อาการปวดท้อง ( Abdominal Pain )
อาการปวดท้อง ( Abdominal Pain ) มีสาเหตุที่ความเจ็บปวดของอาการปวดท้องแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และประสบการณ์ในการที่เคยเจ็บป่วย

อาการปวดท้อง ( Abdominal Pain )

อาการปวดท้อง ( Abdominal Pain ) เป็นอาการที่ดูเหมือนไม่ค่อยรุนแรงมากนัก แต่มักจะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวและอึดอัดสำหรับผู้ป่วยได้เสมอ ระดับความรุนแรง รวมไปถึงระยะเวลาของอาการปวดนั้น มักจะขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดกับพยาธิสภาพของอวัยวะในช่องท้อง ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้นั้น มักจะขึ้นอยู่กับว่า มีอะไรมากระตุ้นให้อาการร้ายแรง และเมื่อมีสิ่งมากระตุ้น สมองของเราก็จะแปลผลความรู้สึกต่อสิ่งนั้น ว่าอาการปวดท้อง เป็นความเจ็บปวดในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งสาเหตุที่ความเจ็บปวดของอาการปวดท้องแตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เช่น อาหารการกิน บุคลิกของผู้ป่วยเอง และประสบการณ์ในการที่เคยเจ็บป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยแต่ละคนทนความเจ็บปวด และแสดงอาการออกมาไม่เหมือนกัน

การแบ่งประเภทของอาการปวดท้องตามระยะเวลา

ด้วยสาเหตุที่ก่อให้เกิด อาการปวดท้อง ที่แตกต่างกัน ทำให้ระยะเวลาของการปวดท้อง สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัย และตรวจหาสาเหตุของโรคได้อีกทางหนึ่ง และประเภทของอาการปวดท้องเมื่อแบ่งตามระยะเวลา สามารถแบ่งได้ ดังนี้

การปวดท้องเฉียบพลัน คือ อาการปวดท้องที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบันทันด่วน และมีระยะเวลาของอาการที่ไม่นานนัก คือ ประมาณไม่เกิน 1 วัน อาการก็จะค่อยๆ ทุเลาลง

อาการปวดท้องที่นานกว่า อาการเฉียบพลัน แต่ไม่ถึงกับปวดเรื้อรัง คือ อาการปวดท้องที่มีระยะเวลาระหว่าง 1 วันขึ้นไป และมีอาการอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่เกิน 6 เดือน

อาการปวดท้องแบบเรื้อรัง คือ อาการปวดท้องเที่กินระยะเวลายาวนานมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป

ประเภทของอาการปวดท้อง และการบอกตำแหน่ง

นอกจากระยะเวลาที่จะบ่งบอกถึงความร้ายแรงของ อาการปวดท้อง  แล้ว ตำแหน่ง ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยประเภทของอาการปวดท้องแต่ละแบบ จะช่วยให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งได้ยากง่ายแตกต่างกัน ดังนี้

1. อาการปวดท้องแบบ visceral pain

เป็นอาการปวดท้องที่เกิดจากอวัยวะภายในได้รับสิ่งกระตุ้น ซึ่งความน่าสนใจของอาการปวดแบบนี้ก็คือ มักจะหาที่มา หรือตำแหน่งที่รู้สึกปวดจริงๆ ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากอวัยวะภายในของเรานั้น มีเส้นประสารทจำนวนมาก แต่เส้นประสาทเหล่านั้น กลับไม่สามารถนำพาความรู้สึกได้ดีสักเท่าไหร่ แตกต่างจากผิวหนังที่จะสามารถสื่อความรู้สึกได้ดีกว่า สำหรับอาการปวดท้องประเภทนี้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดตื้อๆ ที่บริเวณกลางตัว อาจจะเป็นแถวลิ้นปี่ หรือจุดรอบสะดือ อาการปวดแบบนี้มักรู้สึกปวดแบบบิดๆ หรือ แสบร้อนที่บริเวณช่องท้อง นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเหงื่อออก กระวนกระวาย และคลื่นไส้ เป็นต้น

