มะม่วงหิมพานต์
มะม่วงหิมพานต์ (Cashew, Cashew nut) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Anacardium occidentale L. จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะม่วงกุลา มะม่วงลังกา มะม่วงหยอด มะม่วงสินหน (ภาคเหนือ), มะม่วงสิโห (เชียงใหม่), มะโห (แม่ฮ่องสอน), มะม่วงกาสอ (อุตรดิตถ์), มะม่วงเล็ดล่อ มะม่วงยางหุบ (ระนอง), กายี (ตรัง), ส้มม่วงทูนหน่วย มะม่วงทูนหน่วย (สุราษฎร์ธานี), กะแตแก (นราธิวาส), นายอ (ยะละ), ยาโงย ยาร่วง (ปัตตานี), มะม่วงหิมพานต์ มะม่วงไม่รู้หาว (ภาคกลาง), กาหยู กาหยี ม่วงเม็ดล่อ ม่วงเล็ดล่อ หัวครก ท้ายล่อ ตำหนาว ส้มม่วงชูหน่วย (ภาคใต้) เป็นต้น
ลักษณะของมะม่วงหิมพานต์
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีความสูงโดยเฉลี่ย 6 เมตร (สามารถสูงได้ถึง 12 เมตร) ลำต้นมีเนื้อไม้ที่แข็ง มีกิ่งแขนงแตกออกไปเป็นพุ่มแน่นทรงกลมถึงแบบกระจาย มีเปลือกหนา และผิวเรียบเป็นสีน้ำตาลเทา ในบ้านเราสามารถพบได้ทั่วไปในภาคใต้
- ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนกัน ใบมีลักษณะหนาผิวเกลี้ยงเหมือนกับแผ่นหนัง ใบคล้ายรูปไข่กลับหัวถึงรูปรีกว้าง ปลายใบกลม โคนใบนั้นแหลม เนื้อใบมีกลิ่นหอม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร
- ดอก ออกเป็นช่อกระจาย ดอกเป็นสีขาวถึงสีเหลืองนวล และจะเปลี่ยนสีไปเป็นสีชมพู ช่อดอกแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยเป็นจำนวนมาก และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดเล็ก โคนดอกเชื่อมติดกัน ดอกหนึ่งมีปลายแยกเป็นกลีบอยู่ 5 กลีบ ปลายดอกแหลมเรียว ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 8-10 อัน หลังจากที่ดอกร่วงแล้วจะติดผล
- ผล มีลักษณะคล้ายผลชมพู่หรือลูกแพร์ ผลเป็นพวงห้อยลงมา ขนาดผลยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร เนื้อผลมีความฉ่ำน้ำและมีกลิ่นหอม ผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียวหรือเหลืองอมชมพู แต่เมื่อผลสุกแล้วนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มแดง ที่ปลายผลนั้นมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะคล้ายรูปไต เปลือกนอกมีผิวที่แข็ง และมีขนาดยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีสีเป็นสีน้ำตาลอมเทา
- เม็ดผลมีเปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียวลักษณะคล้ายกับรูปไต หรือคล้ายคลึงกับนวมของนักมวย มีสีเป็นสีน้ำตาลปนเทา ข้างในผลมีเมล็ดคล้ายรูปไต
สรรพคุณของมะม่วงหิมพานต์
1. แพทย์ในประเทศอินเดียใช้เมล็ดเลี้ยงเด็กทารกที่อายุเกิน 6 ขวบ เพื่อช่วยทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้รวดเร็วและแข็งแรง
2. เม็ดอุดมไปด้วยธาตุทองแดง จึงมีฤทธิ์ช่วยบำรุงเส้นผมและผิวหนังได้เป็นอย่างดี
3. เม็ด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดได้
4. การวิจัยในประเทศบราซิลและอินเดียพบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นและสารสกัดจากส่วนเหนือดินของต้นนั้น สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
5. เมล็ดนั้นมีกรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ป้องกันโรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับทรวงอกได้
6. แมกนีเซียมในเม็ด ช่วยลดความดันโลหิตได้
7. เม็ด มีฤทธิ์ป้องกันโรคมะเร็ง และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
8. เม็ด มีธาตุแมกนีเซียมในปริมาณที่สูง จึงสามารถป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ ช่วยบำรุงสุขภาพเหงือก สุขภาพฟัน และกระดูกให้แข็งแรงได้
9. การรับประทานเม็ด เป็นประจำนั้นจะช่วยป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมได้
