โมกแดง ดอกหอมอมเปรี้ยวสีส้มแดง ดีต่อเส้นเลือดฝอยในร่างกายและแก้โรคบิด
โมกแดง เป็นไม้หายาก ทรงพุ่มที่มีสีส้มอมสีชมพูหรือสีแดง ดอกบานตอนกลางคืน มีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว

โมกแดง

โมกแดง (Wrightia dubia) เป็นไม้พุ่มที่มีสีส้มอมสีชมพูหรือสีแดงอย่างสวยงามและยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย ทว่าโมกแดงนั้นเป็นต้นไม้ที่หาได้ยาก ส่วนมากมักจะพบตามป่าผลัดใบหรือป่าดิบและไม่สามารถหาได้ง่าย ๆ เป็นต้นที่ดอกจะบานในตอนกลางคืน สามารถนำส่วนของยอดมารับประทานในรูปแบบของผักสดหรือนำมาเป็นส่วนประกอบในแกงได้ นอกจากนั้นยังนำส่วนของเปลือกเนื้อไม้และรากมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาอาการได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโมกแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia dubia (Sims) Spreng.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “โมกป่า” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “โมกมัน” จังหวัดตรังเรียกว่า “มุ มูก” จังหวัดภูเก็ตเรียกว่า “มูกมัน” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “โมกราตรี”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)

ลักษณะของโมกแดง

โมกแดง เป็นไม้พุ่มที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ตามป่าผลัดใบหรือป่าดิบ
เปลือกต้น : เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่ง กิ่งก้านมีขนาดเล็ก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบสอบไปจนถึงมน ขอบใบเรียบ ผิวใบมันเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบและท้องใบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีขนบริเวณเส้นใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อห้อยลงโดยจะออกตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีส้มอมสีชมพูหรือสีแดง มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายกลีบแหลม ขอบกลีบบิดเบี้ยว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน มีเกสรเพศผู้ 5 ก้านอยู่ภายในดอก ซึ่งดอกจะบานในตอนกลางคืนและจะบานได้วันเดียวก็จะร่วง มักจะออกดอกตลอดทั้งปี บางข้อมูลบอกว่าออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม
ผล : ออกผลเป็นฝักยาว โคนฝักติดกันเป็นคู่ ลักษณะของฝักค่อนข้างกลม เมื่อฝักแห้งจะแตกออก
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นเส้น มีขนสีขาวเป็นพู่ที่ปลายติดอยู่และสามารถปลิวไปตามลมได้

สรรพคุณของโมกแดง

  • สรรพคุณจากเปลือกเนื้อไม้
    – เป็นยาขับระบบหมุนเวียนเส้นโลหิตฝอยในร่างกาย ด้วยการนำเปลือกเนื้อไม้มาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้บิด

ประโยชน์ของโมกแดง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดนำมาทานเป็นผักสดหรือนำมาใส่แกงได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวและสวยงาม

โมกแดง เป็นไม้พุ่มที่หาได้ยากและมักจะขึ้นตามป่าโดยมีลักษณะเด่นอยู่ที่ส่วนของดอก ดอกจะบานในตอนกลางคืนและจะบานได้วันเดียวเท่านั้นก็จะร่วงโรย แถมยังมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวและมีดอกสีส้มอมสีชมพูหรือสีแดงทำให้ต้นดูโดดเด่น โมกแดงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกเนื้อไม้และราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ขับระบบหมุนเวียนเส้นโลหิตฝอยและแก้บิด ถือเป็นต้นที่เหมาะต่อระบบเลือดในร่างกาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “โมกแดง (Mok Daeng)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 246.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “โมกแดง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 164.
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. “โมกแดง”.
หนังสือพรรณไม้ป่าชายหาด. (มัณฑนา นวลเจริญ). “โมกแดง”. หน้า 129.
พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “โมกแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [19 พ.ค. 2014].