2. อาการปวดท้องแบบ somatoparietal pain

เป็นอาการปวดท้องที่จะเกิดเนื่องจากเยื่อบุผนังช่องท้อง( parietal peritoneum ) ถูกกระตุ้นให้เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งอาการของ somatoparietal pain นั้นจะมีความรุนแรง และชัดเจนกว่า อาการปวดท้อง ที่เกิดจากอวัยวะภายในโดยตรง เช่น อาการปวดจากใส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ที่เมื่อแรกเริ่มผู้ป่วยมักจะรู้สึกปวดตื้อๆ ที่บริเวณรอบๆ สะดือ และในเวลาต่อมาจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงที่หน้าท้องด้านขวาล่าง เนื่องจากมีอาการอักเสบที่เนื้อเยื่อช่องท้องบริเวณดังกล่าว โดยเมื่อมีอาการไอ หรือขยับตัว จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกปวดท้องมากกว่าเดิม

3. อาการปวดท้องแบบที่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจนในทันที

คือ อาการปวดท้องที่เกิดอยู่ห่างจากอวัยวะ ที่มีปัญหา ซึ่งการอักเสบมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณใกล้ผิวหนัง ทำให้สามารถสื่อนำความรู้สึกได้อย่างชัดเจนมากกว่า และบอกตำแหน่งได้อย่างชัดเจนมากกว่า

สาเหตุของอาการปวดท้อง

สาเหตุของอาการปวดท้องนั้น มีความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถแบ่งได้ตามระยะเวลา และอวัยวะที่เป็นสาเหตุ ได้ดังนี้

อาการปวดท้องแบบเฉียบพลัน มีสาเหตุ จากภายใน และภายนอก

1. สาเหตุจากภายในช่องท้อง 

  • การอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง แบบที่มีการกระจายทั่วบริเวณ (generalized peritonitis)
  • การอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง แบบจำกัดเฉพาะบริเวณ ( localized peritonitis) increased tension in viscera
  • ภาวะขาดเลือด (ischemia)
  • มีเนื้องอกที่เยื่อบุช่องท้อง (retroperitoneal neoplasm)

2. สาเหตุจากภายนอกช่องท้อง

  • โรคหัวใจ เช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจทำงานล้มเหลว , เยื่อบุหัวใจอักเสบ , กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจอักเสบ
  • โรคเกี่ยวกับทรวงอก เช่น หลอดอาหารทะลุ หรือแตก ,การหดเกร็งของหลอดอาหาร, ภาวะหนองในช่องปอด หรือเยื่อหุ้มช่องปอด, หลอดอาหารอักเสบ, กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจอักเสบ, โรคปอดอักเสบ, ภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด, การอุดตันของเส้นเลือดฝอยในปอด
  • โรคเกี่ยวกับระบบเลือด เช่น ลูคีเมียชนิดเฉียบพลัน, โรคซีด (ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงทำลายตัวเอง), Henoch Schönlein purpura, โลหิตจางชนิดซิคเคิลเซลล์
  • โรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญ และเมตาบอลิซึม เช่น ต่อมหมวกไตบกพร่องเฉียบพลัน, โรคเบาหวาน, hyperlipidemia, hyperparathyroid, porphyria, โรคอุจจาระร่วง
  • การได้รับพิษต่างๆ เช่น พิษจากแมลงกัดต่อย หรือพิษจากสัตว์เลื้อยคลาน จนเกิดอาการแพ้ รวมไปถึงการได้รับพิษจากสารเคมีบางชนิด เช่น สารตะกั่ว เป็นต้น
  • การติดเชื้อ เช่น โรคงูสวัด, การติดเชื้อที่กระดูก, ไข้ไทฟอยด์, การติดเชื้อในระบบประสาท, การได้รับเชื้อลมชักในช่องท้อง, การติดเชื้อที่ไขสันหลัง และระบบประสาท, ไขสันหลังอักเสบ หรือมีเนื้องอกที่ปลายเส้นประสาท, ติดเชื้อจากอาการเสื่อมของปลายกระดูก, หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนตัว, อาการไขสันหลังอักเสบจากการติดเชื้อ

