การตรวจของเหลวในร่างกาย (Body Fluid)
สารคัดหลั่ง หรือ (Body Fluid) ประกอบด้วยของเหลวหลายชนิดที่อยู่ในร่างกาย

ของเหลวในร่างกาย

ภายใต้ร่างกายของมนุษย์เรา นอกจากจะมากไปด้วยอวัยวะส่วนต่างๆแล้ว ยังประกอบไปด้วยของเหลวต่างๆมากมายภายในร่างกายด้วย ของเหลวชนิดต่างๆทุกชนิดที่อยู่ในร่างกายนี้ รวมแล้วเรียกว่า สารคัดหลั่ง หรือ ของเหลวในร่างกาย ( Body Fluid ) ซึ่งประกอบไปด้วยของเหลวหลายชนิด เช่น เลือด น้ำเหลืองจากเลือด เซลล์เม็ดเลือด เหงื่อ ไขมันจากต่อมเหงื่อ น้ำเหลือง หนอง น้ำไขสันหลัง น้ำตา น้ำลายน้ำนม น้ำดี น้ำจากช่องคลอด น้ำอสุจิ เกลือแร่ ซีรั่ม เป็นต้น   

ของเหลวในร่างกายมีเพื่ออะไร ?

ของเหลวในร่างกายที่ประกอบไปด้วยหลายสิ่งมากมาย แต่ละสิ่งก็มีหน้าที่และโยชน์ของตนเองแตกต่างกันออกไป ซึ่งเราสามารถสรุปบทบาทของหน้าที่ของเหลวในร่างกายที่สำคัญๆได้ดังต่อไปนี้

1. สร้างความหล่อลื่นให้กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้สะดวก

2. ช่วยรักษาระดับของความดันในร่างกายให้เป็นปกติ

3. เป็นช่องทางลำเลียงขนส่งสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการใช้ของเซลล์เนื้อเยื่อโดยรอบโพรงนั้นๆ

4. เป็นช่องทางระบายทิ้งของเสียและสารพิษจากในร่างกาย

5. ช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสม อย่างสม่ำเสมอ

6. ช่วยรักษาสภาวะความสมดุลของการเป็นกรดเป็นด่าง และความสมดุลของธาตุต่างๆ ในสารละลายประจุไฟฟ้าภายในของเหลวนั้น

การตรวจของเหลวในร่างกาย ทำเพื่ออะไร ?

สำหรับจุดประสงค์ในการตรวจ ของเหลวในร่างกาย นั้น ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และยังนำผลตรวจที่ได้ไปใช้ในการอื่นๆดังนี้

1. เพื่อจะทราบชนิดและความร้ายแรงของโรคที่ผู้ป่วยกำลังมีอาการผิดปกติอยู่

2. เพื่อจะทราบถึงการรั่วซึมของของเหลวไปสู่อวัยวะใกล้เคียง ซึ่งเป็นอาการผิดปกติทางกายอย่างหนึ่ง

3. เพื่อจะทราบองค์ประกอบของสารชีวโมเลกุลที่ร่างกายผลิตขึ้นและปนอยู่ในของเหลว เช่น ฮอร์โมน เลือด ( หมายรวมถึงเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ) เอนไซม์ ฯลฯ รวมทั้งโปรตีน ไขมัน และน้ำตาล ที่มาจากเลือดด้วย

4. เพื่อจะวิเคราะห์และพยากรณ์ตามพัฒนาการของธรรมชาติ เช่น การตรวจของเหลวในมดลูกของสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ก็อาจได้ข้อมูลซึ่งอาจใช้พยากรณ์ถึงสุขภาพของมารดาและทารกได้ในอนาคตได้ด้วย

แหล่งของ ของเหลวในร่างกายที่อาจถูกนำออกมาตรวจวิเคราะห์

หากมีความผิดปกติใด หรือความเจ็บป่วยโรคต่างๆ เกิดขึ้น แพทย์ผู้รักษาอาจจะต้องการขอข้อมูลเพิ่มจากผู้ป่วยเกี่ยวกับ ของเหลวในร่างกาย ต่างๆ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาวินิจฉัยโรคที่ป่วยเป็น ให้มีความแม่นยำมากขึ้น และยังช่วยให้การรักษาสามารถทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เนื่องจากของเหลวในร่างกายมีหลายชนิดมากมาย แพทย์จึงจะเป็นผู้วิเคราะห์เองว่า จำเป็นตรวจของเหลวในร่างกายอะไรบ้าง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนเป็น  โดยจะขอยกตัวอย่างของเหลวในร่างกายบางชนิดที่สามารถตรวจและนำข้อมูลไปช่วยในการรักษาได้ ดังต่อไปนี้

