แคหางค่าง ช่วยรักษาแผล บำรุงเลือด ขับเสมหะ แก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ

แคหางค่าง ช่วยรักษาแผล บำรุงเลือด ขับเสมหะ แก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ
แคหางค่าง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ดอกมีขนาดใหญ่สีเหลืองอ่อน ฝักเส้นยาวโค้งงอและบิดเป็นเกลียวมีขนสีน้ำตาลแดง
แคนา ช่วยในการขับถ่าย แก้โรคชัก แถมรสชาติเลิศเลอเมื่อจิ้มกับน้ำพริก
แคนา เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ดอกแคนามีสีขาวและมีรสขม ฝักโค้งและบิดเป็นเกลียว

แคหางค่าง

แคหางค่าง (Fernandoa adenophylla) เป็นไม้ยืนต้นที่พบได้ทั่วไป มักจะนิยมนำมารับประทานด้วยการจิ้มกับน้ำพริก เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยคุ้นเคย มักจะปีนขึ้นไปเด็ดดอกแคหางค่างแล้วนำมาปรุงรส เป็นดอกที่สามารถรับประทานได้ง่าย มีรสขมเล็กน้อยและนำเนื้อไม้จากต้นมาใช้ประโยชน์ในการทำสิ่งก่อสร้างได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของแคหางค่าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fernandoa adenophylla (Wall. ex G.Don) Steenis
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “แคหางค่าง” ภาคเหนือเรียกว่า “แคขน” จังหวัดเลยเรียกว่า “แคบิด แคร้าว แคลาว” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “แฮงป่า” จังหวัดสุราษฎ์ธานีเรียกว่า “แคพอง” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “แคหัวหมู” ม้งเรียกว่า “ปั้งอะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)

ลักษณะของแคหางค่าง

แคหางค่าง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยจะพบได้มากตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าหญ้าทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้
เปลือกต้น : เป็นสีเทาค่อนข้างเรียบ เปลือกด้านในเป็นสีขาว ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลและมีช่องระบายอากาศอยู่ทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นคดงอ มีเรือนยอดไม่เป็นระเบียบ เอนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ
ใบ : ออกใบเป็นช่อ ช่อจะออกตรงข้ามกันหรือออกเยื้องกัน ในแต่ละช่อจะประกอบไปด้วยใบย่อยที่มีลักษณะและขนาดแตกต่างกันออกไป ปลายใบมนและเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ ส่วนโคนใบมนหรือยักเว้าเล็กน้อยและมักจะเบี้ยว แผ่นใบหนา หลังใบเกลี้ยงหรืออาจมีขนเล็กน้อย ท้องใบมีขนสาก เส้นแขนงของใบค่อนข้างเหยียดตรง
ดอก : ดอกมีขนาดใหญ่สีเหลืองอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อใหญ่บริเวณปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะตั้งชี้ขึ้น โคนกลีบรองกลีบดอกจะติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก และมีขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่น ส่วนกลีบฐานดอกจะติดเป็นจุกผล กลีบของดอกเป็นรูปแตรงอน มีขนสีน้ำตาลขึ้นอยู่หนาแน่นทางด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง หลอดกลีบดอกในช่วงล่างเป็นหลอดแคบ ส่วนช่วงบนจะขยายใหญ่กว้างจนถึงปากหลอด ออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนกันยายน
ฝัก : มีลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอกโต โค้งงอและบิดเป็นเกลียว ฝักจะมีสันเป็นเส้นยาวตามฝัก 5 สัน และมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นอยู่ทั่วไป เมื่อแก่จะแตกตามรอยประสาน
เมล็ด : ในฝักมีเมล็ดลักษณะแบนและมีเยื่อบาง ๆ ตามขอบคล้ายกับปีก

สรรพคุณของแคหางค่าง

  • สรรพคุณจากเมล็ด บำรุงโลหิต ขับเสมหะ
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น
    – แก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มแล้วดื่ม
    – บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มแล้วอาบ
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยรักษาแผลสด แผลถลอก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยห้ามเลือด แก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน และหูด ด้วยการนำใบมาพอก

ประโยชน์ของแคหางค่าง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกและฝักอ่อนสามารถนำมาใช้เป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริกได้แต่ต้องทำให้สุกก่อน
2. ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำสิ่งก่อสร้าง ทำเสาต่าง ๆ ทำด้ามเครื่องมือหรือด้ามปืนได้

แคหางค่าง ดอกยอดนิยมของตระกูลแคในการนำมารับประทานหรือเป็นส่วนประกอบในอาหาร มีรสขมเล็กน้อยแต่ต้องนำมาลวกต้มหรือทำให้สุกก่อนรับประทาน มีดอกขนาดใหญ่และโดดเด่นอยู่บนต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยรักษาแผล บำรุงเลือด ขับเสมหะและแก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ เป็นผักพื้นบ้านที่ช่วยแก้อาการพื้นฐานต่าง ๆ ได้ดี

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แคบิด”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [27 ธ.ค. 2013].
สารสนเทศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “แคหางค่าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th. [27 ธ.ค. 2013].
รายชื่อพรรณไม้ (ป่า) ในประเทศไทย ฐานข้อมูลเพื่อการวิจัยด้านป่าไม้ หน่วยวิจัยภัยพิบัติด้านทรัพยากรธรรมชาติ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “แคหางค่าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.frcdb.forest.ku.ac.th. [27 ธ.ค. 2013].
พรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต. “แคหางค่าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: rspg.dusit.ac.th. [27 ธ.ค. 2013].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “แคหางค่าง, แคบิด”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [27 ธ.ค. 2013].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “แคหางค่าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.org/newslet/9_5.pdf. [27 ธ.ค. 2013].
MyFirstBrain. “แคหางค่าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.myfirstbrain.com. [27 ธ.ค. 2013].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “แคบิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [27 ธ.ค. 2013].