สาเหตุอื่นๆ เช่น อาการไข้ที่เป็นผลพวงมาจากโรคทางพันธุกรรม เช่น ทาลัสซีเมีย เป็นต้น รวมไปถึงอาการนอกเหนือจากนี้ เช่น ฮีทสโตรก การฟกช้ำที่กล้ามเนื้อช่องท้อง เลือดออกภายในช่องท้อง เนื้องอก การหักดิบเลิกยาเสพติดแบบกะทันหัน และอาการทางจิตเวช เป็นต้น

อาการปวดท้อง เป็นความเจ็บปวดในระดับที่แตกต่างกัน สาเหตุที่ความเจ็บปวดของอาการปวดท้องแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และประสบการณ์ในการที่เคยเจ็บป่วย

สาเหตุของอาการปวดท้องเรื้อรัง แบ่งออกได้เป็นโรคหรือความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ดังนี้

1. ความผิดปกติของโครงสร้างภายในร่างกาย ได้แก่

  • การอักเสบ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ, โรคซิลิแอก (อาการแพ้กลูเตน ซึ่งมักจะเกิดกับทารก และวัยผู้ใหญ่ ทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยโปรตีนบางชนิดได้) , กระเพาะอาหารอักเสบจากเชื้อ eosinophilic, โรค fibrosing mesentheritis, โรคลำไส้อักเสบ, ภาวะกระดูกเชิงกรานอักเสบ ที่เกิดจากการอุดตันของถุงน้ำดี และสำไส้ใหญ่
  • ความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, mesenteric ischemia, superior mesenteric artery syndrome
  • ความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึม เช่น โรคเบาหวาน โรคที่เกิดจากพันธุกรรม, hereditary angioedema, โรค porphyria (โรคทางกรรมพันธ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งม็ดเลือดแดงจะถูกเผาผลาญอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ปัสสาวะ ที่ถูกขับออกมาเป็นสีเข้มกว่าปกติ)
  • ความผิดปกติของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ เช่น ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้บริเวณผิวหนัง (anterior cutaneous nerve entrapment syndrome), myfacial pain syndrome, ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือคด, ความผิดปกติของระบบเส้นประสาทบริเวณทรวงอก

สาเหตุอื่นๆ เช่น มีพังผืดในช่องท้อง ,เนื้องอกในช่องท้อง, โรคภูมิแพ้, โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง, การงอกอย่างผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก, นิ่วในถุงน้ำดี, อาการไส้เลื่อน, ความผิดปกติของลำไส้, สำไส้อุดตัน, อาการแพ้แลคโตส, โรคแผลในกระเพาะอาหาร, โรคเกี่ยวกับลำไส้เล็ก และเนื้อเยื่อในช่องท้อง

2. ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพราะความผิดปกติในการทำงานของระบบช่องท้อง ได้แก่ การปวดที่ท่อน้ำดี , functional abdominal pain syndrome, อาหารไม่ย่อย, gastroparesis, อาการลำไส้แปรปรวน, levator ani syndrome

การซักประวัติของผู้ป่วย อาการปวดท้อง

ในส่วนของการซักประวัติผู้ป่วยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก สำหรับการวินิจฉัย ที่มาของอาการปวดท้อง ซึ่งเมื่อทำร่วมกันกับการตรวจร่างกาย จะช่วยให้สามารถบอกที่มา และสาเหตุของการปวดท้องได้อย่างแม่นยำ และนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องได้เร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลักการในการซักประวัติอาการปวดท้องนั้น มีดังนี้

1. ตำแหน่ง

ตำแหน่งของอาการปวดท้อง สามารถบอกได้อย่างชัดเจน ถึงระดับความร้ายแรง และอวัยวะ ที่ก่อให้เกิดอาการ และถ้าหากมีการเปลี่ยนตำแหน่ง หรือขยายวงของการปวดมากขึ้น ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่า อาจจะมีการลุกลามของโรค

