ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการอย่างไร
อาการผิดปกติที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวานเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการโรคเบาหวาน

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แม้ อาการโรคเบาหวาน จะไม่รุนแรงน่ากลัว ผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำของแพทย์จะทำให้สามารถใช้ชีวิตตามคนปกติโดยทั่วไปได้ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเองมักจะได้รับผลกระทบจาก อาการแทรกซ้อนที่ผิดปกติเข้ามา เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เหงื่อออกมากผิดปกติ หรือภาวะการติดเชื้อตามส่วนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วย โรคเบาหวานจึงควรรู้อาการและวิธีป้องกันเบื้องต้น ของโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมา ดังข้อมูลต่อไปนี้

อาการและวิธีป้องกันเบื้องต้น ของโรคแทรกซ้อน

โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ เช่น อ้วนเกินไป น้ำหนักเกิน ไม่ออกกำลังกาย หรือมีไขมันในเลือดสูง

1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ( Hypoglycemia )

โดยส่วนใหญ่จะเกิดจาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ การฉีดอินซูลินหรือทานยาลดระดับน้ำตาลมากเกินไป การออกกำลังกายหนักเกินไป หรือการรับประทานอาหารน้อยเกินไป หรือผิดเวลาปกติจากเดิม

อาการของโรค : หัวใจจะเต้นแรงและเร็ว มีอาการตัวเย็น มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ วิงเวียน มึนงง และปวดศีรษะ รู้สึกชาบริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้าหรือรอบปาก ตาเกิดความพร่ามัวหรือเห็นภาพซ้อน หน้าซีด และพูดไม่ชัดและอาจะมีอาการชัก และหมดสติได้

การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการ : ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ง่ายๆ คือ การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลเข้าไปเมื่อได้รับน้ำตาลเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสมหลังจากนั้นร่างๆกายจะดีขึ้นเองอย่างรวดเร็ว หากมีอาการดังกล่าว ไม่ควรปล่อยไว้ เนื่องจาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่สามารถหายได้เองจากการพักผ่อน เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน

มีวิธีแก้ไขเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

1.หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเนื่องจากการทานอาหารผิดเวลาไปจากเดิม ควรรีบทานอาหารทันทีหรือหาอาหารว่างหรืออาหารง่ายๆ เช่น ขนมปัง มาทานรองท้องไปก่อนก็ได้เพื่อที่อาการจะได้ดีขึ้น

2.หากผู้ป่วยมีการที่เริ่มหนักแล้ว ควรรีบหาอาหารรสหวานที่สามารถดูดซึมเข้าร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เช่น น้ำหวาน นมรสหวาน มารีบรับประทานทันที เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดปรับกลับมาเป็นปกติ

3.นั่งหรือนอนพักผ่อน งดเว้นการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ

4.หากปฏิบัติตามข้อ 1- 3 แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไป 10 – 15 นาทีแล้ว ควรรับประทานอาหารที่มีความหวานเพิ่มเข้าไป

5.หากเป็นผู้ที่ชอบออกกำลังกาย ควรหาอาหารว่างทานก่อนออกกำลังกาย เช่น แซนวิช หรือขนมปังทาเนยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระหว่างออกกำลังกายหรือหลังออกกำลังกาย

ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ควรคุมประเภทและปริมาณอาหารแต่ละมื้ออย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ และควรทานอาหารให้ตรงเวลารับประทานยาและฉีดอินซูลิน ตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ กรณีออกกำลังกายมากกว่าปกติ ควรทานก่อนออกกำลังกาย 1 ชั่วโมงสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลินถ้าเป็นไปได้ควรตรวจเลือดก่อนและหลังการออกกำลังกาย ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่ต้องรับประทานยาสำหรับในการรักษาโรคอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อป้องกันยาชนิดนั้นๆส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดนั้นเอง แจ้งบุคคลใกล้ชิตหรือญาติให้ทราบเรื่องการเป็นโรคเบาหวาน และควรอธิบายวิธีการในการช่วยเหลือเบื้องต้นให้ทราบด้วย ในกรณีฉีดอินซูลิน ควรมีการพกอาหารหรือของว่างที่มีรสหวาน ติดตัวหรือติดบ้านไว้ ในกรณีฉุกเฉิน สามารถหยิบทานได้ทันที และหากออกจากบ้านควรพกบัตรประจำตัวผู้ป่วยโรคเบาหวานตลอด เผื่อในกรณีฉุกเฉินผู้ที่พบเห็นจะได้ช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง

2. ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า ( Postural hypotension )

