การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานานและไม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติอย่างสม่ำเสมอจะเกิดโรคแทรกซ้อน

โรคเบาหวานกับการดูแลตนเอง

การดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะโรคเบาหวานนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกวัย เนื่องจากการทำงานผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินที่อยู่ในร่างกาย อินซูลินมีความจำเป็นต่อร่างกายของเรามีหน้าที่คือนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย เช่น สมอง กล้ามเนื้อ ดังนั้น การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเบาหวาน จะต้องแตกต่างจากคนปกติทั่วไปเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน ที่สำคัญคือภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทนหรือภาวะหมดสติเนื่องจากระดับน้ำตาลสูงมากเกินไปหรือน้อยเกินไป

การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลเมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วย

เมื่อมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ร่างกายจะตอบสนองต่อภาวะดังกล่าวเหมือนภาวะที่มีความเครียดเกิดขึ้น จะมีการหลั่งฮอร์โมนหลายตัว รวมแล้วเรียกสเตรสฮอร์โมน stress hormones ซึ่งจะทำให้ตับสร้างน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น

คนปกติจะมีการตอบสนองโดยการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่สูงขึ้นไปใช้เป็นแหล่งพลังงานในเนื้อเยื่อได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินให้เพิ่มขึ้นได้ตามที่ร่างกายต้องการในขณะที่มีความเครียด และประกอบกับสเตรสฮอร์โมนเหล่านี้ยังมีผลทำให้ฮอร์โมนอินซูลินพาน้ำตาลกลูโคสเข้าเนื้อเยื่อได้ไม่ดีอีกด้วย ผลก็คือระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานจะสูงขึ้นกว่าปกติและอาจจะขึ้นสูงได้มากๆ จนเป็นอันตรายได้

เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อเพื่อใช้เป็นพลังงานได้ ร่างกายจึงสลายไขมันที่สะสมอยู่ออกมาใช้เป็นแหล่งพลังงานแทน ซึ่งกระบวนการสลายไขมันนี้จะได้สารคีโทนซึ่งเป็นสารพิษและมีฤทธิ์เป็นกรดเกิดขึ้นด้วย หากร่างกายไม่มีฮอร์โมนอินซูลินหรือมีเพียงเล็กน้อยเช่นในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 สารคีโทนในเลือดก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นมากทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ร่างกายยังพอจะสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้บ้างมักจะไม่เกิดภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน แต่จะเกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ จนเกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากปัสสาวะบ่อยจนอาจเป็นลมหมดสติไปได้

ในบางครั้งหากภาวะเจ็บป่วยนั้นเป็นเพียงเล็กน้อยและสเตรสฮอร์โมนไม่ได้ถูกสร้างออกมามาก และผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ หรือถ่ายอุจจาระมากๆ จนอยู่ในภาวะขาดน้ำหรือสารอาหาร อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ 

ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยเบาหวานไม่สบายจึงควรมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและ / หรือคีโทนในปัสสาวะบ่อยๆ โดยอาจทำด้วยตนเองหรือโดยคนในครอบครัว เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงขณะเจ็บป่วย

ข้อควรปฏิบัติในการดูแลตนเองขณะเป็นโรคเบาหวาน ดังนี้

เจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลทุก 4-6 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 ซึ่งใช้ยาฉีดอินซูลิน ควรตรวจคีโทนในปัสสาวะร่วมด้วยทุก 4-6 ชั่วโมง เช่นกัน
ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับภาวะเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น
ไม่ควรหยุดฉีดอินซูลินหรือหยุดรับประทานยาเบาหวาน ให้ฉีดยาหรือรับประทานยาตามขนาดเดิม
ควรจะมีอินซูลินชนิดใสซึ่งออกฤทธิ์เร็วเผื่อใช้เพิ่มเติม ( ตามคำแนะนำของแพทย์ )
ควรระวังและสังเกตอาการจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมากเกินไป
รับประทานอาหารแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม ( ดูหมวดอาหารแลกเปลี่ยน )
ดื่มน้ำให้มากขึ้น พักผ่อนมากๆ และงดออกกำลังกาย
การฉีดยาอินซูลินขณะเจ็บป่วย

ในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 หรือที่ต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเป็นประจำก็ให้ฉีดในขนาดเท่าเดิม เวลาเดิมตามปกติ และสามารถฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้นเพิ่มได้อีก หากตรวจพบว่า

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 240 มิลลิกรัม / เดซิลิตร และ / หรือคีโทนในปัสสาวะมากกว่า 1
โดยมีวิธีฉีดดังนี้

ปริมาณ : ให้ฉีดเพิ่มประมาณ 20% ของปริมาณยาฉีด รวมทั้งหมดตามปกติ เช่น
ปกติฉีด รวมทั้งวัน    = 40 ยูนิต

20% ของ 40 ยูนิต   = 8 ยูนิต 

เวลา : ฉีดได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ตามระดับน้ำตาลในเลือด หรือคีโทนในปัสสาวะที่ตรวจพบพยายามควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงประมาณ 100-240 มิลลิกรัม / เดซิลิตร และ / หรือตรวจไม่พบคีโทนในปัสสาวะ

ในกรณีต่อไปนี้ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์หรือมาโรงพยาบาล

อาการเจ็บป่วยเป็นนานเกิน 2-3 วัน
คลื่นไส้ อาเจียนมาก เช่น ทุก 4-6 ชั่วโมง หรืออุจจาระร่วงไม่หยุดเลยนานกว่า 3 ชั่วโมง
รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย หรือรู้สึกไม่สบายและอ่อนเพลียมาก
ฉีดอินซูลินเพิ่มแล้วระดับน้ำตาลในเลือดหรือคีโทนในปัสสาวะก็ไม่ดีขึ้นใน 1-2 วัน

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยหรือผู้ดูแลมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจควรจะปรึกษากับทีมผู้รักษาโดยตรงทันที

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ศาสตราจารย์ นพ. เทพ หิมะทองคำ และคณะบรรณาธิการ ศาสตราจารย์ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และรองศาสตราจารย์ ภญ.ธิดา นิงสานนท์. ความรู้เรื่องเบาหวานฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์, 2557.

สิรินาถ วงศ์ภมรมนตรี. เราจะไม่เป็นเบาหวานในชาตินี้. กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559.