10. เมล็ดมีกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่มาก จึงมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคไขมันตับ และแถมยังไม่ให้มีการสะสมในร่างกายมากจนเกินไป จึงไม่ทำให้อ้วน
11. เม็ด มีแมกนีเซียมที่สูง ซึ่งแร่ธาตุชนิดนี้จะช่วยในเรื่องการทำงานของหัวใจ และมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงาน แถมยังช่วยป้องกันอาการหมดเรี่ยวแรงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
12. ช่วยรักษาโรคฟันผุ บรรเทาอาการเสียวฟันหรือปวดฟันได้ เนื่องจากเม็ดมีกรดอนาร์ดิกที่มีคุณสมบัติในการช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคฟันผุได้ แต่อย่างไรก็ดี การแปรงฟันก็เป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากกรดชนิดนี้จะออกฤทธิ์เพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น (ชาร์ลส์ เวเบอร์ นักวิทยาศาสตร์จากนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา)
13. กรดอนาร์ดิกในเม็ดสามารถนำไปประยุกต์ใช้รักษาโรคอื่น ๆ ได้ เช่น วัณโรค โรคเรื้อน กำจัดเชื้อโรคที่พบในสิว เป็นต้น (ชาร์ลส์ เวเบอร์ นักวิทยาศาสตร์จากนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา)
14. ใช้ช่วยแก้อาการเลือดออกตามไรฟัน (ยางจากต้น)
15. สามารถช่วยแก้อาการปวดฟัน และใช้กลั้วคอล้างปากได้ (เปลือกต้น)
16. ใบสดถ้านำมาเผาไฟแล้วสูดดมควันเข้าไปจะช่วยรักษาและบรรเทาอาการไอ อาการเจ็บคอได้ (ใบสด)
17. ชาวโบลีเวียเชื่อกันว่าน้ำจากผลสามารถช่วยกระตุ้นสมองทำให้มีความทรงจำที่ดีขึ้น (ผล)
18. มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคประสาทพิการ และช่วยแก้โรคปวดตามข้อได้อีกด้วย (ผล)
19. ช่วยในการลดไข้ (ผล, ใบ)
20. สามารถแก้อาเจียน และรักษาแผลในช่องปากได้ (น้ำจากผล)
21. รากมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องร่วงและเป็นยาฝาดสมาน (ราก)
22. ใช้ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง (ยอด, ใบ)
23. ในประเทศบราซิลนิยมนำผลมาทำเป็นไวน์ เพราะมีความเชื่อว่ามันสามารถช่วยรักษาโรคบิดเรื้อรังได้ (ผล)
24. มีฤทธิ์ช่วยในการขับเหงื่อ (น้ำจากผล)
25. เมล็ดสามารถนำมาคั่วโรยเกลือรับประทานเป็นยาแก้อาการบวมน้ำได้ (เมล็ดคั่ว)
26. การรับประทานเม็ด ช่วยในการย่อยอาหารได้เป็นอย่างดี (เมล็ด)
27. ใบยอดอ่อนมีสรรพคุณช่วยในการสมานแผลในลำไส้ ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และบรรเทาอาการของโรคท้องร่วงได้ (ใบ)
28. น้ำคั้นจากผลสามารถใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะได้ (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม) (น้ำคั้นจากผล, เมล็ดคั่ว)
29. เปลือกต้นนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังพุพอง และกามโรคเข้าข้อได้ (เปลือกต้น)
30. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ปวดเนื่องจากรำมะนาด (เปลือกต้น)
31. สามารถใช้เป็นยารักษาหูด โดยการใช้ยางจากผลสดที่ยังไม่สุก 1 ผล เด็ดออกมาใหม่ ๆ แล้วใช้ยางทาตรงบริเวณที่เป็นหูด ใช้ทาเป็นประจำจนกว่าจะหาย (ยางจากผลสด, ยางจากต้น)
32. มีฤทธิ์ในการช่วยทำลายตาปลา ช่วยกัดทำลายเนื้อด้านที่เป็นปุ่มโตหรือโรคเท้าแตกได้ โดยการใช้ยางจากต้นสด ๆ ทาบริเวณที่เป็นตาปลาหรือเนื้อด้านบ่อย ๆ จนกว่าจะหาย (ยางจากต้น)
33. เมล็ดนั้นใช้ผสมเป็นยารับประทาน ช่วยแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน โรคเรื้อน ทำให้หนังชา (เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)
34. การรับประทานเม็ดช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วได้ (เมล็ด)
35. มีฤทธิ์ในการช่วยบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงได้ (ใบ)
