อาการเจ็บหน้าอก ( Chest pain ) บ่งบอกอะไร

0
12513
อาการเจ็บหน้าอก
อาการเจ็บหน้าอก เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เพราะเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยที่หลากหลาย ซึ่งอาจมีทั้งแบบไม่อันตรายและอันตราย
อาการเจ็บหน้าอก
อาการเจ็บหน้าอก เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เพราะเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยที่หลากหลาย

อาการเจ็บหน้าอก ( Chest pain )

อาการเจ็บหน้าอก ( Chest pain ) ในกรณีนี้หมายความถึงสภาวะที่เจ็บแน่นภายใน ไม่ใช่ส่วนของเต้านมหรือทรวงอก ดังนั้นในเพศหญิงจึงต้องทำความเข้าใจและแยกแยะอาการเจ็บป่วยของตัวเองให้ชัดเจนดีเสียก่อน เพื่อให้ค้นหาสาเหตุและรูปแบบการรักษาได้อย่างถูกต้องตรงจุด อาการเจ็บหน้าอกเป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เพราะเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยที่หลากหลาย บางครั้งเป็นเพียงอาการชั่วคราวที่ไม่ได้สื่อถึงโรคภัยใดๆ

ในขณะที่บางครั้งกลับมีอันตรายสูงมากถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ปัญหาก็คือผู้ป่วยมักระบุแน่ชัดไม่ได้ว่าเจ็บแน่นที่ตรงไหน ทำให้การวิเคราะห์ของทีมแพทย์ต้องเป็นไปแบบมองภาพกว้าง ร่วมกับการตรวจละเอียดด้วยเครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเติม ก่อนจะยืนยันต้นตอของอาการเจ็บเหล่านั้นและเริ่มดำเนินการรักษาตามขั้นตอนได้

สาเหตุของ อาการเจ็บหน้าอก

เราสามารถกำหนดขอบเขตกว้างๆ ของอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้โดยการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับหัวใจซึ่งทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกอยู่เรื่อยๆ และกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดเลย ในแต่ละประเภทก็จะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

อาการเจ็บหน้าอก จากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ( Cardiovascular chest pain )

หัวใจเป็นอวัยวะส่วนที่ทำงานแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดหรือตัดสินใจ เป็นการทำงานต่อเนื่องเรื่อยไป จนกว่าสภาพร่างกายจะเสื่อมโทรมลงเกินกว่าจะเดินหน้าระบบต่างๆ ได้ตามปกติ สิ่งที่มีผลกับการทำงานของหัวใจจึงเป็นส่วนของเลือดที่หล่อเลี้ยง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ส่วนประกอบชิ้นเล็กๆ เช่น ลิ้นหัวใจ เป็นต้น เราสามารถแบ่งย่อยอาการเจ็บหน้าอกในรูปแบบนี้ได้อีก 2 ประเภท คือ

ประเภทที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ( lschemic chest pain ) : ส่วนใหญ่สาเหตุที่ทำให้หัวใจขาดเลือดจริงๆ จะเป็นปัญหาของเส้นเลือดที่ทำหน้าที่ส่งเลือดมาเลี้ยงหัวใจ มักมีคราบไขมันจำนวนมากอุดตันหรือมีสิ่งกระตุ้นอื่นๆ ที่ทำให้เส้นเลือดตีบจนขนส่งเลือดไม่ได้

ประเภทที่ไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ( non ischemic chest pain ) : มักมีอาการอักเสบเป็นต้นเหตุหลัก เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นแล้วร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูให้หายขาดได้ อาการเหล่านั้นก็จะยังคงอยู่ และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นมา อาจเกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ อาจมีเลือดออกจากหลอดเลือด เป็นต้น

อาการเจ็บหน้าอก เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยที่หลากหลาย บางครั้งเป็นเพียงอาการชั่วคราวที่ไม่ได้สื่อถึงโรคภัยใดๆ ในขณะที่บางครั้งกลับมีอันตรายสูงมากถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ( Non – Cardiovascular chest pain )