เป็นภาวะโรคแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมีสาเหตุมาจาก ความดันโลหิตลดต่ำลงเนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำหน้าที่ควบคุมความดันโลหิตเสียและเสี่ยมสภาพไปส่งผลให้การควบคุมความดันในโลหิตและการสูบฉีดเลือดหรือการเต้นของหัวใจทำได้แย่ลงหรืออาจจะเกิดจากสาเหตุการได้รับยาบางตัว เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมเลยไปทำให้ความดันโลหิตต่ำลงมากกว่าปกติ

อาการของโรค : เมื่อมีการเปลี่ยนอิริยาบถจากท่าหนึ่งไปอีกท่าหนึ่ง เช่น จากนอนไปลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วจะมีอาการ เวียนศีรษะ หน้ามืด เหมือนจะเป็นลม หรือบางรายอาจจะหมดสติได้

การปฏิบัติตัวและการรักษาที่สามารถทำได้

หลีกเลี่ยงและลดการใช้ยาที่มีผลลดความดันโลหิตหากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
ออกกำลังกายเป็นประจำ ปรับการนอนให้สูงกว่าปกติ 30 – 45 องศา เพื่อลดอาการหน้ามืดจากการเปลี่ยนท่า จากนอนเป็นลุกขึ้นยืน ใช้ยาช่วยสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักและไม่สามารถใช้วิธีอื่นช่วยได้แล้ว

3. ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ ( Pseudomotor dysfunction )

มีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำหน้าที่ควบคุมต่อมเหงื่อซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนชนิดหนึ่งต่อระบบประสาทอันเนื่องมาจากการเป็นโรคเบาหวาน

อาการของโรค : ผู้ป่วยจะมีเหงื่อออกมากว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลำตัว หรือแขน และสำหรับผู้ป่วยบางรายอาจจะทำให้ระบบระบายความร้อนในร่างกายเสียไปด้วย ทำให้ไม่สามารถทนต่อสภาวะอากาศที่ร้อนได้

การปฏิบัติตัวและการรักษาที่สามารถทำได้ : อาการแทรกซ้อนประเภทนี้ไม่สามารถรักษาให้หายได้

ผู้ป่วยต้องระมัดระวังตัวไม่อยู่ในที่อากาศร้อนจัด ควรอยู่ในที่อากาศเย็นและถ่ายเทได้สะดวก

4. ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในชาย ( Impotence )

ภาวะนี้นอกจากเกิดจากสาเหตุการเป็นโรคเบาหวานแล้วยังมีสาเหตุด้านอื่นๆที่ส่งผลกระทบด้วย เช่น สภาวะทางด้านจิตใจที่ไม่ดี เช่นความเครียด การมีความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ เป็นต้นจะพบได้มากในชายที่สูงอายุ

อาการของโรค : อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวเพียงพอที่จะมีการร่วมเพศตามปกติได้

การปฏิบัติตัวและการรักษาที่สามารถทำได้

การใช้ยาเข้ามาช่วย เช่น ยาไวอากร้า (ใช้กิน) ยามิวส์ (ใช้สอดเข้าไปในท่อปัสสาวะ) ยาคาเวอร์เจกต์ (ใช้ฉีดเข้าอวัยวะ) โดยการใช้ยาประเภทไหนก็แล้วแต่ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนใช้งาน การใช้เครื่องปั๊มสุญญากาศ
พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงการสูบบุหรี่

5. ภาวะผิดปกติด้านระบบทางเดินอาหาร

สาเหตุโดยส่วนใหญ่จะมาจากความผิดปกติ ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวหรือการบีบตัวของทางเดินอาหาร ไล่มาตั้งแต่หลอดอาหารจนถึงลำไส้ใหญ่ พบได้มากในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมดูแลตนเองได้ไม่ดีพอ ซึ่งภาวะผิดปกติด้านระบบทางเดินอาหารจะมีได้หลายอาการ ดังต่อไปนี้

5.1 หลอดอาหาร มีลักษณะการบีบตัวที่ผิดปกติ ไม่สัมพันธ์กันทำให้อาหารลงไปสู่กระเพราะอาหารได้น้อยลงเวลากลืนอาหารจะรู้สึกติดขัดหรือมีอาการเจ็บคล้ายเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ อาจทำให้เกิดแผลอักเสบบริเวณหลอดอาหารหรือมีการติดเชื้อราในหลอดอาหารได้

