ทำความรู้จัก เชื้อ HIV กับโรคเอดส์ และการป้องกันที่ทุกคนควรรู้
เอชไอวี โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ได้มาจากการติดเชื้อไวรัส HIV ส่วนเอดส์ เป็นระยะที่ร้ายแรงที่สุดของการติดเชื้อเอชไอวี

HIV / AIDS

เอชไอวี (human immunodeficiency virus) คือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ได้มาจากการติดเชื้อไวรัส HIV เชื้อไวรัสนี้จะไปทำลายเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแอ คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ HIV จะมีระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ต่ำกว่า 200 เมื่อเม็ดเลือดขาวถูกทำลายจนระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่สามารถป้องกันการลุกลามของโรคได้นั่นเอง และไม่สามารถกำจัดเชื้อ HIV ออกไปจากร่างกายได้ ดังนั้น ผู้ติดเชื้อจะมีเชื้อนี้ไปตลอดชีวิตสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ หากสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่งโดยตรงจากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี

การติดเชื้อเอชไอวีแบ่งได้ 4 ระยะ

1) ระยะที่ 1 การติดเชื้อเอชไอวีแบบเฉียบพลัน
การติดเชื้อเอชไอวี และโดยทั่วไปจะพัฒนาภายใน 2 ถึง 4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อเอชไอวี ในช่วงเวลานี้ บางคนมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ และมีผื่นขึ้น

2) ระยะที่ 2 การติดเชื้อเอชไอวีเรื้อรัง หรือระยะไม่ปรากฏอาการ
การติดเชื้อเอชไอวีในระยะนี้ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อ HIV หากไม่มียารักษาเอชไอวีในช่วง ระยะที่ 2 อาจอยู่ได้นานถึงสิบปีหรือนานกว่านั้นในผู้ป่วยบางราย แต่สามารถติดต่อได้ในระยะนี้ ทางเดียวที่จะรู้ได้ว่าเราติดเชื้อเอชไอวีหรือไหมต้องทำการตรวจเลือดเท่านั้น

3) ระยะที่ 3 เป็นระยะที่แสดงอาการ
ในระยะนี้จะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เริ่มมีฝ้าขาวในปาก มีตุ่มคันขึ้นตามแขนขา มีไข้เรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ ท้องเสียเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ น้ำหนักลดมากกว่าร้อยละ 10 เป็นต้น ทำให้เป็นระยะที่ผู้ติดเชื้ออาจสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติ และอาจจะมาพบแพทย์

4) ระยะที่ 4 หรือระยะเอดส์
โรคเอดส์ (AIDS) ระยะนี้มีความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้ป่วยจะสามารถทราบได้จากการตรวจเลือดจะพบเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลดลงต่ำกว่า 200 เซลล์/มม. หรือหากผู้ป่วยมีการติดเชื้ออาจจะมาพบแพทย์ด้วยโรควัณโรค โรคงูสวัด เชื้อราในปอด เชื้อราขึ้นสมอง หรือที่รวมเรียกว่า “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส” ซึ่งผู้ป่วยจะมีปริมาณเชื้อไวรัสสูงและสามารถแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังผู้อื่นได้ง่ายมาก หากไม่มีการรักษา ผู้ป่วยเอดส์มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3 ปี

อาการของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่พบบ่อยที่สุด

เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัชอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นและอยู่ได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ซึ่งเกิดขึ้น หลังการติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์

  • มีไข้สูงขึ้น
  • หนาวสั่น
  • เจ็บคอ
  • ผื่นตามร่างกาย
  • ปวดข้อ
  • แผลในปาก
  • เจ็บกล้ามเนื้อ
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
  • อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

อาการของโรคเอดส์ระยะสุดท้าย

  • ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว
  • เป็นไข้ซ้ำๆ หรือเหงื่อออกตอนกลางคืนมาก
  • เหน็ดเหนื่อยสุดขีดและอธิบายไม่ได้
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขาหนีบ หรือคอบวมเป็นเวลานาน
  • ท้องเสียที่กินเวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์
  • แผลในปาก ทวารหนัก หรืออวัยวะเพศ
  • โรคปอดอักเสบ
  • จุดสีแดง น้ำตาล หรือภายในปาก จมูก หรือใต้ผิวหนัง
  • ความจำเสื่อม ซึมเศร้า และความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ

การวินิจฉัยตรวจหาเชื้อเอชไอวี

เอชไอวีสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจเลือดหรือน้ำลาย เป็นการทดสอบแอนติเจน หรือแอนติบอดี การทดสอบเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับการเจาะเลือดเพื่อตรวจแอนติเจนเป็นสารในไวรัสเอชไอวี ซึ่งมักจะตรวจพบได้เป็นผลตรวจที่เป็นบวก (+) ในเลือดภายใน 2 -3 สัปดาห์หลังจากสัมผัสกับเชื้อเอชไอวี

โรคเอดส์

AIDS ย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome เอดส์เป็นระยะที่ร้ายแรงที่สุดของการติดเชื้อเอชไอวี ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณอ่อนแอลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแทรกซ้อนร้ายแรงอีกจำนวนมาก

เอชไอวีติดต่อได้อย่างไร?

การแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีจากคนสู่คนผู้ติดเชื้อสามารถรับหรือแพร่เชื้อเอชไอวี โดยผ่านพฤติกรรมบางอย่างที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV เช่น การใช้ยาเสพติดโดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกันสามารถติดต่อจากของเหลวหรือสารคัดหลั่ง ได้แก่

  • สัมผัสกับเลือดผู้ติดเชื้อ
  • ทางเลือดจากแม่สู่ลูก
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนักกับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน
  • การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน
  • การมีเพศสัมพันธ์หลายคนโดยไม่ป้องกัน

การดูแลตนเองสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์

  • รับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติก เวย์โปรตีน และกรดอะมิโนบางชนิดสามารถช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำ
  • หากิจกรรมเพื่อบำบัดความเครียด ลดภาวะซึมเศร้า
  • เลิกสูบบุหรี่
  • เลิกดื่มแอลกอฮอล์
  • เลิกใช้สารเสพติดทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงยาที่ไม่จำเป็น
  • พบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง

การใช้ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV

ในปัจจุบันโรคเอดส์ยังไม่มียาตัวไหนที่รักษาให้หายขาดได้ แต่มียาที่สามารถใช้ทานเพื่อป้องกันการติด HIV ได้ 2 ชนิดดังนี้

1. PrEP

ยาต้านไวรัส Pre-Exposure Prophylaxis หรือที่เรียกกันว่ายา PrEP ซึ่งการรับยาต้านไวรัสชนิดนี้เป็นยาต้านสำหรับคนที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีก่อนที่จะมีการสัมผัสเชื้อ โดยยาต้าน PrEP มีประสิทธิภาพมากถึง 99% หากมีการใช้ยาอย่างถูกวิธี ผลข้างเคียงในยาต้านไวรัส PrEP เกิดขึ้นน้อยมาก เช่น อาจจะมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะในช่วงแรกที่ทานยา และคนที่ใช้ยา PrEP ควรจะเข้ารับการตรวจเลือดทุกๆ 3 เดือน

PrEP เหมาะสำหรับใครบ้าง

ยาต้านไวรัส หรือ PrEP ชนิดนี้ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน หากใครที่ต้องการใช้ยาต้านไวรัสจะต้องได้รับการปรึกษาจากแพทย์ก่อน ยาชนิดนี้เหมาะสำหรับ

  • คู่นอนมีความเสี่ยงของการติดเชื้อ
  • บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหลายคนโดยไม่ใช้ถุง
  • ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคหนองในแท้ – เทียม, ซิฟิลิส
  • คนที่ทำอาชีพขายบริการ

2. PEP

Post Exposure Prophylaxis หรือมีชื่อย่อว่า PEP เป็นยาที่ใช้เพื่อช่วยลดการเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งยาชนิดนี้เป็นยาที่ต้องรับประทานให้เร็วที่สุดหลังจากที่มีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี โดยต้องทานยาภายใน 72 ชั่วโมง หรือภายใน 3 วัน กินเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ซึ่งการจะรับยา PEP ได้นั้นจะต้องมีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีก่อนเสมอ

PEP เหมาะสำหรับใครบ้าง

เนื่องจากยาชนิดนี้เป็นยาที่ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และใช้ได้สำหรับคนที่สัมผัสเชื้อมาไม่เกิน 3 วันเท่านั้น

  • คนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ขณะร่วมเพศถุงยางอนามัยเกิดการฉีกขาด
  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
    อย่างไรก็ตามการใช้ ยา PEP เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น หากจะให้ปลอดภัยและลดความ เสี่ยงของการติดเชื้อที่ดีที่สุดคือการป้องกันอย่างถูกวิธีนะคะ

หลาย ๆ คนคงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับ HIV และเอดส์ กันมากขึ้น โดยจะเห็นว่าโรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และปัจจุบันก็มีทั้งยาต้าน และยาลดความเสี่ยง แต่เพื่อความปลอดภัยควรช่วยกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยกา รสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนร่วมเพศ อย่าใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม