คำถามทั่วไปเกี่ยวกับเบาหวานที่พบบ่อย
คำถามเรื่องเบาหวานมีมากมายที่ผู้ป่วยและญาติหรือผู้ใกล้ชิดอยากทราบไม่ว่าจะเป็นการกินการปฏิบัติตัว

โรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน เกิดจากการที่มีระดับน้ำตาล ( กลูโคส ) ในเลือดสูงเป็นเวลานาน เป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับการเผาผลาญอาหาร มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป  เราได้นำคำถามที่ถูกถามบ่อยๆ จากผู้ป่วยโรคเบาหวานพร้อมทั้งคำตอบเพื่อเป็นความรู้และแนวทางในการดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวานโดยแบ่งเป็นข้อๆดังนี้

คำถามที่ถูกถามบ่อยๆ จากผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ถาม : จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน ?
ตอบ : อาการสำคัญที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย   คอแห้ง กระหายน้ำ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย หิวบ่อย รับประทานจุ เป็นต้นแต่ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ตรวจพบโรคเบาหวานโดยบังเอิญโดยพบจากการตรวจร่างกายประจำปี

เกณฑ์ค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน คือ ผู้ที่มีระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารเช้าตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าจะเป็นเวลาใดเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ร่วมกับมีอาการของโรคเบาหวาน

ถาม : การตรวจระดับน้ำตาล ควรเจาะเลือดเวลาใดจึงจะดีที่สุด ?
ตอบ :การตรวจรับดับน้ำตาลในเลือดควรตรวจเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้า จะดีที่สุด ซึ่งค่าที่ได้อกมาต้องไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิเบล ส่วนผู้มีการตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานแล้ว สามารถตรวจได้ทุกเวลาแต่หากรับประทานอาหารแล้วมักจะเจาะเลือดตรวจหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง ซึ่งค่าปกติไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ถาม : ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเท่าไรจึงถือว่าเป็นอันตราย ?
ตอบ : ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติไม่ว่าจะเท่าใดก็ตามเป็นอันตราย ไม่ควรปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

ถาม : โรคเบาหวานเป็นแล้วมีโอกาสหายหรือไม่ ?
ตอบ : โรคเบาหวานหากเป็นแล้วจะไม่หายขาด เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่จะเป็นไปจนตาย หากผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในค่าปกติ ก็สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป

ถาม : พ่อแม่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน ทำไมบุตรจึงเป็นโรคเบาหวานได้ ?
ตอบ : โรคเบาหวานไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรมเพียงอย่างเดียว สามารถเกิดจากได้สาเหตุ เช่น ตับอ่อนได้รับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุกระทบกระเทือนบริเวณช่องท้องอย่างรุนแรงหรือได้รับการผ่าตัด การตั้งครรภ์ การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด การมีอายุที่มากขึ้น เป็นต้น ดังนั้นทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งสิ้น

ถาม : ถ้าแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โอกาสที่บุตรในครรภ์จะเป็นเบาวานด้วยมีมากเท่าใด ?
ตอบ :  ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันการติดโรคเบาหวานจากแม่สู่ลูกในครรภ์ แต่หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานถ้าควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี โอกาสที่บุตรในครรภ์จะมีความผิดปกติก็สามารถเกิดขึ้นได้

ถาม : ลูกคนที่คลอดมาหลังจากแม่เป็นโรคเบาหวานแล้ว มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนที่คลอดก่อนแม่เป็นโรคเบาหวานหรือไม่?
ตอบ : ยังไม่มีรายงานชัดเจนเช่นกัน แต่ทุกคนที่มีบิดาและหรือมารดาเป็นโรคเบาหวานล้วนแต่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานมากกว่าบุคคลอื่นทั้งสิ้น

ถาม : เมื่อฉีดอินซูลินแล้วมีโอกาสกลับมาใช้ยารับประทานได้หรือไม่ ?
ตอบ : สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1 แบบพึ่งอินซูลิน ไม่สามารถใช้ยาทานได้ ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 2 ถ้าใช้อินซูลินเนื่องจากดื้อยารับประทานแล้วหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่ไตจนเกิดไตวายก็ไม่สามารถกลับมาใช้ยารับประทานได้อีก เนื่องจากยารับประทานถูกขับถ่ายออกทางไตจะทำให้ไตทำงานหนักยิ่งขึ้น

ถาม : ถ้าลืมฉีดอินซูลินตอนเช้าจนบ่าย ควรทำอย่างไร ?
ตอบ : ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดยาใหม่สำหรับวันนั้นไม่ควรฉีดเหมือนเดิมปกติในช่วงบ่าย เนื่องจากระดับอินซูลินที่ออกฤทธิ์สูงสุดจะไปตรงกับช่วงกลางคืน อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่ายเนื่องจากเป็นช่วงที่ไม่ได้รับประทานอาหาร