1. Aminocentesis ( หรือ Aminotic Fluid Analysis ) หมายถึง การตรวจของเหลวในร่างกายที่เรียกว่า น้ำคร่ำ จะใช้ตรวจสำหรับหญิงที่มีการตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะทำการเจาะเพื่อเก็บตัวอย่างของน้ำคร่ำจากมดลูกไปตรวจ มีจุดประสงค์ในการตรวจคือ เพื่อจะได้ทราบสภาวะการเติบโตของทารก เพศของทารก ค่า Rh ของเลือดในตัวทารก ซึ่งจะมีผลกับร่างกายของมารดาและยังสามารถบอกความผิดปกติเกี่ยวกับทารกได้ เช่นภาวะดาวน์ซินโดรม หรือความผิดปกติทางโครโมโซมในตัวของเด็ก

2. Amyloid Beta Protein Precursor หมายถึง การตรวจวิเคราะห์ ของเหลวในร่างกายที่ได้จากไขสันหลัง มีจุดประสงค์ในการตรวจคือ เพื่อใช้ตรวจสอบสภาวะของโรคอัลไซเมอร์ ( Alzeimer disease, AD ) หรือ โรคความจำเสื่อม โดยมากจะใช้ตรวจในผู้สูงอายุเป็นหลัก

3. Arthrocentesis With Synovial Fluid Analysis หมายถึง การตรวจของเหลวภายในข้อต่อที่เชื่อมกระดูกของร่างกายเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาแนวทางสำหรับการรักษาอาการปวด หรืออาการอักเสบในข้อต่อของอวัยวะต่างๆ เช่น ข้อศอก ข้อมือ หัวเข่าหัวไหล่ เป็นต้นซึ่งการตรวจวิธีนี้มักใช้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอาการปวดข้อตามร่างกายส่วนต่างๆอยู่เป็นประจำและบ่อยๆ

4. Breast Cyst and Nipple Discharge หมายถึง การตรวจของเหลวภายในเต้านม หรือาจจะเป็นของเหลวที่ไหลออกมาจากหัวนมของเพศหญิงอย่างผิดปกติ การตรวจวิธีนี้มีจุดประสงค์คือ ช่วยในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ ถึงแม้โรคนี้จะเป็นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่ส่วนมากจะนิยมใช้กับเพศหญิงที่มีอัตราความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าเพศชาย

5. Paracentesis หมายถึง การตรวจของเหลวภายในช่องท้องมีจุดประสงค์ในการตรวจคือเพื่อนำข้อมูลการตรวจที่ได้ไปวิเคราหะหาสาเหตุของผู้ป่วยที่มีอาการท้องมาน ( Ascites ) หรือภาวะที่ท้องโตขึ้นอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

6. Pericardiocentesis หมายถึง การตรวจของเหลวในถุงหุ้มหัวใจ ( Pericardial Sac ) จะใช้วิธีตรวจนี้ก็ต่อเมื่อ มีของเหลวมากเกินกว่าปกติในถุงหุ้มหัวใจซึ่งจะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ มีภาวะความดันเกิดขึ้น ของเหลวที่มากเกินปกติจะไปขัดขวางจังหวะการบีบและคลายตัวของหัวใจโดยแพทย์ผู้รักษาจะเจาะนำของเหลวออกมาเพื่อตรวจหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและเป็นการดึงเอาของเหลวออกมาเพื่อลดความดันและระบายน้ำออกจากช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นการช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในยามฉุกเฉินให้ผู้ป่วยได้มีอาการที่ดีขึ้นและปลอดภัย

7. Thoracentesis and Pleural Fluid Analysis หมายถึง การตรวจของเหลวภายในปอดจะใช้วิธีตรวจนี้ก็ต่อเมื่อ มีของเหลวมากเกินกว่าปกติในปอดส่งผลกะทบทำให้ปอดขยายตัวในจังหวะหายใจเข้าไม่สะดวกซึ่งแพทย์จะทำการเจาะและนำของเหลวออกจากปอด โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อลดระดับของเหลวในปอด ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังนำของเหลวที่ได้นี้ไปวิเคราหะเพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป

ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจาะเอาของเหลวภายในร่างกายออกมาตรวจ?