36. สามารถช่วยต้านกามโรคได้ (น้ำจากผล)
37. น้ำมันสกัดจากเมล็ดมีสรรพคุณใช้เป็นพิษต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้ โดยเฉพาะเชื้อหนองชนิด Staphylococus (การสูดดมน้ำมันชนิดนี้อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เนื่องจากมีพิษรุนแรง และควรระมัดระวังเมื่อต้องใช้กับเด็ก)
38. สามารถช่วยรักษาแผลไฟไหม้ และน้ำร้อนลวกได้ โดยการนำใบแก่มาบดใส่บริเวณที่เป็นแผล (ใบแก่)
ประโยชน์ของมะม่วงหิมพานต์
1. เม็ด มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ดีเลยทีเดียว
2. ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี
3. เม็ดสามารถรักษารูปร่างให้สมส่วนได้ เพราะมีเส้นใยอาหารที่สูง จึงช่วยลดการดูดซึมไขมันได้ดี
4. ผล มีเนื้อที่นิ่ม ฉ่ำน้ำ รสเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้สดได้ ทั้งผลดิบและผลสุก
5. ผลห่าม ทางภาคใต้ของไทยนิยมนำมาใช้ทำแกงส้มหรือใช้ยำ
6. ผลดิบ ใช้รับประทานร่วมกับเกลือเป็นของทานเล่นได้
7. ช่วยทำให้ท้องอิ่มนานขึ้นและรับประทานอาหารได้ ในปริมาณที่น้อยลงอีกด้วย (แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม)
8. เป็นผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถรับประทานได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะเนื่องจากว่าเป็นผลไม้ที่มีสารพิวรีนน้อยหรือไม่มีเลยนั่นเอง
9. เมล็ด นิยมนำมารับประทานเป็นอาหารว่าง และยังเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกของประเทศอินเดีย เวียดนาม และบราซิลอีกด้วย (90% ของการส่งออกทั่วโลกมาจากสามประเทศนี้)
10. ผลสุกสามารถนำไปหมักทำเป็นไวน์ ทำเป็นน้ำส้มสายชู หรือเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ได้
11. เมล็ดสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ยกตัวอย่างเมนูเม็ดมะม่วงหิมพานต์ก็เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอด ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แหนมผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เต้าหู้ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ขนมจีนผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น
12. ยางจากเปลือกของเมล็ด ควาญช้างในประเทศอินเดียมักจะนำมาใช้เพื่อคุมช้างให้เชื่อง
13. ยางจากลำต้นนั้น สามารถนำมาทาบ้านกันปลวกได้
14. เปลือกต้นหรือเปลือกเมล็ด นั้นมีประโยชน์ที่หลากหลายอย่างในด้านของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น สามารถนำไปทำเป็นผ้าเบรค และแผ่นคลัชได้ ซึ่งมีคุณสมบัติทนความร้อนที่เกิดจากแรงเสียดสีได้สูง หรือสามารถนำมาใช้ทำฉนวนป้องกันไฟฟ้าแมกนิเตอร์เมเตอร์ นำมาใช้ทำน้ำประสานในการบัดกรีโลหะ น้ำมันชักเงาสำหรับใช้ในเครื่องบิน สามารถใช้ผสมทำน้ำหมึก ทำหมึกประทับตราผ้า ทำเป็นลูกกลิ้งยางพิมพ์ดีด นำมาทำกาว ใช้ย้อมอวนให้ทนทาน ทำเป็นผลิตภัณฑ์ปูพื้น ใช้ในการผสมปูนซีเมนต์ทำให้เหนียวขึ้นได้ ใช้กำจัดตัวอ่อนของยุงด้วยการนำไปผสมกับพาราฟินเหลว ผลิตภัณฑ์ทาไม้ป้องกันปลวก ยาฆ่าแมลงและปลวก เป็นต้น
15. ใบอ่อน และยอดอ่อนนั้น สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือแกงเผ็ด ลาบ ก้อย ขนมจีนน้ำยาได้
16. ใบแก่นั้นสามารถนำมาขยี้และใช้สีฟันได้
17. ไม้จากลำต้นเป็นไม้ที่เนื้ออ่อนและมีขนาดเล็ก จึงเหมาะที่จะนำไปใช้ทำลังไม้ หรือหีบใส่ของ ใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในการต่อเรือ ใช้ทำเรือเอก แอกเทียม วัวเทียมควายเทียม คุมล้อเกวียน และยังสามารถนำไปทำเป็นฟืนและถ่านได้อีกด้วย
18. เยื่อหุ้มเมล็ดถ้ามีในปริมาณที่มาก อาจใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแทนนิน ที่ใช้กันในอุตสาหกรรมฟอกหนังได้