ถาม : ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดที่ต้องรับประทานก่อนอาหารสามารถเปลี่ยนมารับประทานหลังอาหารแทนได้หรือไม่?
ตอบ : หากทานหลังอาหารประสิทธิภาพของยาจะลดลงมีผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดลดน้อยลง เนื่องจาก ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดจะดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานก่อนอาหารเท่านั้น

ถาม : คนที่ใช้ยาฉีดอินซูลินแสดงว่าถึงขั้นสุดท้ายแล้วใช่หรือไม่ ?
ตอบ : คนที่ฉีดอินซูลินไม่ได้แสดงว่าถึงขั้นสุดท้าย แต่เป็นทางเลือกชนิดหนึ่งที่แพทย์จะใช้กับผู้ป่วย เพื่อให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆได้

ถาม : หากเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังแล้วจะสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?
ตอบ : ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังเนื่องจากการควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะไม่สามารถรักษากลับให้ดีดังเดิมได้

ถาม : เวลามีน้ำตาลในเลือดสูง ถ้าออกกำลังกายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้หรือไม่ ?
ตอบ : การออกกำลังกายสามารถช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ เหมาะสำหรับผู้ที่คุมระดับของโรคเบาหวานได้ดีเท่านั้น แต่หากผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร  ไม่ควรออกกำลังกาย เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังขาดอินซูลิน การออกกำลังกายจะยิ่งไปช่วยใช้ทำให้ระดับอินซูลินลดต่ำลงไปอีก ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ถาม : ควรออกกำลังกายก่อนหรือหลังอาหาร ?
ตอบ : ควรออกกำลังกายหลังทานอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไปเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อาหารกำลังถูกย่อยสลาย ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้น การออกกำลังกายจะไปช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายตอนเช้าก่อนอาหารในคนที่คุมเบาหวานได้ดี ควรทานอะไรรองท้องไว้สักหน่อย เพราะการออกกำลังกายจะไปลดระดับน้ำตาลในเลือดลงจนอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

ถาม : การออกกำลังกายเป็นการเพิ่มหรือลดระดับน้ำตาลในเลือด ?
ตอบ : การออกกำลังกายอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มหรือลดลงก็ได้ เนื่องจากการออกกำลังกายจะใช้พลังงานจากน้ำตาลกลูโคสในเลือดทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงและจะลดมากถ้ามีระดับอินซูลินในเลือดสูง ในขณะเดียวกันตับจะผลิตกลูโคสเพิ่มขึ้นเพื่อปรับให้ระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น

ถาม : ในวันที่ออกกำลังกายและพบว่าเกิดอาการน้ำตาลต่ำจะแก้ไขได้อย่างไร ?
ตอบ : การออกกำลังกายทำให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลง โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ใช้วิธีการฉีดอินซูลิน ควรฉีดอินซูลินก่อนและหลังการออกกำลังกาย และควรรับประทานอาหารว่างก่อนออกกำลังกายเสมอ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ

ถาม : เวลาที่ออกกำลังกายจะต้องรับประทานอาหารมากน้อยเพียงใดเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ?
ตอบ : ก่อนออกกำลังกายควรทานอาหารว่างที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณ 15 กรัม เช่น ขนมปัง 1 แผ่น ข้าวโพด 1 ฝักหรือผลไม้สด 1 ส่วน แต่หากสังเกตว่าตัวเองมักจะมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำหลังจากการออกกำลังกายไปแล้วพักใหญ่ควรรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 15-30 กรัม ภายใน 30 นาทีหลังจากออกกำลังกายเสร็จแล้ว เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำตาลจากอาหารช่วยป้องกันปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงกว่าปกติ

ถาม : ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานดื่มเหล้าได้หรือไม่ ?
ตอบ : หากเลือกได้ผู้ป่วยก็ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มทั้งหลายที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เนื่องจากในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นให้พลังงานสูงเท่ากับไขมันแต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจและภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด

ถาม : คนที่ชอบรับประทานของหวานทำให้มีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าคนปกติใช่หรือไม่ ?
ตอบ : ไม่ใช่เสมอไป ของหวานไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานโดยตรง แต่คนที่เป็นโรคเบาหวานมักจะเกิดจากสาเหตุการทานของหวานมากๆ แล้วไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้เกิดความอ้วนซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคเบาหวานนั่นเอง

ถาม : ตามัวเนื่องจากเลือดออกในจอตา เมื่อยิงแสงเลเซอร์แล้วตาจะมองเห็นเป็นปกติหรือไม่ ?
ตอบ: การยิงแสงเลเซอร์เป็นการหยุดจุดเลือดออกบริเวณจอรับภาพ อาจทำให้การมองเห็นดีขึ้นบ้างเล็กน้อยในบางราย แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงในการยิงแสงเลเซอร์นั้นเพื่อเป็นการป้องกันการตาบอด ไม่ใช่ทำให้การมองเห็นดีขึ้นแต่อย่างใด