การรักษา : แพทย์จะให้ยารักษาและให้ผู้ป่วยเข้มงวดในการคุมโรคเบาหวานให้มากขึ้น

5.2 กระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารจะมีการบีบตัวที่น้อยลง ทำให้มีอาหารค้างหลงเหลืออยู่ในกระเพาะอาหาร การย่อยอาหารและการดูดซึมอาหารเกิดความผิดปกติ จนทำให้รู้สึกมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียนมีอาการแน่นท้องและปวดท้องด้านบน เบื่ออาหาร และยังส่งผลให้การควบคุมเบาหวานทำได้ยากขึ้น เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดไม่นิ่ง แกว่งขึ้นลงไปมานั้นเอง อาการโรคแทรกซ้อนนี้ทางแพทย์ผู้รักษาต้องวิเคราะห์ให้ดี เนื่องจากอาการจะไปคล้ายกับโรคอื่นๆ เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ หรือโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น

การรักษา : ผู้ป่วยต้องควบคุมเบาหวานให้ดี และ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหารทานครั้งละน้อยๆเลือกอาหารที่ย่อยง่ายๆ หรือวิธีการรักษาโดยใช้ยารักษาตามความเห็นของแพทย์

5.3 ถุงน้ำดี ผู้ป่วยมักจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี โดยจะพบมากในเพศหญิงหรือผู้ที่มีระดับไขมันสูง

การรักษา : แพทย์จะใช้วิธีการผ่านิ้วในถุงน้ำดีออก แต่ก็ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไปว่ามีโรคแทรกซ้อนอื่นๆหรือไม่

5.4 ท้องเสีย ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะมีอาการท้องเสียและถ่ายเหลวบ่อยๆ บางครั้งอาจจะมีอาการท้องผูกสลับกับอาการท้องเสียได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนยังถ่ายแบบไม่รู้สึกตัวในขณะที่นอนหลับ

การรักษา : แพทย์จะให้ยาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น

5.5 กลั้นอุจจาระไม่ได้ อาการนี้เกิดจากหูรูดทวารหนักของป่วยทำงานได้น้อยลง เนื่องจากการเสื่อมของเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุม จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมกลั้นอุจจาระได้เหมือนปกติ จะมีอาการคล้ายคนท้องเสีย อุจจาระราดบ่อยครั้ง

การรักษา : เบื้องต้นแพทย์จะให้ยาตามอาการ และให้ผู้ป่วยฝึกการขมิบก้น เพื่อฝึกความแข็งแรงของหูรูดทวารหนักให้ทำงานได้ดีขึ้น

5.6 ท้องผูก อาการท้องผูกจะพบได้ค่อนข้างมากสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท ซึ่งสิ่งที่ควรระวังคือหากผู้ป่วยท้องผูกนานๆ จนมีก้อนอุจจาระค้างในสำไส้ใหญ่เป็นจำนวนมาก จนอาจจะทำให้อุจจาระเหลวออกมาคล้ายอาการท้องเสียนั้นเอง

การรักษา : แพทย์ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าเป็นอาการท้องเสียหรือเป็นมะเร็งลำไส้ หรือโรคอื่นๆ ซึ่งมีอาการที่ใกล้เคียงกัน จากนั้นจึงจะให้ยาระบายและฝึกให้ผู้ป่วยขับถ่ายให้เป็นเวลา

5.7 ปวดท้อง ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดท้องด้วยสาเหตุทั่วๆ ไปเหมือนผู้ป่วยรายอื่นๆ เช่น โรคกระเพาะ สำไส้อักเสบ แต่ปัจจัยที่อาจจะเป็นสาเหตุที่สำคัญของการปวดท้องคือ ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน,กระเพาะอาหารบีบตัวผิดปกติ, ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันหรือ มีภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทนสำหรับผู้ป่วยบางรายที่ปวดท้องรุนแรง และเป็นมานาน อาจเกิดจากปลายประสาทบริเวณท้องอักเสบได้

การรักษา : ให้ยารักษาตามอาการ

6.ภาวะปัสสาวะลำบาก ( Bladder dysfunction )

มีสาเหตุเกิดจากการที่ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบประสาทจึงทำให้ระบบการทำงานของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติหรือบกพร่องไปด้วย

อาการของโรค : อาการในระยะแรก จะปวดปัสสาวะน้อยกว่าปกติ นานๆจะปวดสักครั้งจนเมื่ออาการหนักขึ้นอาจจะปัสสาวะในวันหนึ่ง เพียงแค่ 1 ถึง 2 ครั้งเท่านั้น จะใช้แรงในการเบ่งปัสสาวะมากกว่าปกติ ปัสสาวะจะไม่พุ่ง จนในที่สุดจะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ 