ทันทีที่มี อาการเจ็บหน้าอกหลายคนจะนึกถึงโรคเกี่ยวกับหัวใจเป็นอันดับแรก เลยทำให้อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้น สร้างความวิตกกังวลที่รุนแรงให้กับผู้ป่วยเสมอ ทั้งๆ ที่อาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับอวัยวะส่วนหัวใจและหลอดเลือดเลยก็ได้ อย่าลืมว่าในช่องอกของเรามีอวัยวะหลายส่วน หัวใจ ปอด ทางเดินอาหาร มัดกล้ามเนื้อ ดังนั้นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกจึงเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะส่วนใดก็ได้ ตัวอย่างของภาวะเจ็บหน้าอกในกรณีนี้ได้แก่

อาการอักเสบของทางเดินอาหารหรือภาวะกรดไหลย้อน : นี่เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกและแสบร้อน เนื่องจากมีกรดจากกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาตามหลอดอาหาร วิธีสังเกตคือจะมีความรู้สึกว่าได้รับรสเปรี้ยวของกรดไล่ตั้งแต่ช่วงท้องขึ้นมาถึงอกและคอ อาจเจ็บท้องที่ส่วนบนหรือล่างก็ได้ หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจเพราะทางเดินอาหารกับหัวใจอยู่ใกล้กันมาก จึงต้องสังเกตสิ่งที่แตกต่างเล็กๆ เหล่านี้ให้ดี

โรคกระเพาะอาหาร : ดูคล้ายว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากอาการเจ็บหน้าอกมาก แต่ความจริงแล้วทุกส่วนในร่างกายก็เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด เมื่อมีการหดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะที่ผิดปกติ หลอดอาหารก็จะบีบตัวรุนแรงและส่งผลให้เจ็บหน้าอกได้เหมือนกัน หรือมีอาการของโรคกระเพาะและมีภาวะหลอดอาหารทะลุร่วมด้วย สิ่งที่ควรอยู่แค่ในทางเดินอาหารก็หลุดออกมา ส่งผลให้เจ็บหน้าอกได้นั่นเอง

ภาวะกระดูกอ่อนบริเวณซี่โครงอักเสบ : กระดูกอ่อนซี่โครงก็คือกระดูกตรงผนังอก เมื่อมีการอักเสบขึ้นมาด้วยสาเหตุใดก็ตาม ก็จะทำให้เกิดอาการบวม ตึง และเจ็บช่วงหน้าอกได้ ยิ่งถ้าจัดร่างกายในลักษณะที่จะกระทบกระเทือนอาการอักเสบนั้น ก็จะยิ่งเจ็บมากขึ้นหลายเท่า เช่น การนอนหงาย การไอหรือจาม เป็นต้น

ภาวะตับอ่อนอักเสบ : อาการอักเสบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากนิ่วในถุงน้ำดี หรือเกิดกับคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เมื่อตับเริ่มอักเสบ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกที่ส่วนล่าง และเจ็บหนักขึ้นเมื่อตับถูกกดทับด้วยอวัยวะอื่นๆ

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด : ไม่ว่าจะเป็นลิ่มเลือดที่เกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เมื่อเข้าไปอุดตันปิดกั้นการเดินทางของเลือดในปอดแล้ว เนื้อเยื่อปอดก็จะค่อยๆ ขาดเลือด และเกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้น โดยจะเป็นการเจ็บแปลบๆ หายใจไม่สุด ถ้าเป็นหนักมากและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะมีอาการไอเป็นเลือดตามมา

ปอดบวม : ส่วนใหญ่โรคปอดบวมจะเกิดจากการติดเชื้อภายในปอด ส่งผลให้เยื่อหุ้มอักเสบ บวม และปวด อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปในลักษณะของการเจ็บลึกๆ เข้าไปข้างใน มักมีไข้ร่วมด้วย

ภาวะเครียดและวิตกกังวล : ความเครียดเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่หลากหลาย รวมถึง อาการเจ็บหน้าอก นี้ด้วย เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น ระบบในร่างกายก็จะทำงานผิดปกติไป หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมา จังหวะการหายใจก็จะสั้นกระชั้น ร่างกายจึงได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ มีอาการเวียนหัวและเจ็บหน้าอกตามมา

การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก

การซักประวัติผู้ป่วย

การตรวจรักษาทุกประเภทจะเริ่มที่การซักประวัติผู้ป่วย ทั้งข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลที่น่าจะเป็นปัจจัยสุ่มเสี่ยงต่างๆ สำหรับการซักประวัติผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกนี้ ก็จะมีองค์ประกอบสำคัญ 2 อย่างที่จะต้องเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อตีกรอบความเป็นไปได้ของสาเหตุการเกิดความผิดปกตินี้

1. ประเมินลักษณะของการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้น ได้แก่ ลักษณะของอาการเจ็บ ตำแหน่งที่เกิด ช่วงเวลา ความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ อาการร่วมต่างๆ

2. ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับหลอดเลือด โดยวิเคราะห์จากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ วัย เพศ โรคเบาหวาน โรคไขมัน การสูบบุหรี่และประวัติของครอบครัว

ความหมายของตัวอักษรที่ใช้วิเคราะห์อาการเจ็บหน้าอก

ยิ่งทีมแพทย์สามารถเก็บข้อมูลได้มากและลึกเท่าไร ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยมากเท่านั้น จึงมีรูปแบบการซักประวัติ OLD CAAARS ขึ้นมา ใช้เป็นแบบแผนเบื้องต้นสำหรับการวิเคราะห์และวินิจฉัยโรค มีรายละเอียดและความหมายตามตัวอักษรทั้งหมด ดังต่อไปนี้

O (Onset) : เป็นการแยกรูปแบบของ อาการเจ็บหน้าอกว่าเจ็บแบบทันทีทันใด เป็นๆ หายๆ หรือว่าเริ่มจากเจ็บเล็กน้อย แล้วเพิ่มความรุนแรงขึ้นตามเวลา เพียงแค่วินิจฉัยตามอักษรตัวแรกนี้ก็สามารถตีกรอบของอาการเจ็บได้ประมาณหนึ่งแล้ว เช่น ถ้าเจ็บแบบที่ค่อยๆ เจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ ก็สามารถสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ถ้าเจ็บรุนแรงแต่หายได้อย่างรวดเร็ว ก็สันนิษฐานเป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจแทน เป็นต้น

L ( Location ) : ตำแหน่งการเกิดสำคัญมากต่อการระบุต้นตอของอาการเจ็บป่วยต่างๆ แต่ก็ถือว่าเป็นการยากที่จะชี้ชัดได้จริงๆ ว่าเจ็บตรงไหน เพราะผู้ป่วยส่วนมากมักไม่รู้ รู้เพียงแค่เจ็บเท่านั้น ทีมแพทย์อาจช่วยด้วยการซักถามชี้นำ ว่าเป็นแบบนั้น แบบนี้ หรือไม่

D ( Duration ) : ระยะเวลาในการเจ็บ นอกจากจะบอกว่าอาการที่เป็นอยู่น่าจะมีสาเหตุมาจากสิ่งใด ก็สามารถบอกได้ว่าระดับความรุนแรงอยู่ช่วงไหนแล้ว เช่น ถ้าการเจ็บแต่ละครั้งกินเวลาราวๆ 2-10 นาที ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นภาวะหัวใจขาดเลือด หรือถ้าเจ็บนานเกินกว่า 30 นาที ก็น่าจะเป็นภาวะหัวใจอุดตันฉับพลัน เป็นต้น

C ( Character ) : เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ผู้ป่วยบอกได้ยาก ว่าอาการที่เป็นอยู่นั้น เจ็บในรูปแบบไหน เช่น เจ็บแปลบ เจ็บหน่วงๆ หรือเจ็บแสบร้อน แต่ทีมแพทย์ก็ละเลยไม่ได้ เพราะหลายคนเคยมีอาการป่วยมาก่อนแล้ว จึงรู้ว่าตัวเองเจ็บแบบไหน ถ้าเป็นกรณีนี้ก็จะช่วยให้ข้อมูลสำคัญได้อย่างดีทีเดียว  

A ( Aggravating factors ) / A ( Alleviating factors ) / A ( Associated symptoms ) : กลุ่มนี้เป็นการวัดว่าปัจจัยไหนบ้างที่ทำให้มีอาการเจ็บเกิดขึ้น และปัจจัยไหนบ้างที่ทำให้เจ็บเพิ่มมากขึ้นอีกระดับ อย่างเช่น ถ้ารู้สึกเจ็บหน้าอกเฉพาะเวลาที่กลืนอาหาร ก็คาดเดาได้ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร ถ้ารู้สึกเจ็บเมื่อหายใจเข้าลึกๆ ก็อาจเกี่ยวกับปอด เป็นต้น เหตุผลที่ต้องแยกเป็น A 3 ชุด ก็เพื่อการจัดกลุ่มการตรวจวัดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและจำเพาะเจาะจงมากขึ้นนั่นเอง