2. ระยะเวลา เป็นสิ่งที่บอกถึงความรุนแรง และโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดท้องได้เป็นอย่างดี ดังนี้

  • หากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และอาการมาอย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยสามารถบอกถึงบริเวณที่ปวดได้อย่างชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า อาจจะมีการแตก ทะลุ ของอวัยวะภายในช่องท้อง หรืออวัยวะที่ก่อให้เกิดอาการ อาจจะอยู่ในภาวะขาดเลือดเฉียบพลัน ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน
  • หากค่อยๆ ปวดท้องมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายอาการก็หายไปเอง ให้นึกถึงอาการของโรคกระเพาะ และสำไส้อักเสบเป็นหลัก
  • แต่ถ้ามีอาการปวดท้องมากขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายอาการดังกล่าวไม่ได้หายไป ก็เป็นไปได้ว่า นั่นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคไส้ติ่งอักเสบชนิดฉับพลัน
  • แต่หากอาการปวดมีขึ้นเป็นพักๆ คาดเดาได้ว่าอาจจะเป็นอาการของลำไส้อุดตัน หรือนิ่วในไต อย่างใดอย่างหนึ่ง และถ้าหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวมาเกิน 1 สัปดาห์ นั่นหมายความว่าอาการอาจจะไม่ได้ร้ายแรงจนเป็นอันตรายกับชีวิต

3. ความรุนแรง และลักษณะของอาการปวด สามารถบอกโรคได้ ดังนี้

  • หากมีอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลัน และมีความรุนแรง แบบยิ่งขยับตัว ก็ยิ่งปวดต้องนอนนิ่งๆ เพียงอย่างเดียวอาการถึงจะทุเลาลง อาจจะเป็นอาการของโรคที่รุนแรง เช่น กระเพาะทะลุ , ruptured aneurysm, ตับอ่อนอักเสบ
  • หากมีอาการปวดบิด เป็นระยะเวลานาน เป็นวัน หรือสัปดาห์ มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นระยะๆ และอาการดังกล่าวดีขึ้น และแย่ลงสลับกัน อาจจะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคลำไส้อุดตัน นิ่วในไต หรือนิ่วในถุงน้ำดี

4. ปัจจัยที่ทำให้อาการปวดท้องดีขึ้น หรือแย่ลง เช่น การขยับตัว อาหารที่กิน การขับถ่าย หรือความเครียด สิ่งเหล่านี้ สามารถบ่งบอกถึงอาการป่วยที่อยู่ภายในได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยกระเพาะอักเสบจะต้องนอนนิ่งๆ ในขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในไต จะต้องมีการเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆ เพื่อให้รู้สึกปวดน้อยที่สุด หรืออย่างกรณีของอาหารบางชนิดที่อาจจะไปกระตุ้นอาการปวดท้องให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผู้ป่วยด้วยโรคลำไส้ขาดเลือดเรื้อรัง โรคแผลในกระเพาะอาหาร และผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น

5. อาการร่วม เช่น อาการที่แสดงออกเฉพาะตัวของผู้ป่วย อาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะแสบขัด ประจำเดือน ประวัติการตั้งครรภ์

6. ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต เพราะอาการของโรคบางชนิด เมื่อเคยเป็นแล้ว มักจะเป็นซ้ำได้อีก เช่น แผลในกระเพาะอาหาร นิ่วในไต ลำไส้ใหญ่อุดตันในบางบริเวณ อาการอุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือเป็นผลจากโรคประจำตัว เช่น SLE ( โรคแพ้ภูมิตัวเอง ), โรคเรื้อน, โรคไตเรื้อรัง, porphyria หรืออาจจะเป็นผลข้างเคียงของยาที่เคยใช้ และยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