ในการนำของเหลวต่างๆ ในร่างกายมาตรวจ ก็มีความคล้ายกับการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจ แต่ทั้งนี้ การนำของเหลวที่อยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกายไปตรวจนั้น จะต้องใช้บุคคลการที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะในบางอวัยวะที่มีความบอบบางและมีความซับซ้อน หากทำไม่ถูกต้องหรือผิดวิธี ก็อาจมีความอันตรายต่อผู้ป่วยได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงได้มีการกำหนดหน้าที่ผู้ที่ทำเกี่ยวกับการนำของเหลวจากส่วนต่างๆ ของร่างกายไปตรวจดังนี้

  • แพทย์ จะเป็นผู้สั่งและกำหนดให้ตรวจ ของเหลวในร่างกายได้ผู้เดียวเท่านั้น
  • ผู้ที่ทำการเจาะของเหลวจากส่วนต่างๆของร่างกาย ต้องเป็นแพทย์เท่านั้น โดยอาจจะเป็นแพทย์ผู้รักษาหรือแพทย์ผู้เชียวชาญก็ได้
  • ผู้ทำการตรวจวิเคราะห์สารชีวเคมี คือ เจ้าหน้าที่เทคนิคในห้องปฏิบัติการ ( Laboratory )
  • หากสงสัยว่า ของเหลวที่มีสภาวะผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ ก็จำเป็นต้องนำส่งให้นักพยาธิวิทยา ( Pathologist ) ดำเนินกรรมวิธีเพาะเชื้อ ก่อนรายงานผล ซึ่งต้องอาจใช้เวลาหลายวัน

การตรวจ ของเหลวในร่างกายนั้น แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง?

ของเหลวที่ได้จากการ เจาะ หรือ ดูดออกจากร่างกาย ตามอวัยวะต่างๆ ที่แพทย์สั่งให้ตรวจ เมื่อได้มาแล้วแพทย์ผู้รักษาจะนำของเหลวนั้นๆ มาเพื่อตรวจสอบโดยมีการหลักการในการตรวจสอบดังต่อไปนี้

1. การตรวจทางกายภาพได้แก่ การตรวจด้วยประสาทสัมผัสง่ายๆ ธรรมดา เช่น ความใส ความขุ่น ความข้น สี และกลิ่นของของเหลวว่ามีความปกติหรือมีความผิดปกติอย่างใด

2. การตรวจสารชีวเคมีด้วยเหตุที่สารชีวเคมีจากเลือด ซึ่งอาจหลุดลอยเข้าปะปนกับของเหลวในร่างกาย เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติ การตรวจวิธีนี้จะเป็นการตรวจที่ละเอียดมากกว่าการตรวจทางกายภาพในร่างกายของมนุษย์เรามีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก

หากเกิดการเจ็บป่วยใดๆเกิดขึ้น บางครั้งแพทย์ผู้รักษาเองก็อาจไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้ในทันทีทันใด แต่การนำวิธีการตรวจ ของเหลวในร่างกายเข้ามาช่วยในทางการแพทย์ ช่วยให้แพทย์สามารถมีข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์ถึงโรคต่างๆที่เกิดขึ้นได้แม่นยำและถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้ประโยชน์ทั้งหมดก็อยู่ที่ตัวผู้ป่วยเอง เพราะหากแพทย์สามารถทราบถึงปัญหาต้นตอของโรคที่ป่วยได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะหายป่วยก็จะมีมากขึ้นและเร็วขึ้นด้วยนั่นเอง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ประสาร เปรมะสกุลม พลเอก. คู่มือแปลผลตรวจเลือดเล่มสอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2554. 416 หน้า 1.เลือด–การตรวจ. 616.07561 ISBN 978-974-9608-49-4.

Palmer, Chapter 38,Pathophysiology of sodium retention and wastage, in Seldin and Giebisch’s The Kidney, Fifth Edition. Page 1511-12. Elsevier Inc. (c) All rights reserved.

De Luca LA, Menani JV, Johnson AK (2014). Neurobiology of Body Fluid Homeostasis: Transduction and Integration. Boca Raton: CRC Press/Taylor & Francis.