แอนโทไซยานิน
แอนโทไซยานิน ( Anthocyanin ) คือ สารที่อยู่ในกลุ่มของฟลาโวนอยด์ ( Flavonoid ) ซึ่งจะให้สีน้ำเงิน แดง และสีม่วง กับดอกไม้ ผักผลไม้ต่างๆ โดยช่วงแรกที่พบสารชนิดนี้ ได้จากการสังเกตองค์ประกอบทางเคมีของดอกไม้สีน้ำเงิน และยังพบอีกว่าสารชนิดนี้สามารถเปลี่ยนสีไปได้ตามค่าความเป็นกรด-ด่าง ต่างๆ ซึ่งหากอยู่ในสภาวะเป็นกลางจะได้สีม่วง หากอยู่ใน สภาวะเป็นด่างจะได้สีน้ำเงิน และหากอยู่ในสภาวะเป็นกรดจะให้สีแดง
โดยในปัจจุบันสารแอนโทไซยานินจะมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่ที่ได้รับความสนใจจากวงการแพทย์มากที่สุดก็มีทั้งหมด 6 ชนิด เพราะสามารถที่จะนำมาใช้ในการหาสารสกัดต้านโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ โดยสารที่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องได้แก่
- เดลฟินิดิน ( Delphinidin )
- พีโอนิดิน ( Peonidin )
- ไซยานิดิน ( Cyanidin )
- มาลวิดิน ( Malvidin )
- เพทูนิดิน ( Petonidin )
- เพลาโกนิดิน ( Pelargonidin )
อาหารที่มีสารแอนโทไซยานินสูง
1. กะหล่ำปลีสีม่วง
ผลกะหล่ำปลีสีม่วงเป็นอีกหนึ่งพืชผักชนิดที่มีสารแอนโทไซยานินอยู่สูง โดยกะหล่ำปลีสีม่วงขนาด 100 กรัม จะมีปริมาณสารแอนโทไซยานินอยู่ 113 มิลลิกรัม
2. แรดิช
ผลแรดิชมีลักษณะลูกกลมๆ สีแดงสด สามารถนำมารับประทานได้แบบสดๆ ก็จะได้รับสารแอนโทไซยานินไม่น้อยเลยล่ะค่ะ เพียงรับประทานผลแรดิชขนาด 100 กรัม ก็จะได้รับสารแอนโทไซยานินปริมาณ 116 มิลลิกรัม
3. ข้าวโพดสีม่วง
ข้าวโพดสีม่วงหรือข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง จะมีสารแอนโทไซยานินอยู่สูงมากขนาดที่ใครหลายคนคิดว่าสามารถต้านมะเร็งได้ โดยข้าวโพดสีม่วงปริมาณ 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานินอยู่มากถึง 1,642 มิลลิกรัม
4. มะเขือม่วง
มะเขือสีม่วงจัดอยู่ในอาหารที่มีแอนโทไซยานินสูงมากชนิดหนึ่งค่ะ ซึ่งมะเขือม่วงปริมาณ 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานินอยู่ถึง 750 มิลลิกรัม
5. โช๊คเบอร์รี่
ผลไม้ที่มีชื่อเรียกว่า โช๊คเบอร์รี่ มีผลสีดำออกม่วงเข้มจัดเป็นแหล่งของสารแอนโทไซยานินชั้นดีเลยล่ะค่ะ โช๊คเบอร์รี่ปริมาณแค่เพียง 100 กรัม ก็มีสารแอนโทไซยานินมากมายถึง 2,147 มิลลิกรัม
6. อัลเดอร์เบอร์รี่
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่อีกหนึ่งชนิดที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูกันแต่มีสารแอนโทไซยานินอยู่เปี่ยมล้นนัก นั่นก็คือผลอัลเดอร์เบอร์รี่ (Elderberries) ที่มีปริมาณ 100 กรัมก็ให้สารแอนโทไซยานินมากถึง 1,993 มิลลิกรัม
7. ราสเบอร์รี่สีดำ
ผลราสเบอร์รี่สีดำพบว่าเมื่อรับประทานทุกวัน สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากถึงร้อยละ 45 เลยทีเดียวค่ะ ราสเบอร์รี่สีดำปริมาณ 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานินมากถึง 845 มิลลิกรัม
8. แบล็คเคอร์แรนท์
แบล็คเคอร์แรนท์เป็นผลไม้ตระกูลราสเบอร์รี่ และมีสารแอนโทไซยานินไม่น้อยเลยค่ะ แบล็คเคอร์แรนท์ปริมาณ 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานินถึง 533 มิลลิกรัม
9. บลูเบอร์รี่
ผลไม้แสนอร่อยที่เต็มไปด้วยคุณค่าและโประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างบลูเบอร์รี่ ปริมาณ 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานินอยู่ถึง 529 มิลลิกรัม
10. มาเรียนเบอร์รี่
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่อีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Marion Blackberry จัดเป็นแหล่งของอาหารที่มีสารแอนโทไซยานินอยู่สูง ซึ่ง มาเรียนเบอร์รี่ปริมาณ 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานินอยู่ถึง 433 มิลลิกรัม
11.แบล็คเบอร์รี่
ผลแบล็คเบอร์รี่จะไม่ติดอันดับก็คงจะไม่ได้ นอกจากอร่อยแล้วยังดีต่อสุขภาพอย่างนี้ แบล็คเบอร์รี่ปริมาณ 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานินมากถึง 353 มิลลิกรัม
12. องุ่นม่วง
ผลองุ่นสีม่วงจัดเป็นแหล่งของอาหารที่มีสารแอนโทไซยานินไม่น้อยเลยล่ะค่ะ องุ่นม่วงปริมาณ 100 กรัม มีปริมาณสารแอนโทไซยานินอยู่ 192 มิลลิกรัม
13. เชอร์รี่หวาน
เชอร์รี่หวานนอกจากรสชาติอร่อยแล้วยังให้ประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เชอร์รี่หวานปริมาณ 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานินถึง 177 มิลลิกรัม
14. ราสเบอร์รี่
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่อีกหนึ่งชนิดอย่างราสเบอร์รี่ที่สีสดใสสีแดง มีรสชาติเปรี้ยวก็เต็มเปี่ยมไปด้วยสารแอนโทไซยานิน โดยราสเบอร์รี่ปริมาณ 100 กรัม มีปริมาณสารแอนโทไซยานินอยู่มากถึง 116 มิลลิกรัม
15. เกรฟฟรุ๊ท
เกรฟฟรุ๊ทเป็นผลไม้ที่มีลักษณะคล้ายส้มแต่ข้างในมีสีแดง โดยเกรฟฟรุ๊ทปริมาณ 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานินอยู่ถึง 200 มิลลิกรัม
16. มัลเบอร์รี่ หรือหม่อน
มีหน้าตาคล้ายกับพวงองุ่นขนาดเล็ก ซึ่งในมัลเบอร์รี่มีสารแอนโทไซยานิน ( Anthocyanin ) สูงมาก ซึ่งจะช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและลดการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์ของแอนโทไซยานิน
แอนโทไซยานินมีประโยชน์ที่หลากหลาย ดังต่อไปนี้
1. ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง เพราะสารแอนโทไซยานินมีสานต้านอนุมูลอิสระสูง จึงสามารถกำจัดสารที่เป็นตัวก่อมะเร็งได้อย่างดีเยี่ยม และช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น
2. ลดระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่ปกติ ซึ่งแอนโทไซยานินก็จะพบได้มากในผลมันเบอร์รี่ จึงเป็นผลให้ชามัลเบอร์รี่มีสรรพคุณในการลดน้ำตาลในเลือดได้ดีนั่นเอง และยังช่วยชะลอการย่อยน้ำตาลที่อยู่ในลำไส้เล็ก จึงไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว ในผู้ป่วยเบาหวานจึงนิยมให้ทานอาหารที่มีสารแอนโทไซยานินนั่นเอง
3. แอนโทไซยานินช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และสามารถกระตุ้นระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถขจัดไขมันส่วนเกินออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลดความอ้วน และสามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี
4. ช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต โดยไปขัดขวางการจำลองแบบของ DNA มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีน และทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้
5. ใช้เป็นส่วนผสมในครีมกันแดด ( Sunscreen ) ช่วยให้ผิวหนังดูอ่อนกว่าวัย ชะลอความเสื่อมสภาพของผิวหนัง เนื่องจากสารแอนโทไซยานินช่วยยับยั้งกระบวนการออกซิเดชันที่เกิดจากแสงอัลตราไวโอเลต และหากใช้ร่วมกับวิตามินอีจะทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และยังใช้ทำสบู่ได้ด้วย
6. ช่วยดูดซับอนุมูลอิสระ เนื่องจากแอนโทไซยานินทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกระบวนการเมแทบอลิซึม ( Metabolism ) ภายในสิ่งมีชีวิต ทำให้สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งแอนโทไซยานินมีประสิทธิภาพในการต้านสารอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซี และวิตามินอี ถึง 2 เท่า
7. ใช้เป็นสีย้อมอาหาร ( Food dye ) เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษของผลิตภัณฑ์สีผสมอาหารแอนโทไซยานินจะอยู่ในรูปแบบผง และของเหลว จึงสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการของอาหาร และผสมกับส่วนของไข่ขาวเพื่อใช้เป็นสารช่วยให้ความคงตัวแทนการใช้แป้ง รวมทั้ง เพิ่มความคงตัวให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีค่า Water activity ต่ำ
8. ใช้เป็นส่วนผสมในแชมพู และครีมนวดผม ซึ่งสารแอนโทไซยานินจะช่วยกระตุ้นให้รากผมสร้างผมได้มากขึ้นถึง 3 เท่า
9. ช่วยในการผสมเกสร ซึ่งจะช่วยล่อแมลงและสัตว์ต่างๆให้ดอกไม้ เช่น ผึ้งชอบดอกสีน้ำเงิน หรือสีเหลือง และมีลายเส้นของดอกไม้ที่โดดเด่น ผีเสื้อชอบดอกสีแดง และสีชมพู นกชอบดอกสีแดง และสีส้ม ส่วนด้วงและค้างคาวชอบดอกสีไม่สดใส และไม่ฉูดฉาด
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
แอพเพิลเกต, ลิซ. 101 อาหารรักษาหัวใจ.–กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 342 หน้า. 1. อาหารเพื่อสุขภาพ. 2.โภชนบำบัด. I.จงจิต อรรถยุกติ, ผู้แปล. II.ชื่อเรื่อง. 641.56311 ISBN 974-00-8692-6.