การปฏิบัติตัวและการรักษาที่สามารถทำได้

ฝึกและควบคุมให้ผู้ป่วยทำการขับถ่ายปัสสาวะให้ถูกต้อง
การใช้ยารักษาตามคำแนะนำของแพทย์
ฝึกให้ผู้ป่วยฝึกการสวนปัสสาวะด้วยตนเองให้ถูกต้อง

ควรคุมประเภทและปริมาณอาหารแต่ละมื้ออย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ และควรทานอาหารให้ตรงเวลารับประทานยาและฉีดอินซูลิน ตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ

7.ภาวะการติดเชื้อ ( Infections )

ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะสามารถติดเชื้อต่างๆได้ง่ายกว่าคนปกติ โดยมีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันในร่างกายที่บกพร่อง การติดเชื้อนี้หากเกิดแล้วสามารถลุกลามไปยังส่วนอื่นๆได้อย่างรวดเร็วอวัยวะทุกส่วนล้วนแต่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ทั้งสิ้น สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานการติดเชื้อที่จะพบได้บ่อยๆคือ

7.1 การติดเชื้อบริเวณผิวหนังและชั้นใต้ผิวหนัง มีลักษณะอาการคือ จะมีตุ่มหรือฝี ต่างๆ ขึ้น มีอาการอักเสบบริเวณชั้นผิวหนังในร่างกาย ควรได้รับการรักษาอย่างเร็วมิฉะนั้นจะลุกลามไปยังส่วนอื่นๆได้

7.2 ภาวะเนื้อตายเน่า จะเกิดจากอาการที่มีแผลที่ร่างกายแล้วมีอาการอักเสบ ปวด บวม ต่อมาจะลุกลามกลายเป็นสีดำหรือมีตุ่มน้ำเกิดขึ้นซึ่งอันตรายมาก ผู้ที่มีอาการนี้ควรได้รับการรักษาแบบเร่งด่วน

7.3 ภาวะหูชั้นนอกติดเชื้ออย่างรุนแรง เป็นอาการติดเชื้อที่ใบหูอย่างรุนแรง โดยส่วนมากจะพบเฉพาะในผู้ที่ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานเท่านั้น สาเหตุเกิดจากเชื้อที่ชื่อว่าชิวโดโมนาสแอรูไจโนชา ผู้ป่วยที่เป็นจะมีอาการปวดหู มีน้ำเหลืองหรือน้ำหนองไหลเชื้อโรคจะกินลึกลงไปถึงชั้นกระดูกอ่อน รอบๆ ช่องใบหูและจะเป็นอันตรายมาก หากปล่อยให้ลามไปถึงกะโหลกศีรษะและเยื่อหุ้มสมอง เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในการรักษานั้นแพทย์จะต้องทำร่วมกันระหว่างผ่าตัดและการให้ยาปฏิชีวนะควบคู่กันไป 

7.4 การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอาจจะอักเสบทำให้มีอาการปัสสาวะแล้วรู้สึกปวดหรือแสบ ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่ในการปัสสาวะจะมีออกมาครั้งละเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปัสสาวะมักมีสีขุ่น และมีอาการปวดบริเวณท้องน้อย และผู้ป่วยบางรายก็อาจจะลุกลามไปจนเป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลันได้ ในการรักษาแพทย์จะคอยให้ยาปฏิชีวนะ ส่วนในผู้ป่วยรายที่เป็นกรวยไตอักเสบควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

7.5 การติดเชื้อในปอด การติดเชื้อในปอดที่จะพบได้บ่อยๆคือ วัณโรคปอด อาจจะมีอาการไอเรื้อรัง มีไข้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด การรักษาต้องทานยาให้ครบและติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือนตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีอาการโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ง่าย ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ชีวิต หรือพฤติกรรมการทานอาหารต่างๆ หมั่นคอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หากเจออาการผิดปกติอะไรควรไปพบแพทย์ทันที ที่สำคัญผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรศึกษาข้อมูลต่างๆของโรคเบาหวานไว้ด้วย เนื่องจากอาการบางอย่างของโรค ผู้ป่วยสามารถจะดูแลตนเองและรู้จักวิธีในการป้องกันอาการโรคเบาหวานแทรกซ้อนได้ก็เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของตนเอง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: หจก. อรุณการพิมพ์, 2557.

แก้ว กังสดาลอำไพ. ความสัมพันธ์ระหว่างแอลกอฮอล์กับอาหาร [เว็บไซต์]. กรุงเทพฯ. หมอชาวบ้าน, 2531.