การตรวจร่างกายของผู้ป่วย อาการปวดท้อง

ในส่วนของการตรวจร่างกายนั้น หากผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดท้อง และมีการซักประวัติเป็นที่เรียบร้อยแพทย์ จะทำการตรวจร่างกาย ด้วยกระบวนการหลักๆ ทั้งหมด 4 รูปแบบด้วยกัน เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดท้องที่แท้จริง ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ซึ่งวิธีการวินิจฉัย และสันนิษฐานอาการของโรคที่ทำให้เกิดการปวดท้องนั้น สามารถทำได้ ดังนี้

1. การตรวจสัญญาณชีพ และดูลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย

เป็นการตรวจอันดับแรก เมื่อผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ ทั้งนี้ นอกจากเรื่องของสัญญาณชีพแล้ว ในกระบวนการนี้แพทย์ยังจะสังเกตอาการอื่นๆ จากผู้ป่วยอีกด้วย เพื่อที่จะหาสาเหตุของอาการปวดท้อง เช่น การตรวจระบบปอด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดที่ท้องด้านบน

2. การตรวจหัวใจ

อาจจะทำให้เห็นว่าผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งโรคเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุของอาการปวดท้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ตรวจดูเล็บมือ เล็บเท้า แล้วพบว่าซีดผิดปกติอาจจะเป็นอาการช็อค ที่เกิดการกรณีที่หัวใจทำการสูบฉีดเลือดได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งนั่นจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดท้องเนื่องจากลำไส้ขาดเลือด และจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

3. การตรวจช่องท้อง

การตรวจที่จุดนี้ มักจะใช้การดู และฟังเสียงจากการเคาะ เพื่อประเมินการเคลื่อนไหวของลำไส้ เช่น หากเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตัน มักจะมีเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่มากกว่าคนปกติ นอกจากนี้แล้วเสียงการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติบางอย่าง ยังบ่งบอกโรคที่ร้ายแรงได้อีกด้วย เช่น เสียง liver bruit อาจจะบ่งบอกได้ว่ามีอาการมะเร็งตับ เสียง renal bruit บ่งบอกถึงภาวะหลอดเลือดแดงตีบที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เป็นต้น

4. การคลำ

ควรเริ่มคลำในบริเวณ ที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บก่อน เพื่อป้องกันการเกร็งหน้าท้อง ซึ่งจะทำให้การตรวจทำได้ยากมากขึ้น และการคลำควรเริ่มจากการคลำแบบเบาๆ ก่อน เพราะนอกจากจะเป็นการคลำแบบพื้นฐานแล้ว ยังช่วยให้สามารถวินิจฉัยอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้ดีกว่า การคลำแบบลึกๆ นอกจากนี้แล้ว ในทางการแพทย์ยังใช้การคลำเพื่อตรวจดูความรุนแรงของอาการ และเพื่อหาว่าอวัยวะในช่องท้องส่วนใด ที่โตผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะที่สำคัญ อย่าง ตับ ไต และม้าม เป็นต้น และในหลายๆ ครั้งการตรวจโดยการคลำยังช่วยให้สามารถวินิจฉัยกรณีที่มีก้อนเนื้องอกในช่องท้องได้อีกด้วย

โรคที่พบได้บ่อย ในผู้ป่วยที่มี อาการปวดท้อง

1. ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน

ในส่วนของการวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบนั้น จะเห็นได้ชัดว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรืออาการปั่นป่วนในท้อง นำมาก่อน หลังจากนั้นประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมง อาการปวดท้องจะย้ายมาที่ด้านขวาล่างของช่องท้องพร้อมกับเริ่มมีอาการกดเจ็บที่ตำแหน่งเดียวกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีไข้ร่วมด้วย ในกรณีที่มีไข้สูงร่วมกับการตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวสูงมากมักพบในผู้ป่วยที่มีฝีบริเวณไส้ติ่งหรือไส้ติ่งอักเสบรุนแรงจนลำไส้ทะลุ การรักษาผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบสามารถทำได้เพียงวิธีเดียว คือโดยการผ่าตัด

2. ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน

มักเกิดจากการอุดตันที่บริเวณท่อทางออกของถุงน้ำดี จากนิ่วในถุงน้ำดีหรือเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงถุงน้ำดี โดยมักปวดรุนแรงบริเวณชายโครงด้านขวาเป็นระยะเวลานานซึ่งอาจนานเป็นวันหรือสัปดาห์ จากนั้นอาการปวดมักร้าวไปที่หลังหรือสะบักข้างขวา ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และมีไข้ร่วมด้วย การตรวจร่างกายมักพบมีการกดเจ็บที่บริเวณชายโครงด้านขวาพร้อมกับการตรวจพบ Murphy’s sig n ผลการตรวจเลือดมักพบเม็ดเลือดขาวที่ไม่สามารถใช้งานได้จำนวนมาก ร่วมไปกับมี bilirubin สูงขึ้นเล็กน้อย ถ้าคนไข้มีไข้สูงหนาวสั่นหรือมี bilirubin สูงขึ้นมากมักคิดถึงภาวะติดเชื้อในท่อน้ำดีมากกว่า การรักษาถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันสามารถทำได้โดยการให้สารน้ำร่วมกับให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมร่วมกับการผ่าตัดถุงน้ำดีออก

3. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

มักมีอาการปวดร้าวไปด้านหลังอย่างรุนแรง และฉับพลัน คนไข้ส่วนมากจะมีอาการปวดมากจนต้องมาโรงพยาบาล นอกจากนี้แล้วมักพบอาการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับ อาการปวดท้อง หากทำการตรวจร่างกายจะพบว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมาก มีไข้ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ เสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง กดเจ็บบริเวณท้องช่องบนและลิ้นปี่ ในบางรายอาจตรวจพบจ้ำเลือดบริเวณรอบรอบสะดือ หรือบริเวณด้านหลัง โดยเฉพาะกรณีของตับอ่อนอักเสบรุนแรง การตรวจทางห้องปฏิบัติการมักพบว่ามีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น การตรวจดูระดับของ amylase และ lipase ในเลือดมักสูง นอกจากนี้การตรวจระดับน้ำตาล การทำงานของตับ เกลือแร่ชนิดต่างๆ และระดับของแคลเซียมในเลือดมักผิดปกติด้วย การถ่ายภาพเอกซเรย์ในบางรายตรวจพบ ส่วนปลายของลำไส้ใหญ่มีการฉีกขาด หรือ sentinel loop ซึ่งบ่งชี้ภาวะผิดปกติเฉพาะแห่งและช่วยในการวินิจฉัยโรค การตรวจอัลตร้าซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในช่องท้องมักช่วยวินิจฉัยการอักเสบที่รุนแรงของตับอ่อน แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการรักษาโรคนี้ยังต้องใช้การรักษาแบบประคับประคอง ตามอาการจนกว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว

4. ลำไส้ใหญ่อักเสบเฉียบพลัน จากการอุดตัน

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุซึ่ง มักจะเกิดการอุดตันได้เกือบทุกจุดของลำไส้ใหญ่แต่มักเกิดภาวะกระเปราะของลำไส้ใหญ่อุดตัน ในบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วน sigmoid ได้มากกว่าบริเวณอื่นๆ อาการของผู้ป่วยมักเริ่มด้วย อาการปวดท้องซึ่งคล้ายๆกับอาการของไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน แต่มาเป็นข้างซ้ายด้านล่างของช่องท้อง นอกจากนี้ยังพบอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้ การตรวจร่างกายพบกดเจ็บบริเวณช่องท้องด้านล่างข้างซ้าย บางครั้งอาจคลำได้ลักษณะคล้ายๆก้อนที่เกิดจากการอักเสบของลำไส้บริเวณนั้น การตรวจทางห้องปฏิบัติการมักพบว่าเม็ดเลือดขาวในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ สำหรับการส่องกล้องลําไส้ใหญ่ควรทำหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ การรักษาหลักของโรคนี้เป็นการรักษาประคับประคองร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ การผ่าตัดใช้เฉพาะในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการให้ยาหรือมีลำไส้ใหญ่อักเสบรุนแรงจนทะลุ

