เชื่อมกันกับก้านใบย่อยจะป่องเป็นข้อ ๆ ลักษณะของใบย่อยนั้นจะเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานจนถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบเป็นเรียวแหลม ส่วนโคนใบเป็นสอบ ผิวใบด้านบนมีสีเขียว แต่ท้องใบนั้นมีสีที่อ่อนกว่า[1]
- ดอกกัดลิ้น ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตามปลายกิ่ง มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน ๆ อยู่ประปราย ดอกกัดลิ้นเป็นดอกขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยงทั้งหมด 5 กลีบซึ่งมีขนาดที่เล็กมาก มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมและมีขนสั้น ๆ ปกคลุม ส่วนกลีบดอกนั้นก็มี 5 กลีบเช่นกัน ดอกเป็นสีขาวนวล ลักษณะกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานปลายมน ความยาวประมาณ 6 เท่าของกลีบเลี้ยง ด้านนอกมีขนสั้น ๆ อยู่ประปราย และมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 อัน[1]
- ผลกัดลิ้น มีลักษณะกลม เมื่อผลสุกจะเป็นสีเหลือง มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน ๆ ขึ้นประปราย ผลมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยเมล็ดนั้นมีลักษณะกลม และมีเยื่อนุ่ม ๆ ห่อหุ้มเมล็ดอยู่[1],[2]
สรรพคุณของกัดลิ้น
1. ผลสุกรับประทานเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ (ผลสุก)[3]
2. รากช่วยในการขับลมในลำไส้ (ราก)[2]
3. ชาวอีสานมักนำกัดลิ้นเป็นส่วนผสมในยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
4. เปลือกของกัดลิ้นนั้นช่วยห้ามเลือด และใช้ชำระล้างบาดแผลได้ (เปลือก)[2],[4]
5. เปลือกนั้นสามารถช่วยสมานบาดแผลได้ (เปลือก)[2]
6. เนื้อผลเมื่อสุกนั้นช่วยรักษาแผลเปื่อยได้ (เนื้อผลสุก)[3]
7. แก่นหรือเปลือกนั้น ช่วยแก้หิด โดยการนำมาต้มทั้งเปลือกทั้งแก่นผสมกับยาอื่น (แก่น, เปลือก)[2]
8. รากและต้นของกัดลิ้นช่วยบำรุงเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นพิการได้ (ราก, ต้น)[2],[4]
9. รากนั้นสามารถช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ (ราก)[2]
ประโยชน์กัดลิ้น
1. ผลสุกมีรสชาติที่หวานนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้[3]
2. ผลสุกสามารถนำมาใช้ทำส้มตำร่วมกับผลตะโกได้[2],[5]
3. เนื้อไม้หรือลำต้นใช้สำหรับการก่อสร้างต่าง ๆ[2]
4. เนื้อไม้นำมาทำเป็นฟืนที่ให้ความร้อนสูงได้[3]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ข้อมูลพรรณไม้. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กัดลิ้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [15 พ.ย. 2013].
2. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “กัดลิ้น ลำไยป่า มะค่าลิ้น”, “กัดลิ้น, มะค่าลิ้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [15 พ.ย. 2013].
3. โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ndk.ac.th. [15 พ.ย. 2013].
4. การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “กัดลิ้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: inven.dnp9.com. [15 พ.ย. 2013].
5. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1. (สุทธิรา ขุมกระโทก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org. [15 พ.ย. 2013].
อ้างอิงรูปจาก 1.https://www.samunpri.com