ถาม : เคยได้ยินคนพูดว่าคนเป็นโรคเบาหวานเป็นแผลแล้วรักษาหายยากทำไมบางคนเวลามีแผลจึงหายง่าย?
ตอบ : การที่แผลหายยากเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงแผลตีบแคบลงทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงแผลได้ไม่ดี ภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป และอยู่ในช่วงที่คุมเบาหวานไม่ได้ เกิดการติดเชื้อลุกลาม จึงทำให้แผลที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยโรคเบาหวานหายช้าหายเร็วต่างกันออกไป

ถาม : มีสาเหตุหรือโรคอะไรบ้างที่ทำให้ผลการตรวจเลือดอาจวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคเบาหวาน ?
ตอบ : เกิดจากยาบางตัวที่ทานไปอาจจะไปมีผลทำให้ การตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าเป็นสูงได้ เกิดจากการเจ็บป่วยที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ซึ่งมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติชั่วคราว เมื่อความเจ็บป่วยนั้นดีขึ้นหรือหายแล้วระดับน้ำตาลก็กลับมาเป็นปกติ   

ถาม : เพราะเหตุใดเวลาตื่นเช้าขึ้นมาระดับน้ำตาลจึงต่ำแต่ตกเย็นกลับสูงขึ้น ?
ตอบ : ระดับน้ำตาลที่ต่ำเกิดจากร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดรวมทั้งโกรทฮอร์โมน ( Growth Hormone ) ออกมา ส่วนในกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นก็มาจากการหลั่งฮอร์โมน คอร์ติซอล ( Cortisol ) หรืออาจะเกิดจากการทานอาหารเข้าไป ฮอร์โมนเหล่านี้ไม่ได้ออกฤทธิ์ทันทีแต่ใช้เวลาหลายชั่วโมง อาจถึง 24 ชั่วโมง

ถาม : มีเคล็ดลับในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สม่ำเสมอได้อย่างไร ?
ตอบ : สำหรับผู้ที่เจอปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าค่าปกติ หรือเกินกว่า 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในเวลาก่อนจะทานอาหาร กรณีนี้เกิดจากตับผลิตน้ำตาลกลูโคสมากเกินไป ซึ่งต้องใช้อินซูลินฉีดเข้าไปเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดลง แต่การฉีดอินซูลินเข้าไปต้องเว้นระยะเวลาประมาณ 60-90 นาที ก่อนทานอาหาร แต่ควรระวังอย่าให้นานกว่านั้นเพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลลดน้ำกว่าปกติได้ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวาน บางคนไม่แน่ใจว่าควรฉีดอินซูลินตามปกติหรือไม่เมื่อระดับน้ำตาลลดต่ำลงกว่าปกติ สิ่งที่ควรทำคือ ให้รับประทานอาหารเพื่อปรับน้ำตาลให้เข้าสู่ระดับปกติก่อน และหลังจากนั้น 10-15 นาที จึงค่อยฉีดอินซูลินเข้าไป โดยรอเวลาประมาณ 20 นาทีจึงค่อยทานอาหารเวลาในการรับประทานอาหารและฉีดอินซูลินขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในขณะนั้น โดยปกติถ้าระดับน้ำตาลสูงควรจะฉีดอินซูลิน 45 นาทีก่อนรับประทานอาหาร แต่ถ้าระดับน้ำตาลต่ำมากควรฉีดอินซูลินแล้วรับประทานอาหารเลย

โรคเบาหวานเป็นแล้วไม่อาจจะรักษาให้หายได้ แต่จะยิ่งมีอาการมากขึ้นตามจำนวนปีที่เป็น เพราะว่าตับอ่อนจะเสื่อมลง ด้วยเหตุนี้โรคเบาหวานจึงเป็นสาเหตุของการล้างไตอันดับหนึ่ง เป็นสาเหตุของตาบอดใกล้อันดับ 1 ในเมืองไทย รวมถึงยังทำให้มีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน 2-4 เท่า ดังนั้น เมื่อเราเป็นโรคเบาหวานก็ควรดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ แล้วเราจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนคนปกติ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง 

ศาสตราจารย์ นพ. เทพ หิมะทองคำ และคณะบรรณาธิการ ศาสตราจารย์ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และรองศาสตราจารย์ ภญ.ธิดา นิงสานนท์. ความรู้เรื่องเบาหวานฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์, 2557.

ศูนย์เบาหวานศิริราช. ลดอาหารหวาน เลี่ยงอาหารมัน รู้ทันอาหารเค็ม. กรุงเทพฯ : หน่วยพิมพ์โรงพยาบาลศิริราช, 2557.

บุษบา จินดาวิจักษณ์. ยารักษาโรคเบาหวานใช้อย่างไร [เว็บไซต์]. กรุงเทพฯ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2553.