5. กระเพาะอาหารทะลุ

แผลที่กระเพาะอาหารที่เกิดการอักเสบมายาวนาน นั้น สามารถทะลุได้ โดยโดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมี อาการปวดท้อง แบบเสียดๆอย่างรุนแรงขึ้นทันทีทันใด โดยเริ่มจากบริเวณรอบรอบสะดือหรือบริเวณลิ้นปี่ และลามไปทั่วท้องอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยมักมีไข้สูง หอบเหนื่อย ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย ในรายที่มีอาการรุนแรงผู้ป่วยมักมีความดันโลหิตต่ำ การตรวจร่างกายมาพบว่ากดเจ็บมากทั่วทั่วท้อง ร่วมกับอาการเกร็งแข็งของบริเวณช่องท้องคล้ายๆกับกระดาน การตรวจทางห้องปฏิบัติการมักพบเม็ดเลือดขาวในเลือดสูง เอกซเรย์ช่องท้องพบโพรงอากาศอยู่ใต้กระบังลมข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้าง การรักษาที่สำคัญที่สุดในการช่วยชีวิตผู้ป่วยคือการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

6. ลำไส้เล็กอุดตัน

ภาวะนี้พบได้ในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ โดยหากเกิดในเด็กมักพบว่าเกิดจากการลำไส้กลืนกัน ภาวะลำไส้ตีบตันแต่กำเนิด หรือ meconium ileus เป็นส่วนใหญ่ แต่หากเกิดในวัยผู้ใหญ่ สาเหตุที่ทำให้เกิดลำไส้เล็กอุดตัน จะแตกต่างออกไป ซึ่งสาเหตุของโรคนี้ในวัยผู้ใหญ่ มักจะเกิดจากจากพังผืดที่เกิดตามหลังจากการผ่าตัดในช่องท้อง บางรายอาจเกิดจากมะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งในช่วงท้องได้ ผู้ป่วยภาวะนี้มี อาการปวดท้องรุนแรงเกิดขึ้นทันทีทันใดโดยเฉพาะบริเวณรอบรอบสะดือ โดยมักมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนเป็นเศษอาหารร่วมด้วยในระยะแรกแรกของโรค ผู้ป่วยมักไม่สามารถถ่ายอุจจาระหรือผายลมได้ หรือถ้าทำได้ก็ลดน้อยลง อาจคิดถึงภาวะลำไส้เล็กอุดตันแบบไม่สมบูรณ์ การตรวจร่างกายมาพบว่ามีท้องอืดแน่น เสียงการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้น กดเจ็บทั่วๆบริเวณท้อง

นอกจากนี้หากตรวจพบว่ามีอาการอักเสบในช่องท้อง อาจจะมีแนวโน้มว่า ลำไส้เล็กได้เกิดการทะลุไปแล้ว โดยหากมาถึงจุดนี้ เมื่อทำการตรวจโดยห้องปฏิบัติการมักพบเม็ดเลือดขาวในเลือดสูงขึ้นมาก หรือมีภาวะเลือดเป็นกรดมากขึ้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องมีส่วนสำคัญในการช่วยวินิจฉัยและวินิจฉัยแยกจากสาเหตุอื่นๆ การรักษาหลักคือรักษาแบบประคับประคอง การผ่าตัดจะทำเมื่อไม่ตอบสนองต่อการรักษา ก่อให้เกิดลำไส้เน่า หรือลำไส้ทะลุขึ้นมา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ลัลธธิมา ภู่พัฒน์ : อาการวิทยา ฉบับพกพา : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2560.

ธนกร ลักาณ์สมยา และคณะ : อาการทางอายุรศาสตร์ Medical ymptomatology ฉบับปรับปรุง : พิษณุโลก : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร,2559.

Leung AM, Vu H. Factors predicting need for and delay in surgery in small bowel obstruction. Am Surg 2012; 403-407.