19. ประโยชน์ของเปลือกเมล็ดที่สกัดเป็นน้ำมันแล้วนั้น ในด้านทางการแพทย์สามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเหน็บชา วัณโรค โรคเท้าช้าง โรคเลือดคั่ง โรคเรื้อน โรคผิวหนัง หูด ตาปลา และส้นเท้าแตกได้
20. ผลนั้นสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น แยม ผลไม้กวน เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ ไวน์ และน้ำส้มสายชู เป็นต้น
21. เปลือกเมล็ด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านความงามได้ เช่น ใช้ลอกหน้าที่เกิดจากการตกกระ (แต่อาจจะส่งผลเสียได้) เป็นต้น
22. ผล มีกลิ่นต่าง ๆ ถึง 20 กลิ่น เพราะเหตุนี้จึงสามารถนำมาสกัดทำเป็นหัวน้ำหอมได้
23. ผลนอกจากจะใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้แล้ว ยังสามารถนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ของโค และกระบือ ได้อีกด้วย
24. เมล็ดนั้นสามารถนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น อบเกลือ คั่ว อบเนย อบน้ำผึ้ง เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของเม็ดดิบ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 553 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 30.19 กรัม |
แป้ง | 23.49 กรัม |
น้ำตาล | 5.91 กรัม |
เส้นใย | 3.3 กรัม |
ไขมัน | 43.85 กรัม |
กรดไขมันอิ่มตัว | 7.78 กรัม |
กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว | 23.8 กรัม |
กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน | 7.85 กรัม |
โปรตีน | 18.22 กรัม |
น้ำ | 5.2 กรัม |
วิตามินบี 1 | 0.42 มิลลิกรัม 37% |
วิตามินบี 2 | 0.6 มิลลิกรัม 5% |
วิตามินบี 3 | 1.06 มิลลิกรัม 7% |
วิตามินบี 5 | 0.86 มิลลิกรัม 17% |
วิตามินบี 6 | 0.42 มิลลิกรัม 32% |
วิตามินบี 9 | 25 ไมโครกรัม 6% |
วิตามินซี | 0.5 มิลลิกรัม 1% |
วิตามินอี | 0.9 มิลลิกรัม 6% |
แคลเซียม | 37 มิลลิกรัม 4% |
ธาตุเหล็ก | 6.68 มิลลิกรัม 51% |
แมกนีเซียม | 292 มิลลิกรัม 82% |
แมงกานีส | 1.655 มิลลิกรัม 79% |
ฟอสฟอรัส | 593 มิลลิกรัม 85% |
โพแทสเซียม | 660 มิลลิกรัม 14% |
โซเดียม | 12 มิลลิกรัม 1% |
สังกะสี | 5.78 มิลลิกรัม 61% |
ทองแดง | 2.195 มิลลิกรัม |
ซีลีเนียม | 19.9 มิลลิกรัม |
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
คำแนะนำในการรับประทาน
1. เม็ดมีน้ำมันมากและให้พลังงานที่สูง ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือครั้งหนึ่งไม่ควรรับประทานเกิน 10 เม็ด (แต่ถ้าอยากรู้ว่าพลังงานเยอะแค่ไหน ให้ลองใช้ไฟจุดดู จะเห็นไฟลุกเป็นเปลว และถ้ายิ่งนำไปอบหรือทอดเนยก็จะมีพลังงานที่มากขึ้นไปอีก)
2. ใช่ว่าจะมีแต่ถั่วลิสงที่มีสารอะฟลาทอกซินอย่างเดียว ในเมล็ดอาจจะมีปนเปื้อนด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรจะเลือกบริโภคเมล็ดที่สะอาด ปิดมิดชิด และไม่ได้ถูกเก็บไว้นานจนเกินไป มีเลขทะเบียน อย. ที่ถูกต้อง หรือผ่านการผลิตด้วยระบบ GMP/HACCP
3. สำหรับบางรายที่รับประทานเม็ดแล้วมีอาการแพ้เกิดขึ้น โดยมีอาการ ดังนี้ เกิดอาการบวมที่ใบหน้า และลำคอ มีผดผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียนหรือท้องเสีย ถ้ามีอาการดังกล่าวที่ว่ามาข้างต้นควรที่จะหลีกเลี่ยงการรับประทาน
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
แหล่งอ้างอิง
เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, รศ.พญ.ปรียานุช แย้มวงษ์ (มหาวิทยาลัยมหิดล), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เว็บไซต์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, www.cashewthai.com
อ้างอิงรูปจาก
1. https://tirolplantas.com/product/caju-130m-a-160m-pote/
2. https://picclick.fr/