R ( Radiation ) : รัศมีของอาการเจ็บป่วย หลายครั้งที่ผู้ป่วยไม่รู้ว่าเจ็บตรงไหนกันแน่ เพราะต้นตอของ อาการเจ็บหน้าอกได้ส่งผลกระทบต่อบริเวณใกล้เคียง เช่น เมื่อเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ก็มักจะลามไปยังบริเวณคอ บ่า ไหล่ และไล่มาตามฟันกราม เป็นต้น หากชี้ชัดได้ว่ารูปแบบการขยายวงกว้างของอาการเจ็บปวดนั้นเป็นอย่างไร ก็จะระบุโรคได้ง่ายขึ้น

S ( Severity ) : เป็นการประมาณระดับความเจ็บป่วยแบบคร่าวๆ แทนการระบุแบบชัดเจนซึ่งทำได้ยาก ทั้งนี้ก็เพื่อวัดความรุนแรงของอาการ ว่าจะมีอันตรายถึงระดับไหน เป็นกรณีเร่งด่วนหรือไม่

การตรวจร่างกายและวิเคราะห์รายละเอียดอื่นๆ

เมื่อซักประวัติจนครบถ้วนแล้ว ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการตรวจร่างกาย จำเป็นต้องแยกแยะอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงให้ได้เสียก่อน หากกรณีไหนอันตรายถึงชีวิต ก็จะมีรูปแบบการรักษาเร่งด่วนที่แตกต่างไปจากกรณีปกติ นอกนั้นก็จะไปต่อที่ขั้นตอนการตรวจร่างกาย ในตอนนี้ทีมแพทย์จะมีคำตอบในใจบ้างแล้วจากการซักประวัติ การตรวจจึงเป็นการหาข้อมูลสนับสนุนว่าเป็นสิ่งที่คิดไว้จริงหรือไม่ และมีสิ่งใดที่ต้องรู้เพิ่มเติมอีกบ้าง เช่น ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่พร้อมสำหรับการรักษาหรือไม่ ระดับของโรคประจำตัวเป็นอย่างไร เป็นต้น นั่นหมายความว่าในแต่ละคนก็จะมีวิธีการตรวจที่ต่างกันไป อาจเป็นการตรวจแบบง่ายๆ ด้วยเครื่องมือแพทย์พื้นฐาน หรืออาจเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยห้องปฏิบัติการก็ได้

การตรวจร่างกายอย่างง่าย

  • ตรวจระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • ตรวจวัดอาการของหลอดเลือดแดงเสื่อม
  • ตรวจวัดอาการของ atherosclerosis หรือภาวะเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด
  • ตรวจหาสัญญาณจากสิ่งอื่นๆ   

ตรวจร่างกายด้วยห้องปฏิบัติการ

  • EKG หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

การตรวจคุณสมบัติของเลือด แบ่งย่อยออกเป็น 2 อย่าง ดังนี้ หาค่า CK และค่า CK-MB หาค่า Cardiac troponin

  • การตรวจวัด Chest X-ray
  • การตรวจวัด Stress Testing

จะเห็นได้ว่าอาการเจ็บแน่นหน้าอกนั้น นอกจากจะมีสาเหตุการเกิดค่อนข้างกว้าง มีการตรวจวินิจฉัยที่ละเอียด และมีเงื่อนไขในการรักษาหลายอย่างแล้ว ก็ยังเป็นอาการเจ็บที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตอีกด้วย ดังนั้นเมื่อไรที่มี อาการเจ็บหน้าอกก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาที่ถูกต้อง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Marx JA, Hockberger RS, Walls RM, Biros MH, Danzl DF, Gausche-Hill M, Jagoda A, Ling L, Newton E, Zink BJ, Rosen P (2014). Rosen’s Emergency Medicine: Concepts and Clinical Practice (Eighth ed.). Philadelphia, PA: Elsevier/Saunders. ISBN 978-1-4557-0605-1. OCLC 853286850.

Wertli MM, Ruchti KB, Steurer J, Held U (November 2013). “Diagnostic indicators of non-cardiovascular chest pain: a systematic review and meta-analysis”. BMC Medicine. 11: 239. doi:10.1186/1741-7015-11-239. PMC 4226211. PMID 24207111.